"เอกนัฏ" ต่อยอดหัตถกรรม-อุตสาหกรรมท้องถิ่นใต้ ยกระดับขึ้นแท่น "Soft Power"

14 ต.ค. 2567 | 12:46 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ต.ค. 2567 | 12:46 น.

"เอกนัฏ" ต่อยอดหัตถกรรม-อุตสาหกรรมท้องถิ่นใต้ ยกระดับขึ้นแท่น "Soft Power" สั่ง ธพว. ร่วมมือกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ SMEs 

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี SMEs พื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ โดยมุ่งทำให้อุตสาหกรรมท้องถิ่นเติบโต  

รวมถึงต่อยอดผลิตภัณฑ์ และพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค ยกระดับให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) มุ่งเน้นด้านอาหารและหัตถกรรม โดยมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับการปฏิรูปอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญSave อุตสาหกรรมไทย เพื่อส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมท้องถิ่นและต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน 
 

อีกทั้งยังสั่งการให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยร่วมกับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐที่สนับสนุนให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ SMEs 

"เอกนัฏ" ต่อยอดหัตถกรรม-อุตสาหกรรมท้องถิ่นใต้ ยกระดับขึ้นแท่น "Soft Power"

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขผ่อนปรน ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น สินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ (เสือติดปีก) และ สินเชื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ (คงกระพัน) วงเงินกู้รวม 1,900 ล้านบาท เพื่อให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนและพัฒนาธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี ล่าสุดได้มีโอกาสศึกษาดูงานที่กวนนิโตพาทิสเซอรี (KUANITO Patisserie) ในจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นตัวอย่างของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการผสมผสานวัตถุดิบท้องถิ่นกับเทคนิคการทำขนมแบบฝรั่งเศส โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ผ่านโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก ให้สามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและดึงดูดลูกค้าจากทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำวัฒนธรรมและวัตถุดิบท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และสามารถแข่งขันในตลาดระดับสากลได้ 
 

นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาดูงานโรงงานแปรรูปไก่ของ บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ในจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นบริษัทอาหารชั้นนำระดับสากล มีการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แช่แข็งไปยังหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป และมีการใช้แนวคิดตามหลัก ESG (Environment Social and Governance) ที่ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยวางหลักการทำงานว่าธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ต้องพัฒนาชุมชนและสังคมให้เติบโตไปพร้อมกัน เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals: SDGs)  

นายเอกนัฏ กล่าวอีกว่า การสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เสริมสภาพคล่องทางธุรกิจให้สามารถต่อยอดธุรกิจและสามารถแข่งขันได้ ถือเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับภูมิภาคโดยการนำเอกลักษณ์ท้องถิ่นไปสู่ระดับสากล เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชนสู่เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน