ไทยเบฟ เปิดผลประกอบการ 9 เดือนแรก 67 โกยรายได้ 2.17 แสนล้าน

01 ต.ค. 2567 | 16:20 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2567 | 16:25 น.

เข้าสู่โค้งสุดท้ายปี 67 ยักษ์ใหญ่อย่าง “ไทยเบฟ” เผยผลประกอบการ 9 เดือนแรก โกย รายได้ 217,055 ล้านบาท เติบโต 0.5% ในภาพรวม กลุ่มสุราแผ่ว เบียร์สดใส พร้อมกางแผนลงทุนเพิ่มปี 68 รวม 18,000 ล้านบาท

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) แถลงผลประกอบการ 9 เดือนแรกของธุรกิจ ปี 67 โกย รายได้ 217,055 ล้านบาท เติบโต 0.5% ในภาพรวม พร้อมกางแผนลงทุนเพิ่มปี 68 รวม 18,000 ล้านบาท ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ

ไทยเบฟ เปิดผลประกอบการ 9 เดือนแรก 67 โกยรายได้ 2.17 แสนล้าน

“โดยกลุ่มไทยเบฟทำให้เรามีผลการดำเนินงานดีในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เช่นเดียวกับในช่วงห้าปีที่ผ่านมา และในวันนี้เรากำลังมองไปข้างหน้า โดยนำจุดแข็งทางการแข่งขันและขีดความสามารถหลักของเรามาเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตและสร้างมูลค่าให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

เปิดผลประกอบการ “ไทยเบฟ” 9 เดือนแรก 67

กลุ่มสุรา

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ธุรกิจสุรามีรายได้จากการขาย 92,788 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.9 จากปีที่แล้ว และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลงร้อยละ 1.3 สาเหตุหลักมาจากปริมาณขายรวมที่ลดลงร้อยละ 2.7 เนื่องจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี การชะลอตัวในประเทศไทยถูกชดเชยได้บางส่วนจากธุรกิจในประเทศเมียนมาที่ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากปีก่อน ทั้งรายได้จากการขายและกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA)

กลุ่มธุรกิจเบียร์

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ของธุรกิจเบียร์เติบโตอย่างน่าพอใจที่ร้อยละ 10.2 ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เป็น 93,793 ล้านบาท อันเป็นผลจากการลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง และการผลิตมีที่ประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ปริมาณขายรวมจะลดลงร้อยละ 2.9 ก็ตาม

ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของกลุ่มมีรายได้จากการขาย 15,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามปริมาณขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 โดยมีปัจจัยหลักมาจากกิจกรรมส่งเสริมตราสินค้าที่ประสบความสำเร็จ ประกอบกับการขยายการกระจายสินค้าให้กว้างขวาง โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) 1,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้นและต้นทุนบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง แม้จะมีการลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาดเพิ่มขึ้นก็ตาม.