จากกรณีที่เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2567 องค์กรภาคเอกชนที่ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เรื่อง คัดด้านการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา, หอการค้าจังหวัดสงขลา, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา, สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจังหวัดสงขลา, สมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดสงขลา, สมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา, และสมาคม SMEs จังหวัดสงขลา นั้น
นายทรงพล จังศิริวัฒนธำรง ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” เกี่ยวกับการแสดงจุดยืนของภาคเอกชนในครั้งนี้ว่า ภายหลังหอการค้าไทย ทำหนังสือคัดค้านการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท/วันแบบถ้วนหน้า แต่ภาครัฐยังเดินหน้าเตรียมหารือแนวทางที่ผลักดันขึ้นค่าจ้างต่อ รวมทั้งการประชุมช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา มีข้อสรุปให้แต่ละจังหวัดไปฟังความเห็นอนุกรรมการไตรภาคีหรือภาคเอกชนต่างๆแล้วนั้น
ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในส่วนภาคเอกชนสงขลาและหลายจังหวัดคิดว่าจะมีแนวทางหารือกัน เพราะถ้าผลักดันค่าจ้างขึ้น 400บาท ด้วยหลักเกณฑ์ตามนโยบายรัฐบาลแบบนี้จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เพราะภาคเอกชนสงขลา เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงตามกรอบกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการไตรภาคี แต่ต้องรับฟังคณะกรรมการไตรภาคีจังหวัดด้วย ปกติจะมีการประชุมโดยมีตัวแทนจากนายจ้าง ลูกจ้าง และแรงงานจังหวัด เพราะแต่ละจังหวัดการปรับขึ้นค่าจ้างไม่เหมือนกัน ต้องพิจารณาพื้นฐาน ผลิตภัณฑ์จังหวัด (GPP) อัตราการเติบโต สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ของแต่ละจังหวัดด้วย
การปรับค่าจ้างขึ้นมา 400 บาททั่วประเทศ เป็นการปรับฐานครั้งใหญ่ ทำให้ภาคเอกชนกังวลเกี่ยวกับธุรกิจรายเล็ก รายน้อย จะปรับตัวไม่ได้ สุดท้ายจะนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงาน เป็นปัจจัยที่อันตรายมาก ถ้าเทียบค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดสงขลา ถูกประกาศช่วงต้นปี2567นี้ เป็น 345 บาท ถ้าจะขยับฐานขึ้นไป 400 บาท หมายถึงขึ้นมาอีก 55 บาท เทียบเท่า 16 % ซึ่ง 16 % ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายโดยตรงที่เกิดขึ้นกับทุกธุรกิจที่ต้องมีแรงงาน ทางผู้ประกอบการจะแบกรับภาระต้นทุนนี้ได้อย่างไร ในเมื่อต้องจ่ายค่าแรงเพิ่ม แต่ไม่มีผลิตภาพ หรือผลิตผลใดๆให้กับภาคธุรกิจ
สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ธุรกิจที่แบกรับต้นทุนค่าจ้างที่สูงขึ้นไม่ได้ ก็จะส่งผ่านต้นทุนนี้ไปยังผู้บริโภค เมื่อค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อตามมา อาหารของใช้ทุกอย่างจะปรับราคาขึ้นก่อนประกาศขึ้นค่าจ้าง 1 ต.ค. นี้ จึงขอให้รัฐบาลคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานของแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่าง อย่างมีนัยสำคัญ ไม่เพิ่มต้นทุนผู้ประกอบการแบบไม่เหมาะสม เพราะผู้ประกอบการที่ปรับตัวไม่ได้ จะกระทบต่อการจ้างงานแน่นอน
