ค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท แต่ละจังหวัดต้องปรับขึ้นเท่าไหร่ ถึงได้ตามเป้าหมาย

15 พ.ค. 2567 | 19:05 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2567 | 19:11 น.
2.5 k

เช็ครายละเอียดข้อมูลการปรับ “ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ” วันละ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศตามนโยบายของรัฐบาล หากต้องการทำให้ได้ตามเป้าหมาย แต่ละจังหวัดต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่าไหร่

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศตามนโยบายของรัฐบาล มีความชัดเจนแล้วว่า กระทรวงแรงงาน โดย สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง ได้กำหนดเป้าหมายการจัดทำรายละเอียดของ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เสนอคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อทบทวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 อีกครั้งเป็นรอบที่สาม ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ ภายในเดือนกันยายน - ตุลาคม 2567 นี้ตามเป้าหมาย 

ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ที่มีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา มีมติให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเป็นผู้พิจารณาว่าแต่ละจังหวัดจะมีการขึ้นค่าจ้างในอัตราเท่าไหร่ และให้กำหนดวันที่จะบังคับใช้ด้วยว่าควรบังคับใช้ 1 ตุลาคม 2567 หรือ 1 มกราคม 2568 

โดยการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต้องทำภายใต้กรอบแนวคิดในเรื่องของค่าครองชีพของจังหวัดนั้น ๆ สภาพเศรษฐกิจ สภาพเงินเฟ้อ และที่สำคัญที่ต้องมอง คือ ราคาสินค้าในท้องตลาดของจังหวัดต่าง ๆ ด้วย เนื่องจากบริบทของแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน

เบื้องต้นน่าจะมีข้อสรุปภายใน 2 เดือน หลังจากในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการนำร่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ไปแล้วครอบคลุมกลุ่มธุรกิจโรงแรมในพื้นที่นำร่องของ 10 จังหวัด 

 

ค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท แต่ละจังหวัดต้องปรับขึ้นเท่าไหร่ ถึงได้ตามเป้าหมาย

 

ทั้งนี้หากพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือค่าจ้างขั้นต่ำ ล่าสุดของแต่ละจังหวัดนั้น จะพบข้อมูลว่า แต่ละจังหวัดได้รับค่าแรงขั้นต่ำไม่เหมือนกัน และหากจะปรับขึ้นให้ได้ตามนโยบายรัฐบาลวันละ 400 บาทนั้น แต่ละจังหวัดต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นในอัตราต่าง ๆ ดังนี้

  • อัตรา 370 บาท ต้องปรับขึ้น 30 บาท จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต
  • อัตรา 363 บาท ต้องปรับขึ้น 37 บาท จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กทม., นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร
  • อัตรา 361 บาท  ต้องปรับขึ้น 39 บาท จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี, ระยอง
  • อัตรา 352 บาท ต้องปรับขึ้น 48 บาท จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา
  • อัตรา 351 บาท ต้องปรับขึ้น 49 บาท จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม
  •  อัตรา 350 บาท ต้องปรับขึ้น 50 บาท จำนวน 6 จังหวัด พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี,ฉะเชิงเทรา, ปราจีนบุรี, ขอนแก่น, เชียงใหม่
  • อัตรา 349 บาท ต้องปรับขึ้น 51 บาท จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี
  • อัตรา 348 บาท ต้องปรับขึ้น 52 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี, นครนายก, หนองคาย
  • อัตรา 347 บาท ต้องปรับขึ้น 53 บาท จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ กระบี่, ตราด
  • อัตรา 345 บาท  ต้องปรับขึ้น 55 บาท จำนวน 15 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี, สงขลา, พังงา, จันทบุรี, สระแก้ว, นครพนม, มุกดาหาร, สกลนคร, บุรีรัมย์, อุบลราชธานี, เชียงราย, ตาก, พิษณุโลก
  • อัตรา 344 บาท ต้องปรับขึ้น 56 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี, ชุมพร, สุรินทร์
  • อัตรา 343 บาท ต้องปรับขึ้น 57 บาท จำนวน 3 จังหวัด ยโสธร, ลำพูน, นครสวรรค์
  • อัตรา 342 บาท ต้องปรับขึ้น 58 บาท จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช, บึงกาฬ, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด, เพชรบูรณ์
  • อัตรา 341 บาท ต้องปรับขึ้น 59 บาท จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท, สิงห์บุรี, พัทลุง, ชัยภูมิ, อ่างทอง
  • อัตรา 340 บาท ต้องปรับขึ้น 60 บาท จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่ ระนอง, สตูล, เลย, หนองบัวลำภู, อุดรธานี, มหาสารคาม, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, สุโขทัย, อุตรดิตถ์, กำแพงเพชร, พิจิตร, อุทัยธานี, ราชบุรี
  • อัตรา 338 บาท ต้องปรับขึ้น 62 บาท จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ ตรัง, น่าน, พะเยา, แพร่
  • อัตรา 330 บาท ต้องปรับขึ้น 70 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา

อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ ยังคงต้องรอติดตามกันต่อไปด้วยว่า เป้าหมายที่กำหนดเอาไว้นั้น จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แม้ว่าธงของรัฐบาลจะปักเอาไว้อย่างชัดเจนว่า "ขึ้นแน่" เพื่อเป็นข่าวดีสำหรับบรรดาลูกจ้างแรงงาน

แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ต้องดูผลกระทบต่อนายจ้างด้วย แถมสุดท้ายก็ยังต้องฝ่าด่านหิน นั่นคือ การประชุมคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งจะเป็นผู้ชี้ขาดในอีกไม่นานนับจากนี้