ปิดฉากคดี “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก

16 มิ.ย. 2567 | 13:55 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2567 | 13:59 น.

ปิดฉากคดี “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก! : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4001

ต่อสู้มาราธอนกว่า 4 ปี สำหรับคดีรถไฟฟ้าสายสีส้มในที่สุด ศาลปกครองสูงสุด อ่านคำพิพากษา ยืนตามศาลปกครองกลาง  “ยกฟ้อง”  ในคดี หมายเลขดำ 1437/2566  ที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับพวกรวม 2 คน ใช้อำนาจตามกฎหมาย เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ และหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม2563 อันมีลักษณะเป็นการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล 

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอเหมาะสมและความจำเป็นแห่งกรณีเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์เป็นการเฉพาะเจาะจงที่จะทำให้เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมการคัดเลือกให้เอกชนร่วมลงทุน

ดังนั้นจึงนำไปสู่การเดินหน้าโครงการ และลงนามในสัญญาระหว่างกระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กับเอกชนผู้ชนะประมูล  หรือบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM  ในส่วนงานก่อสร้าง ช่วงตะวันตก และรับสัมปทานเดินรถทั้งระบบ  
 นับเป็นโอกาสที่ดี หลังประชาชนต้องผจญรถติดมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะโซนตะวันออก เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดมลพิษเป็นวงกว้าง และตามมาด้วยปัญหาสุขภาพ      

แต่เมื่อดูไทม์ไลน์การเปิดให้บริการแล้วต้องยกมือทาบ “อก”  กว่า “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” ต้องรออีก 4 ปี หรือ ปี 2571  

สำหรับสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แม้จะสร้างเสร็จ 100% ตั้งแต่ปี 2566 แล้วก็ตาม แต่ต้องตรวจสอบความเรียบร้อย การเข้าไปวางรางและระบบเดินรถรวมถึงการจัดซื้อขบวนรถ   

ส่วนสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ ปี 2573 เรียกว่าต้องเร่งวันเร่งคืน ก่อสร้าง ซึ่งคนฝั่งธนฯ ต้องร้องเพลงรอไปก่อน ท่ามกลางสิ่งปลูกสร้างความเจริญมารอดักหน้า  

อย่างไรก็ตามแม้ “คำพิพากษา” ในคดีสายสีส้มที่สิ้นสุดลง และอาจนำมาซึ่งเป็นบรรทัดฐานในทางปฏิบัติกับหลายๆ โครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็ตาม แต่มองว่า ต้องไม่นำไปสู่ใบเบิกทางในทางที่ผิด ก่อให้เกิดความลักลั่น ไม่เช่นนั้นจะเกิดการฟ้องร้องไม่รู้จบ นำมาซึ่งการสูญเสียทางเศรษฐกิจและคนที่รับผลกระทบมากที่สุด คือ ประชาชน!!!