"รฟม." เร่งสปีดชง คมนาคม ไฟเขียวร่างสัญญา "รถไฟฟ้าสายสีส้ม"

17 มิ.ย. 2567 | 15:46 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มิ.ย. 2567 | 19:05 น.

รฟม.จ่อชงคมนาคม เคาะลงนามสัญญา BEM ฟากบีทีเอส ลุ้นคดีศาลอาญาฯ "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" หลังผู้ว่ารฟม.-บอร์ดมาตรา 36 ส่อทุจริตในหน้าที่ โยน ครม.ตัดสินผลประมูล

นายสุรพงษ์  เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เปิดเผยว่า กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ยังเหลืออีก 1 คดี ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คือ คดีที่บีทีเอสซีฟ้องผู้ว่ารฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 ในกรณีที่แก้ไขเอกสารการประกวดราคาและยกเลิกการคัดเลือกเอกชน ถือเป็นการทุจริตและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

 

สำหรับคดีนี้ไม่มีผลต่อการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในปัจจุบันเนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับบุคคล โดยบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิจารณาแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา ขณะนี้ศาลอาญาฯยังไม่ได้มีการนัดไต่สวนเพิ่มเติม

 

"ส่วนการฟ้องร้องต่อศาลปกครองในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ประเด็นที่กีดกันการแข่งขันภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องยืนตามศาลชั้นต้นนั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้พิจารณา หากโครงการมีการเปิดประมูลใหม่ บริษัทก็มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลส่วนจะยืนราคาเดิมหรือไม่คงต้องมีการพิจารณารายละเอียดก่อน"

นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น ปัจจุบันรฟม. อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารเพื่อเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาผลการประมูลโครงการฯ

 

"ขณะนี้รฟม. ยังไม่ได้มีการหารือกับ BEM ผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม แต่ได้รับทราบว่าทางเอกชนพร้อมยืนราคาเดิมเพื่อรอเจรจาการลงนามสัญญาร่วมกัน"

 

ทั้งนี้หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งในปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธาสายตะวันออกดำเนินการแล้วเสร็จ เบื้องต้นตามกระบวนการจะออกแบบพร้อมจัดหาขบวนรถโดยใช้ระยะเวลากว่า 1 ปี และติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณอีก 1 ปี รวมใช้ระยะเวลาดำเนินการทั้งหมดประมาณ 2 ปีกว่า ก่อนเปิดให้บริการ ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้จะเร็วกว่าที่สัญญาระบุไว้ภายใน 3 ปี 6 เดือน

สำหรับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เอกชนผู้ชนะการประมูลจะได้รับสิทธิก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) รวมถึงงานเดินรถไฟฟ้าตลอดสาย บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุนรวมกว่า 1.4 แสนล้านบาท โดย รฟม.ได้เปิดประมูลครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2565 มีผู้ซื้อซองประมูล 14 ราย และมีผู้ยื่นซอง 2 กลุ่ม คือ

 

1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท

 

2.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ร่วมกับบริษัทขนส่งอินช็อน (Incheon Transit Corporation) ผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินประเทศเกาหลีใต้ เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท

 

ที่ผ่านมา รฟม.ได้ประกาศให้ BEM ชนะการประมูลเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2565 เนื่องจาก BEM ผ่านเกณฑ์ด้านคุณสมบัติและเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐสุทธิ (NPV) -78,287.95 ล้านบาท โดยมาจากการการหักลบระหว่างส่วนที่เอกชนจะตอบแทนให้รัฐ กับเงินที่เอกชนขอให้รัฐช่วย ซึ่งถือเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด