“สุริยะ” ยืนกรานปม "สายสีส้ม" ดีเอสไอ-ป.ป.ช. สอบ ไม่กระทบร่างสัญญา

21 มิ.ย. 2567 | 06:00 น.

“สุริยะ” ยัน รฟม.ส่งร่างสัญญา “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ฟากคมนาคมเตรียมตรวจร่างสัญญาฯ ก่อนชงครม.ไฟเขียวเร็วๆนี้ มั่นใจคดีฟ้องร้องดีเอสไอ-ป.ป.ช.สั่งสอบ ไม่กระทบแผนลงนามสัญญา BEM

KEY

POINTS

  • “สุริยะ” ยัน รฟม.ส่งร่างสัญญา “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท
  • ฟากคมนาคมเตรียมตรวจร่างสัญญาฯ ก่อนชงครม.ไฟเขียวเร็วๆนี้
  •  มั่นใจคดีฟ้องร้องดีเอสไอ-ป.ป.ช.สั่งสอบ ไม่กระทบแผนลงนามสัญญา BEM   

ปัจจุบัน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ได้ข้อสรุปแล้ว หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้องคดีปมกีดกันด้านการแข่งขัน ส่งผลให้กระทรวงคมนาคม-รฟม.เร่งเครื่อง เพื่อเดินหน้าลงนามสัญญาร่วมผู้ชนะการประมูลทันที

 

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ภายหลังศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในคดีที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ฟ้องว่ารฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีร่วมกันออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลว. 24 พ.ค.2565 และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน ก.ค. 2563 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น

 

นายสุริยะ  กล่าวต่อว่า ปัจจุบันรฟม.ได้ส่งร่างลงนามสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมาที่กระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งร่างดังกล่าวอยู่ที่ปลัดกระทรวงคมนาคม หลังจากนี้ตามกระบวนการจะตรวจร่างสัญญาฯ ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาลงนามร่างสัญญากับผู้ชนะการประมูลต่อไป คาดว่าใช้เวลาดำเนินการไม่นาน 
 

“ประเด็นที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มยังติดปัญหา 1 คดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คือ คดีที่บีทีเอสซีฟ้องผู้ว่ารฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 ในกรณีที่แก้ไขเอกสารการประกวดราคาและยกเลิกการคัดเลือกเอกชน ถือเป็นการทุจริตและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ยืนยันว่าคดีนี้ไม่เกี่ยวกับการลงนามร่างสัญญาฯ เนื่องจากคดีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการประมูลโครงการฯรอบก่อน หากในกรณีที่ประชุมครม.มีการคัดค้านการลงนามสัญญาโครงการฯ มองว่าเขามีสิทธิคัดค้านได้ เพราะที่ประชุมครม.จะมีการพิจารณาก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่”

 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ในประเด็นที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงคมนาคมและผู้ว่าการ รฟม. โดยขอให้ทั้ง 2 หน่วยงาน ช่วยดำเนินการตรวจสอบขั้นตอนและกระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หลังตรวจสอบข้อมูลพบว่า กระบวนการคัดเลือกอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีของการไม่ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคา จึงมีการส่งสำนวนการสืบสวนและเอกสารประกอบไปยังคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เพื่อไต่สวนนั้น ตามปกติหน่วยงานต่างๆที่มีปัญหามีสิทธิ์ฟ้องร้องต่อดีเอสไอและ ป.ป.ช. ได้อยู่แล้ว ซึ่งการสืบสวนเป็นไปตามขั้นตอน ส่วนที่ดำเนินการอย่างถูกต้องสามารถเสนอต่อครม.พิจารณาได้

 

“ยืนยันการฟ้องร้องต่อดีเอสไอและคณะกรรมการป.ป.ช.จะไม่กระทบต่อการลงนามสัญญาในครั้งนี้ ปัจจุบันยังห่วงในประเด็นที่รัฐบาลมีการลงทุนไปเยอะแล้ว แต่โครงการฯยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาติดปัญหาด้านการฟ้องร้อง แต่ขณะนี้เมื่อศาลปกครองสูงสุดตัดสินแล้วก็ควรเดินหน้าต่อ อีกทั้งในช่วงที่ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ทางรฟม.เคยเสนอครม.ลงนามสัญญากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เหมือนกัน แต่คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าเรื่องนี้ยังมีการฟ้องร้องในชั้นศาลปกครองสูงสุดจึงขอให้รอผลตัดสินจากศาลปกครองสูงสุดก่อนถึงจะเดินหน้าต่อได้ จึงมีการถอนเรื่องดังกล่าวออกไป”

ทั้งนี้ตามแผนเมื่อ ครม. มีมติให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ แล้ว รฟม. จะเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในเดือนต.ค.67 โดยมีแผนเปิดให้บริการโครงการสำหรับส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในเดือนพ.ค.71 และเปิดให้บริการโครงการตลอดทั้งเส้นทาง ตั้งแต่ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในเดือนพ.ย.73

“สุริยะ” ยืนกรานปม \"สายสีส้ม\" ดีเอสไอ-ป.ป.ช. สอบ ไม่กระทบร่างสัญญา

สำหรับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เอกชนผู้ชนะการประมูลจะได้รับสิทธิก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) รวมถึงงานเดินรถไฟฟ้าตลอดสาย บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุนรวมกว่า 1.4 แสนล้านบาท โดย รฟม.ได้เปิดประมูลครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2565 มีผู้ซื้อซองประมูล 14 ราย และมีผู้ยื่นซอง 2 กลุ่ม คือ

 

1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท 2.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ร่วมกับบริษัทขนส่งอินช็อน (Incheon Transit Corporation) ผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินประเทศเกาหลีใต้ เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตามรฟม.ได้ประกาศให้ BEM ชนะการประมูลเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2565 เนื่องจาก BEM ผ่านเกณฑ์ด้านคุณสมบัติและเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐสุทธิ (NPV) -78,287.95 ล้านบาท โดยมาจากการการหักลบระหว่างส่วนที่เอกชนจะตอบแทนให้รัฐ กับเงินที่เอกชนขอให้รัฐช่วย ซึ่งถือเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด