‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’รอศาลปกครองสุงสุดชี้ขาด รฟม.ลุ้นเซ็นสัญญาเอกชนปี67

27 เม.ย. 2567 | 17:16 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2567 | 11:55 น.
5.9 k

 “คมนาคม” รอศาลปกครองสูงสุดพิพากษาคดี “สายสีส้ม” 1.4 แสนล้านบาท  ฟาก รฟม.ลุ้นลงนามสัญญาปีนี้(ุปี67) หลัง BEM พร้อมยื่นราคาประมูล เล็งปรับแผนเดินรถเปิดให้บริการบางช่วงก่อน ช่วงตะวันออก เปิดให้บริการปี70  ช่วงตะวันตกให้บริการปี 2573 ช้ากว่าแผนเดิม

 

 

โครงการรถไฟฟ้าสายส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)  ยังเป็นประเด็นร้อนรอศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดในคดีกีดกันการแข่งขัน แม้ตุลาการจะมีความเห็นยกฟ้อง โดยยึดคำพิพากษาศาลปกครองกลางออกมาก่อนหน้านี้ก็ตาม

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)  ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการลงนามสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูล เนื่องจากต้องรอคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุดก่อน เพราะไม่สามารถก้าวล่วงอำนาจศาลฯได้ หากศาลฯตัดสินแล้วเราต้องพิจารณาว่าวินิจฉัยอย่างไร ปกติแล้วในคำวินิจฉัยของศาลฯ ส่วนใหญ่จะมีนัยยะความหมายอยู่แล้ว ซึ่งจะต้องให้ฝ่ายกฎหมายไปอ่านคำพิพากษาและตีความให้ละเอียด

“ขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันออกได้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาเสร็จแล้ว ส่วนอีกช่วงหนึ่งต้องดำเนินการแล้วเสร็จไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่งในเร็ววัน ขณะนี้บรรยากาศประเทศดีขึ้นในหลายมิติ เชื่อว่าสามารถดำเนินการได้ หากศาลฯตัดสินคดีแล้วเห็นชอบ หลังจากนั้นจะต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบสัญญาการร่วมลงทุนโครงการฯตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ (PPP) เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีการเสนอต่อครม.แล้ว แต่ถูกถอนวาระออกมาก่อน”

แหล่งข่าวจากรฟม. กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจะได้ลงนามสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูลภายในปีนี้หรือไม่นั้น เรื่องนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะปัจจุบันอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษาคดีก่อน หากครม.เห็นชอบผลการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มแล้วจึงจะลงนามสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูลต่อไป

ปัจจุบันบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ที่อยู่ระหว่างรอลงนามสัญญา ขณะนี้เอกชนยืนยันที่จะยืนราคาเดิมอยู่ ถึงแม้ว่าจะเลยกำหนดแล้ว แต่เชื่อว่าเอกชนจะยืนราคา จนกว่าจะมีการลงนามสัญญา

 หากมีการลงนามสัญญาแล้วจะสามารถก่อสร้างช่วงตะวันตกได้เลยหรือไม่นั้น ตามปกติแล้วจะต้องดำเนินการออกแบบรายละเอียดโครงการฯ ก่อน ซึ่งใช้ระยะเวลาหนึ่ง โดยในระหว่างนี้จะต้องขอใช้พื้นที่สาธารณะต่างๆก่อนถึงจะเริ่มดำเนินการเข้าพื้นที่เพื่อก่อสร้างได้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ 4-6 เดือน ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี ภายหลังจากการลงนามสัญญาแล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2573 ส่งผลให้สายตะวันตกจะเปิดให้บริการล่าช้ากว่าแผนเดิม

  แหล่งข่าวจากรฟม.กล่าวต่อว่า ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วง  ปัจจุบันงานโยธาก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถเปิดให้บริการได้เลยหรือไม่นั้น มองว่างานระบบรถไฟฟ้าของสายตะวันออกถูกพ่วงในสัญญาของการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ทำให้ต้องรอลงนามสัญญานี้ก่อนจึงจะเริ่มดำเนินการในส่วนที่เหลือได้

  “เชื่อว่ารถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก สามารถเปิดให้บริการได้ก่อนอยู่แล้ว เพราะปัจจุบันเหลือเพียงงานติดตั้งระบบ ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปีกว่า คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ภายในปี 2570 ก่อนสายตะวันตก ทั้งนี้การเปิดเดินรถ หากเริ่มดำเนินการแล้วจะต้องหารือร่วมกันอีกครั้ง เพราะรฟม.พยายามเร่งรัดเปิดให้บริการได้บางช่วงก่อน โดยที่ไม่ต้องรอให้ก่อสร้างแล้วเสร็จครบ 100%”

 สำหรับการดำเนินการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ผ่านมาได้มีเอกชนฟ้องร้องเป็นคดีความ ซึ่งปัจจุบันเหลือ 1 คดี ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด คือ คดีที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสฟ้องการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมายถือเป็นการกีดกันด้านการแข่งขัน

 หากย้อนไปวันที่ 11 เมษายน 2567 ศาลปกครองสูงสุดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

กรณีร่วมกันออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนโดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ชอบด้วยกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีแล้ว อันมีลักษณะเป็นการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรมจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

ทั้งนี้ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.1437/2566 เห็นว่าคดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ประกาศเชิญชวนและเอกสาร RFP ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นการละเมิดผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ถ้าละเมิดต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่ เพียงใด ซึ่งศาลวินิจฉัยโดยสรุป ว่าตุลาการ มีความเห็น ยกฟ้องคดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยึดคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ยันเอกสาร RFP ฉบับเดือน พ.ค. 65 ชอบด้วยกฎหมาย ไม่กีดกันการแข่งขัน ลุ้นศาลปกครองสูงสุดนัดพิพากษา