นายทรงพล กล่าวว่าหลังภาคเอกชนยื่นหนังสือแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับแนวทางขึ้นค่าจ้างแล้ว ทางแรงงานจังหวัดพยายามติดตามความเห็นของภาคเอกชน คาดว่าจะมีเวทีระดมความเห็นในระดับจังหวัดอีกครั้ง ถ้าสุดท้ายรัฐบาลยังผลักดันมาในเชิงนโยบาย แล้วทุกหน่วยงานต้องทำตาม ก็ต้องมาดูว่าหลังจากนั้นประเทศจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ภาคเอกชนจะทำได้คือสะท้อนข้อเท็จจริงที่ภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา ส่วนใน 14 จังหวัดภาคใต้ก็ไม่ต่างกัน บางพื้นที่ขึ้นค่าจ้าง 400 บาท กระทบหนักมาก เพราะความสามารถในการแข่งขันของแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน
“ ถ้าไม่แสดงจุดยืนเท่ากับภาคเอกชนรับไปโดยปริยายสุดท้ายเอกชนจะอยู่ได้หรือไม่ได้ ก็คือตัวพวกเราเอง เพราะรัฐบาลไม่ได้จ่ายค่าแรงให้ เราจึงต้องผลักดันในสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริง เอกชนไม่ได้คัดค้านขึ้นค่าจ้าง แต่ให้ขึ้นสมเหตุสมผลกว่านี้ เพราะสุดท้ายก็ต้องมีการปิดตัวเพิ่มขึ้น และจะมีผลกระทบที่จะตามมาอีกหลายมิติ”
นายกร สุริยพันธุ์ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทางสมาพันธ์ฯไม่ไม่ขัดข้อง แต่ขอให้ปรับตามกลไกที่ควรจะเป็น ไม่ใช่อัตราเท่ากันทั่วประเทศ เพราะถ้าเท่ากันทั่วประเทศต้องยอมรับว่า สินค้าสินค้าอุปโภคบริโภค แม้ราคาจะเท่ากัน แต่ค่าขนส่งไม่เท่ากัน กระทบต้นทุนผู้ประกอบการ SME และผู้ประกอบการทั่วไปแน่นอน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่เป็นไมโคร และขนาดเอสจะได้รับผลกระทบก่อน เพราะสกิลของแรงงานไม่ได้เป็นสกิลที่ซับซ้อน ทำให้แบกต้นทุนสูงขึ้น แต่ราคาขายตัวสินค้าไม่ได้ปรับขึ้นตาม ถ้าค่าจ้างขั้นต่ำถูกปรับขึ้นมาอีก จึงห่วงจะกระทบเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า
ส่วนที่มีศักยภาพพยายามปรับตัว ส่วนขนาดเอ็ม และเอล สามารถนำเครื่องจักรมาทดแทนได้ แต่สุดท้าย ผู้ประกอบการ SME ทั้งหมดต้องได้รับผลกระทบ พอราคาต้นทุนเพิ่มขึ้นสินค้าเพิ่มขึ้น ก็แข่งขันกันยาก เพราะสินค้าทุกประเภทกันด้วยต้นทุน
หน่วยงานภาครัฐที่จะผลักดันอยากให้แรงงานมีรายได้มากขึ้น แต่ต้องมองภาพรวมด้วยเพราะต้องฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ แรงงานขั้นต่ำมองว่าส่วนมากจะเอื้อให้แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยหรือไม่ โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว ถ้าค่าจ้าง 400บาท แต่มีสกิลเพิ่มขึ้นจากแรงงานปกติ ตรงนี้เห็นด้วย
ยกตัวอย่างธุรกิจตนเองทำเรื่องยาสีฟัน วันนี้จ้างแรงงาน 300 บาท/วัน จ้างพนักงาน ปิดฝายาสีฟันได้ 100 ชิ้น ปีหน้าค่าจ้างขึ้นวันละ 400 บาท พนักงานยังปิดฝายาสีฟันได้วันละ 100 ชิ้นเท่าเดิม ความสามารถในการผลิตไม่เพิ่มขึ้น เมื่อไปเทียบกับตลาดอื่น เช่นร้านอาหาร ก็ไม่มีการอัพสกิล แต่ต้องแบกต้นเพิ่ม ราคาขายสินค้าก็เพิ่มไม่ได้ เพราะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่เพิ่ม แต่เราไปเพิ่มก็ขายไม่ได้อีก
การที่รัฐบาลประกาศจะขึ้นค่าจ้างในเดือน ต.ค.นี้ แต่ผู้ประกอบการไม่พร้อม น่าจะชะลอไว้ก่อนได้ เพราะปีนี้ก็ต้องปรับอีก มองว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ จากที่ได้สอบถามแรงงานจริงๆได้รับคำตอบว่า บางครั้งเขาไม่ต้องการค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เพราะต้องซื้อของแพงขึ้น เป็นเงาตามตัว ถ้าจะขึ้นค่าจ้าง ปัจจัยพื้นฐาน ทั้งไฟฟ้าและพลังงานควรจะลดลงด้วย เพื่อให้สมดุลกัน