ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเม.ย ลดลงต่อเนื่อง หวั่นขึ้นค่าแรง - ศก.ฟื้นช้า

15 พ.ค. 2567 | 16:07 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2567 | 17:04 น.

ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เม.ย. 67 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9 เดือน หวั่นเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพสูง  ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2567 ปรับตัวลดลงจากระดับ 63.0 เป็น 62.1 ปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9  เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมากังวลว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อบานปลาย

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 56.0 58.9 และ 71.5 ตามลำดับ ปรับตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9 เดือน ทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมีนาคม ที่อยู่ในระดับ 56.9 59.8 และ 72.2 ตามลำดับ การที่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ ที่ระดับ 100 แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนเมษายน 2567 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ระดับที่ 53.3 ในเดือนเมษายน 2567 เพิ่มขึ้นจาก 53.1 ในเดือนมีนาคม โดยเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในอนาคตปรับตัวลดลง 0.1 จากระดับที่ 57.3 มาอยู่ระดับที่ 57.2 แสดงว่า ผู้ประกอบการยังอยู่ในสถานการณ์เชื่อมั่นปกติ แต่เริ่มมีสัญญาณถึงความไม่มั่นใจในอนาคต

แต่อย่างไรก็ตามทุกดัชนีมีอัตราการเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาในทุกรายการประมาณ 0.1 และมีเพียงดัชนีการท่องเที่ยวที่ยังไม่เกินระดับที่ 50 เพราะแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเข้ามามาก แต่ยังไม่เท่ากับสภาวะปกติ อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเม.ย ลดลงต่อเนื่อง หวั่นขึ้นค่าแรง - ศก.ฟื้นช้า นายธนวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางมหาวิทยาลัยคาดว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2567 มีโอกาสจะขยายตัวถึง 2.6-3.0% จากประชาชนยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย แต่หากนโยบายเงินดิจิทัลวอลเลต ออกมาในไตรมาส 4 บวกกับการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมจะทำให้มีเงินอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจประมาณ 100,000 ล้านบาท

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเม.ย ลดลงต่อเนื่อง หวั่นขึ้นค่าแรง - ศก.ฟื้นช้า

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนได้มีการเสนอแนวทางดำเนินการในการแก้ไขปัญหาดังนี้

  • แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องของการบริหารจัดการน้ำให้มีใช้เพียงพอกับภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน
  • หาแนวทางการแก้ไขหรือมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ หากมีการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นค่าขึ้นตามประกาศรัฐบาล
  • มาตรการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งแนวทางการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มีการจับจ่ายซื้อของเพื่อเพิ่มกำลังซื้อในพื้นที่
  • การดูแล และรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และการค้าการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