จับตา 12 มิ.ย.นี้ ศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด “คดีสายสีส้ม” ปมกีดกันการแข่งขัน

09 มิ.ย. 2567 | 14:35 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2567 | 14:39 น.
537

12 มิ.ย.นี้ จับตานัดสุดท้าย “ศาลปกครองสูงสุด” นัดพิพากษา “คดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม” หลังบีทีเอสซียื่นอุทธรณ์ต่อศาล ปมกีดกันการแข่งขัน

รายงานข่าวจากศาลปกครอง แจ้งว่า ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ เวลา 13.15 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษา ในคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 (ครั้งที่ 2) และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563

 

สำหรับคดีนี้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1437/2566 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.  2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) (คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย)
 

โดยคดีนี้ผู้ฟ้องคดี (บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC)) ฟ้องว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีร่วมกันออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 24 พฤษภาคม 2564 และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ชอบด้วยกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรี อันมีลักษณะเป็นการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

 

ที่ผ่านมาศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอเหมาะสมและความจำเป็นแห่งกรณีเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์เป็นการเฉพาะเจาะจงที่จะทำให้เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมการคัดเลือกให้เอกชนร่วมลงทุน
 

ทั้งนี้การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคให้แตกต่างจากประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนฯ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 โดยปรับเกณฑ์คะแนนเพื่อให้ได้ผู้รับจ้างที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ที่จะสามารถดำเนินการตามโครงการให้เกิดผลสำเร็จสูงสุด 

 

หากได้เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอที่มีศักยภาพไม่เพียงพอ ย่อมเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ การกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค จึงไม่อาจรับฟังว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน และก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะมีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนฯ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้แล้ว และไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะใด

 

นอกจากนี้เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนที่ออกโดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ไม่มีลักษณะประการใดที่จะทำให้เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว กรณีนี้จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด