สามี ขับรถบรรทุกกลับบ้านช้าๆ ตามที่ภรรยาขอร้อง น่าเป็นห่วงตรงที่ป่านนี้ตั้งแต่เย็นจนค่ำ ก็ยังไม่เห็นเงา เธอโทรไปถามว่า “พี่มาถึงไหนแล้วล่ะ” สามีบอกว่า “จะถึงไหนล่ะ ข้าขับวกไปวนมาอยู่เนี่ย คงต้องรอนานสักหน่อย กำลังขับหลบผู้ไม่หวังดี ข้าเลี้ยวไปทางไหนมันก็เลี้ยวตามไปทางนั้น” ภรรยาบอกว่า “เฮ้ย อาวุธก็มี จะกลัวมันทำไม บอกพิกัดมาซิว่าอยู่ตรงจุดไหน ข้าจะบึ่งออกไปลุยมันเอง”
หลังจากรู้เส้นทาง ภรรยาก็ซิ่งไปหาสุดฤทธิ์จนเจอ เธอเหยียบคันเร่งพรวดมาตะโกนตรงหน้าต่างรถ “แอบซ้าย แอบซ้าย ลงมาดูไอ้ผู้ไม่หวังดีที่มันตามรังควานสิ ลงมา ลงมา” สามีจอดรถแล้วลงมาดูตามคำบัญชา ยังไม่ทันจะได้เพ่งดูหน้าตาของไอ้ผู้ไม่หวังดี ภรรยาเตะก้นไปหนึ่งป้าบ แล้วล็อคคอสามีพาไปดูโฉมหน้าของผู้ไม่หวังดี ลุ้นดวงชะตาหนนี้เล่นเอาสามีหายเมา ทำหน้ายังกะ หมาเหงา เพราะว่า “ผู้ไม่หวังดีที่ไล่ตามหลัง” คือ “รถพ่วง” ของตะเองนั่นแหละ… (ฮา)
อาการ “วูบวาบ” เหลือบเห็น “เงาที่ปรากฏแล้วหายลับไปทันทีทันใดต่อเนื่องกัน” เรียกว่า “อุปาทาน” จัดว่าเข้าข่าย “สมองเหล่” นั่นแหละ ภาษา สันสกฤต กับ บาลี เขาแปลถ้อยคำสอดคล้องกันว่า “อุปาทาน” หมายถึง “เชื้อเพลิง” หรือ “ เหตุปัจจัย” และ “พื้นฐานอันเป็นที่มา” ถ้าหมกมุ่นบ่อยครั้งมันจะกลายเป็น “ภาพหลอน” อย่างไรก็ตาม “ภาพหลอน” กับ “ภาพหล่อน” สามี ผวา “ภาพหล่อน” มากกว่า (ฮา)
เมื่อสมัย ในหลวง ร.9 ทรงประทับเรือพระที่นั่งเสด็จทอดพระเนตรแม่น้ำโขงฝั่งไทย หลังจากเข้าใกล้ไปถึงพื้นที่ซึ่งได้จัดการถวายการต้อนรับ ผวจ.นครพนม กราบบังคมทูลชี้แจงรายละเอียดว่า ราษฎรมีเท่าไหร่ ทำมาหากินอะไรกันบ้าง ครั้นเมื่อเข้าใกล้ ตำบลวังจระเข้ ในหลวง ร.9 ท่านทรงพระสรวลแล้วก็มีพระมีดำรัสถามว่า
“มีจระเข้ไหม!” ผวจ.นครพนม สาธยายถวายโดยย่อว่า “ไม่มีพระเจ้าข้า สมัยนี้มีเรือแล่นผ่านบ่อยครั้ง จระเข้ไม่สามารถจะอาศัยอยู่ได้ ก็ต้องหลบหนีไป…” ในหลวง ร.9 ท่านก็ตรัสว่า “เสียดาย ยังไม่เคยเห็นจระเข้ที่มันอยู่กันตามธรรมชาติ…” หลังจาก ในหลวง ร.9 ท่านตรัสยังไม่ทันจะขาดคำ จระเข้โผล่ขึ้นมาทันที 2 ตัว ก็ทรงพระสรวลพร้อมกับชี้ให้ท่านผู้ว่าฯ ดูว่า “เห็นไหม…” (ฮา)
กรณีพิเศษเคสนี้น่าเห็นใจ ท่านผู้ว่าฯ มิใช่น้อย บันทึกไว้ในความทรงจำได้เลยว่า “ถ้าไม่แน่อย่าแช่แป้ง”
ขออนุญาตกราบเท้า ท่านผู้ว่าฯ ด้วยความเคารพ ผมขออนุญาตเอาปรากฏการณ์ ท่านผู้ว่าฯ ยังรู้พลาด จึงเป็น ประสบการณ์ “อุทาเหงา” สำหรับ “ท่านกำนันเบิร์ด” ที่ “ได้รู้แพลง”
ปล. ขอขยาย “คำ” ที่ “ไม่ได้ความ” คือ “อุทา” ค้นหาคำแปลหลายพจนานุกรมก็หาไม่เจอ จึงแผลงมาเป็น “คำสลัว” อย่างเช่น “อุ” คือ “น้ำเมา” และ “ทา” คือ “ของเหลว” สมรสกันแล้วได้คดีความว่า “เหลวไหลจริงๆ!” (ฮา) ในเมื่อ อุก็เหลว ทาก็เหลว มันจึงไม่มีใครจะสามารถช่วยเหลือใครกันได้เลย สรุปว่า
“อุทาเหงา” หมายถึง “เหลวไหลจนไร้ความคึกคัก” อ่ะดิ๊…
อดีต Yellow Guru ให้แง่คิดทีฟังแล้วน่าเป็นห่วงว่า “พระพุทธเจ้าท่านช่วยแก้กรรมใครไม่ได้”
คราวก่อนผมดำริศัพท์สแลง “สมองเหล่” คือ “สมองผิดองศา” เอาไว้ ครั้งนี้จะขอดำริ “สมองหด” ฝากไว้ให้ขบในวาระ “เทศกาลรถน้ำ” เหตุที่แผลงชื่อเทศกาล เพราะเขาเอาถังน้ำขึ้น “รถ” เพื่อจะเอาไว้ “สาด!” ไม่ได้เตรียมเอาไว้ “รด” ใครที่เคยเผลอทำเงินหดโดยไม่รู้ตัวว่ามันหาย ก็จะเข้าใจ “สมองหด” ที่ Guru อ่านแล้วลืมทบทวนข้อมูลให้ถี่ถ้วน ข้อมูลสำคัญจึงขาดหายร่วงหล่นไปซุกอยู่ตรงไหนก็นึกไม่ออก
พระพุทธเจ้าทรงมีความปราณีและล่วงรู้ว่า “ท่านองคุลีมาล” สำคัญผิดที่เชื่อคำสอนของ “จารย์ถ่อย” ที่ชี้นำให้ตัดนิ้วเอามาเสริมให้บรรลุศิลปะวิชาด้วยการออกไปไล่ล่าตัดมา 1,000 นิ้ว นิ้วสุดท้ายที่ พระพุทธเจ้า เสด็จไปบำบัดทุกข์ ด้วยกุศโลบายที่ล้ำเลิศสุดจะประมาณช่วยให้ ท่านองคุลีมาล เปลี่ยนใจไม่ตัดนิ้วของ “แม่”
ถ้าหาก พระพุทธเจ้า ไม่นำพาไปเป็นบรรพชิต ป่านนี้ก็ยังคงจะเร่าร้อนอยู่ในนรก ถ้าไม่สรุปว่า พระพุทธเจ้า ได้ทรงช่วยลดทอนหนี้กรรมให้ ท่านองคุลีมาล บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วจะให้สรุปว่าอย่างไร!
กรณีที่พระพุทธเจ้า เสด็จไปช่วยชาวเมืองเวสาลี เพียงแค่พระมหาบารมีที่ทรงหยุดนิ่ง ทอดพระเนตรท้องฟ้า แล้วมีฝนตกลงมาจนน้ำไหลหลากกระชากศพ เพื่อล้างเชื้อโรคไม่ให้แพร่สะพัดไปมากกว่านั้น ทรงมีพระดำริให้ ท่านพระอานนท์นำเอา พระพุทธมนต์ และ น้ำมนต์ ไปประพรมรอบกำแพงเมือง ภูติผีปิศาจวิ่งร้อยเมตรเผ่นหนีกันชุลมุน ไม่ช้าไม่นาน สถานการณ์ทุกด้านก็ฟื้นดูกลับสู่สภาพเดิม สรุปได้หรือยังว่า พระพุทธเจ้า สามารถจะช่วย ตัดรอนผลกรรมร้ายให้หมดสิ้นไปในกรณีนั้นๆ
“ส่งเดช” แปลว่า พูดลวกๆ มักง่าย มั่วๆ ให้มันจบๆ “ซี้ซั้ว” หมายถึง “มักง่าย” จีนแต้จิ๋ว แปลความไว้ว่า “เป็นคำประสม มาจากคำว่า “สี่” คือ จำนวน 4 คำว่า “ซั้ว” แปลว่า “กระจัดกระจาย” ผมแปลมั่งว่า.“พูดกระจัดกระจายออกไปทั้ง 4 ทิศ ไม่เจาะจง ไม่ระมัดระวัง ไม่มีเป้าหมายในทิศใดทิศหนึ่ง เปรียบการพูดหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่ยั้งคิด
ไม่ต้องดูอื่นไกล คำว่า Confirm แปลกันมานานว่าหมายถึง “ยืนยัน” สำหรับคนทั่วไปจะใช้คำนี้ก็ไม่เป็นไร Con โกหกผู้ที่ควรจะเช็คให้ชัด คือ คนที่จะเอาคำนี้ไปเป็นสัญลักษณ์ สำหรับผมจะไม่เอาคำนี้มาเป็นสัญลักษณ์ เพราะว่า Con แปลว่า “โกหก” Firm แปลว่า “แน่นอน” สักวันมันคงจะมีใครสักคนทักแบบล้อเล่นว่า “ว่าไง สบายดีไหม มิสเตอร์เท็จชัวร์…” (ฮา)
อย่าเอา “ธรรมะ” ไป “ไส่ไข่” ไม่คุ้มกันเลย… ตราบใดที่ยังคงทำให้พระรัตนตรัยเสื่อมเสีย