เร่งแก้หนี้เกษตรกร 1.3 แสนล้าน ใน 3 เดือน

15 ส.ค. 2567 | 12:49 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2567 | 12:49 น.

"สุรชัย เบ้าจรรยา" ประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูฯ โชว์วิสัยทัศน์ เร่งแก้หนี้เกษตรกร 1.3 แสนล้าน ใน 3 เดือน ดันเงินดิจิทัลซื้อสินค้าซอฟต์ พาวเวอร์

วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมานายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และในฐานะประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ได้มอบนโยบายและสั่งการเพื่อแก้ไขปัญหาในการดำเนินงาน แก่คณะกรรมการบริหารฯ กรรมการจัดการหนี้ฯ และผู้บริหารสำนักงาน กฟก. ทั้งนี้เพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหาหนี้ของเกษตรกรสมาชิก และปัญหาการปฏิบัติงานของบุคลากรเพื่อให้กลไกการบริหารงานทุกภาคส่วน ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และให้เกิดผลถึงเกษตรกรภายใน 3 เดือน “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายสุรชัย เบ้าจรรยา ประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ถึงแผนการบริหารจัดการหนี้เกษตรกรตามนโยบาย

 

นายสุรชัย เบ้าจรรยา

ยันไม่เรียกเก็บเงินจากเกษตรกร

นายสุรชัย กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่ได้ประมาณ 5 เดือนเศษ ได้รับข้อมูลเรื่องมีกลุ่มบุคคลแอบอ้างกองทุนฟื้นฟูฯ ในการเรียกรับผลประโยชน์ทั้งเรื่องการเขียนแผนโครงการ และเรื่องการจัดการหนี้ ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการจัดการหนี้ มีความกังวลและห่วงใยเกษตรกรทุกภาคทุกจังหวัด จึงขอให้ทุกสาขาจังหวัดกระจายข่าวให้เกษตรกรทุกพื้นที่ได้รับทราบว่า กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่มีนโยบายเรียกเก็บเงินจากเกษตรกร หากใครที่มีปัญหาเดือดร้อนให้ติดต่อกองทุนฟื้นฟูฯ สาขาจังหวัดโดยตรง

 

 “ฝากทุกสาขาให้เร่งอธิบาย ทำสื่อประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางให้เข้าถึงเกษตรกร ในส่วนของฝ่ายบริหารได้เตรียมพร้อมในการของบประมาณจากรัฐบาลสำหรับการบริหารงานทุกด้าน เกษตรกรจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ตกเป็นเหยื่อของนายหน้าค้าความจน ขณะที่พนักงานเจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องมีสวัสดิการในการทำงาน เรื่องใดที่จะช่วยให้การทำงานราบรื่น ฝ่ายบริหารยินดีให้ความช่วยเหลือในทุกด้าน จึงขอให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานทุกที่ให้ความทุ่มเทเสียสละทำงานเพื่อเกษตรกร”

 

ขณะเดียวกันสิ่งสำคัญคือต้องดึงเอาจุดเด่นของเกษตรกรออกมานำเสนอให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้ผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกที่มีความโดดเด่นสามารถผลักดันให้เป็นสินค้าซอฟต์ พาวเวอร์ได้ ขณะที่การแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรมีความคืบหน้าไปมาก มีการตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สิน มีการกำหนดแนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้ของรัฐบาล ปัญหาที่จำเป็นต้องสะสางจะเร่งดำเนินงานให้เร็ว และต้องทำงานเชิงรุก เน้นการเข้าถึง คิดใหม่ ทำใหม่ คิดใหญ่ ทำเป็น ตามที่ได้มอบนโยบายไว้กับคณะผู้บริหารของกองทุนฟื้นฟูฯคือ “เกษตรกรต้องอยู่ดีกินดี ไม่มีปัญหาหนี้สิน”

 

อัปเดททะเบียนหนี้เกษตรกร

 

