"ตุลาการ" แนะยกฟ้อง "คดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม" ปมกีดกันการแข่งขัน

18 เม.ย. 2567 | 09:48 น.
อัปเดตล่าสุด :18 เม.ย. 2567 | 09:55 น.
1.8 k

"ตุลาการ" เปิดความเห็น ยกฟ้องคดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยึดคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ยันเอกสาร RFP ฉบับเดือน พ.ค. 65 ชอบด้วยกฎหมาย ไม่กีดกันการแข่งขัน ลุ้นศาลปกครองสูงสุดนัดพิพากษา

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 ศาลปกครองสูงสุดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีร่วมกันออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนโดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ชอบด้วยกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีแล้ว อันมีลักษณะเป็นการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรมจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

 

ทั้งนี้ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.1437/2566 เห็นว่าคดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ประกาศเชิญชวนและเอกสาร RFP ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นการละมิดผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ถ้าละเมิดต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่ เพียงใด ซึ่งศาลวินิจฉัยโดยสรุป ดังนี้

 

1. ประกาศเชิญชวนและเอกสาร RFP ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ดำเนินการตามรูปแบบ ขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่าการดำเนินการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มดังกล่าว คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เห็นชอบในหลักการ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการตามที่คณะกรรมการ PPP เสนอ

 

ดังนั้นมติคณะรัฐมนตรีผูกพันเฉพาะหลักการในการดำเนินโครงการ ซึ่งหลักการดังกล่าวไม่ปรากฏหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือการกำหนดคุณสมบัติ หรือเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือคุณสมบัติในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนจึงเป็นอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง และไม่ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อนดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวแต่อย่างใด

2. การดำเนินการรับฟังความคิดเห็นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 กำหนดให้ในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนก่อนดำเนินการจัดทำร่างประกาศเชิญชวนร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ โดยการรับฟังความเห็นดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ. 2563 ซึ่งประกาศดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการรับฟังความเห็นไว้ เพียงแต่กำหนดว่าต้องมีการประกาศข้อมูลให้กลุ่มเป้าหมายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนเริ่มรับฟังความคิดเห็น ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ดำเนินการรับฟังความเห็นตามความในข้อ 4 และข้อ 5 ของประกาศฉบับดังกล่าวแล้ว

 

3. การกำหนดคุณสมบัติตามประกาศเชิญชวนและเอกสาร RFP ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่พิพาทดังกล่าว เป็นการก่อสร้างโครงสร้างใต้ดินตลอดทั้งสาย โดยมีแนวสายทางผ่านพื้นที่สำคัญหลายแห่ง ซึ่งในการรับฟังความเห็นมีภาคเอกชนแสดงความเห็นว่า การก่อสร้างควรให้ความสำคัญต่องานโยธา เนื่องจากแนวสายทางผ่านพื้นที่สำคัญ บริษัทที่ปรึกษาจึงมีการรวบรวมข้อมูลและความเห็นเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อพิจารณาจัดทำประกาศเชิญชวน และเอกสาร RFP โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาแล้ว เห็นควรกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกตามที่กำหนดไว้ประกาศเชิญชวนและเอกสาร RFP ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565

 

ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขบางช่วงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่เป็นธรรม กล่าวคือ การกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานการก่อสร้างอุโมงค์แล้วเสร็จในประเทศไทย ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมั่นใจว่าจะได้ผู้รับจ้างที่มีฝีมือการก่อสร้างที่เชื่อถือได้ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ส่วนการกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอสามารถใช้ผลงานของ Contractor ที่เป็นนิติบุคคลไทย หรือมีบุคคลไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ก็เป็นไปเพื่อสนับสนุนกิจการของคนไทย และสร้างความมั่นใจว่าในการก่อสร้าง คนไทยจะสามารถควบคุมการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้

 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในการออกประกาศเชิญชวนและเอกสาร RFP ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้พิจารณาพื้นที่โครงการ ความเห็นของภาคเอกชน และการวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาแล้ว จึงพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกตามประกาศเชิญชวน และเอกสาร RFP ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ดังกล่าว ซึ่งการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการดำเนินการที่มีเหตุผลอันสมควรเพื่อให้การคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มบรรลุตามเป้าหมาย ไม่ใช่การใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ และไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ หรือกีดกันเอกชนรายใด

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า มีการกีดกันพันธมิตรของผู้ฟ้องคดีจนไม่สามารถเข้าร่วมการคัดเลือกได้ กรณีนี้ผู้ฟ้องคดีสามารถหาพันธมิตรอื่นเพื่อรวมกลุ่มเข้าร่วมการคัดเลือกได้ ดังเช่นที่ผู้ฟ้องคดีเคยมีหนังสือขอขยายระยะเวลาในการหาพันธมิตร เนื่องจากอยู่ระหว่างเจรจากับผู้รับจ้างจากต่างประเทศเพื่อเข้าร่วมการคัดเลือกในโครงการดังกล่าว และถึงแม้ว่าประกาศเชิญชวน และเอกสาร RFP ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 จะมีเงื่อนไขในการเข้าร่วมการคัดเลือกเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความไม่สะดวกกับผู้ฟ้องคดีหรือเอกชนที่ประสงค์จะเข้าร่วมลงทุน

 

แต่ความไม่สะดวกดังกล่าวย่อมเทียบไม่ได้กับความปลอดภัย หรือประโยชน์ของสาธารณะชนที่จะได้รับจากการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว ดังนั้น ประกาศเชิญชวนและเอกสาร RFP ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้ทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด

 

ดังนั้นตุลาการผู้แถลงคดีเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลปกครองกลางที่พิพากษาให้ยกฟ้อง

 

รายงานข่าวแจ้งว่า กรณี บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 และ รฟม. กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ซึ่งศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2566 ยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา ต่อมา บีทีเอสยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยศาลได้กำหนดการสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2567 และตุลาการผู้แถลงคดี นั่งพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2567 หลังจากนี้จับตาศาลปกครองสูงสุดนัดประชุมองค์คณะศาลชุดใหญ่เพื่อพิจารณาคดีต่อไป