แก้หนี้ 1.3 แสนล.ต้องสมัครสมาชิก

นายสุรชัย กล่าวว่า การที่จะให้สำนักงานจัดการหนี้ เกษตรกรจะต้องมาสมัครสมาชิกและขึ้นทะเบียนหนี้ และต้องมีตัวตนจริง โดยใช้สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน มีหลักทรัพย์ที่มีการกู้ยืมเงินจากธนาคารหรือสหกรณ์มาแสดง ซึ่งต้องมีการตรวจสอบ เพราะปัจจุบันมีบัตรผีโผล่มาเยอะมาก ถึงได้พยายามเน้นให้แต่ละจังหวัดให้มีความรอบคอบ ปัจจุบันกองทุนฯมีเกษตรกรสมาชิก 6.8 ล้านราย มาขึ้นทะเบียนหนี้ 518,270 ราย 889,423 สัญญา จำนวนเงิน 1.37 แสนล้านบาท (กราฟิกประกอบ) ซึ่งการจัดการหนี้ต้องมีความโปร่งใส ชัดเจน เป็นธรรม

 

“ยืนยันว่าไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์ โดยกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการจัดการหนี้แล้ว ภายใต้แผนปฏิบัติการและกรอบงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติไว้ เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด มีข้อมูลเป้าหมายที่ชัดเจน และให้เร่งแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอแนะของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และรายงานผลให้ทราบโดยเร็ว”

ทั้งนี้หลังจากที่มีการแก้ไขปัญหาหนี้แล้ว ทางสำนักงานจะได้เดินหน้าฟื้นฟู ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรใน 3 อาชีพ ได้แก่ ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ และด้านพืช โดยด้านการประมง มี 3 กลยุทธ์ ได้แก่ พัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน, พัฒนาชาวประมงให้มีศักยภาพ มีความรู้มีทักษะ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม, ส่งเสริมการแปรรูปและตลาดผลิตภัณฑ์ประมงเพิ่มมูลค่าสินค้าประมง

 

เกษตรกรขึ้นทะเบียนหนี้

ด้านปศุสัตว์ มี 3 กลยุทธ์ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพและการพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงโคเนื้อ, การพัฒนาตลาดภายในประเทศ ตลาดต่างประเทศและเพื่อการแปรรูป, การส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารกลุ่ม องค์กร สถาบันเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ

ด้านพืช มี 3 กลยุทธ์ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาศักยภาพการผลิต การพัฒนา/คัดเลือกสายพันธุ์ (พันธุ์พืช)ที่มีความเหมาะสม , การพัฒนาตลาดภายในประเทศ ตลาดต่างประเทศ และพัฒนาระบบการรวบรวม การคัดเกรด การแปรรูปผลผลิตของเกษตรกรเป็นต้น โดยทั้ง 3 คณะให้ขับเคลื่อนให้เป็นไปตามกรอบแผนงาน

 

เร่งแก้หนี้เกษตรกร 1.3 แสนล้าน ใน 3 เดือน

ของบกลาง 5 พันล.แก้หนี้เร่งด่วน

อย่างไรก็ดีขณะนี้ทางกองทุนฯยังมีปัญหาในเรื่องงบประมาณ ต้องให้รองนายกฯ ของบกลาง ประมาณ 5,000 ล้านบาท นอกเหนือจากงบฯปกติกว่า 1,000 ล้านบาท โดยจะซื้อหนี้ให้เกษตรกรที่มีความพร้อม บัญชีไม่ซํ้าซ้อนกัน ประมาณ 15,000 ราย ซึ่งได้มีการคัดกรองจากคณะทำงานแล้ว ขณะเดียวกันการทำงานของกองทุนฟื้นฟูฯ ต้องให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เช่น นโยบายดิจิตัลวอลเล็ต กองทุนฟื้นฟูฯสนับสนุนเกษตรกรนำไปใช้ในการซื้อสินค้าพืช หรือสัตว์ เพื่อเป็นการเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากสะพัดมีเงินหมุนเวียน เป็นต้น

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,018 วันที่ 15-17 สิงหาคม พ.ศ. 2567