เวียดนาม หันใช้รถไฟขนส่งสินค้าไปจีน ส่งออกทุเรียนพุ่ง 91%

12 มิ.ย. 2567 | 14:01 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มิ.ย. 2567 | 14:08 น.

กรมส่งเสริมการค้าฯ รายงานว่า ประเทศเวียดนามหันใช้รถไฟขนส่งสินค้าไปจีน ลดต้นทุนค่าขนส่ง 10-15% ลดความแออัดที่ด่านชายแดนต่าง ๆ ช่วงฤดูผลไม้ ด้านหน่วยงานการนำเข้าและส่งออก เผย ส่งออกทุเรีบนเวียดนามไปจีนเพิ่มขึ้น 91%

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รายงานว่า ปัจจุบันเวียดนามได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งไปยังทางรถไฟมากขึ้น เนื่องจากมีความรวดเร็ว ค่าใช้จ่ายไม่สูง และมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรเวียดนามหลายรายกำลังหันมาพิจารณาเลือกวิธีการส่งออกผ่านทางรถไฟไปยังประเทศจีน โดยที่ผ่านมา อุตสาหกรรมรถไฟของเวียดนามได้รับการพัฒนาจากเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศที่เปิดให้บริการ หนึ่งในนั้นคือ ผ่านทางรถไฟที่ออกจากสถานี Cao Xa ของจังหวัด Hai Duong (ภาคเหนือ) ที่ไปยังจีน

ด้านนักธุรกิจประเทศเวียดนาม มีผู้ประกอบการได้ชักชวนลูกค้าชาวจีนให้นำเข้าผ่านทางรถไฟ เนื่องจากมีกำหนดเวลาในการเดินรถแน่ชัด ต้นทุนค่าขนส่งถูกกว่าการขนส่งทางรถยนต์ อีกทั้งยังมีกระบวนการพิธีการศุลกากรที่รวดเร็ว นอกจากนี้ ค่าขนส่งทางรถไฟถูกกว่าการขนส่งทางรถยนต์ถึง 10 – 15%

อย่างไรก็ตามผู้นำเข้าชาวจีนจำนวนมากไม่เคยใช้วิธีการขนส่งสินค้าทางรถไฟมาก่อน ดังนั้นผู้ประกอบการเวียดนามในท้องถิ่นต้องใช้เวลาสำหรับในการโน้มน้าวใจให้กับผู้นำเข้าชาวจีนพิจารณาการขนส่งผ่านทางรถไฟเพิ่มขึ้น

อีกทั้ง รถไฟจะช่วยกระจายการขนส่งไปยังจีนและประเทศอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูผลไม้ที่เกิดปัญหาความแออัดที่ด่านชายแดนต่างๆ แต่ก็ยังมีความกังวลสำหรับสินค้าที่ต้องมีการขนถ่ายและขนย้ายหลายครั้งซึ่งอาจเกิดความเสียหายต่อสินค้าได้

รวมถึงขบวนรถไฟที่มีตู้แช่เย็นยังมีจำนวนที่น้อย และหากมีปัญหาระหว่างทางจะไม่สามารถหยุดจอดรถไฟเพื่อซ่อมแซมเครื่องปรับอากาศทำความเย็นได้ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่สินค้าทางการเกษตรอาจได้รับความเสียหาย ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ส่งออกสินค้าทางเกษตรเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตความต้องการส่งออกสินค้าทางการเกษตรและผลไม้ไปยังจีนที่ผ่านทางรถไฟจะเพิ่มขึ้น Viettel Post จึงได้ค้นคว้าเทคโนโลยีสำหรับตู้คอนเทนเนอร์แช่เย็นบนรถไฟมากขึ้นและในขณะเดียวกันก็ลงทุนในระบบคลังสินค้าในเมืองหนานหนิงของจีนเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าส่งออกและจำหน่ายสินค้าในจีน นอกจากนี้ ทาง Viettel Post ยังร่วมมือกับ Vietnam Railway Corporation (VNR) ที่ดูแลการขนส่งทางรถไฟสายเหนือ-ใต้ เพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างเวียดนาม-จีน โดยมีเป้าหมายส่งออก 4,000-5,000 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเดือน

จีนเป็นตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยปกติเส้นทางการส่งออกหลักคือการขนส่งทางรถยนต์แต่ในช่วง ที่ผ่านมาได้มีการใช้ทางรถไฟในการขนส่งสินค้าผ่านชายแดนมากขึ้น โดยได้รับความนิยมเนื่องจากค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล ระยะเวลาที่สั้นลงและมีความปลอดภัยสูง โดยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ปี 2567 อุตสาหกรรมการรถไฟเวียดนามได้เปิดตัวเส้นทางรถไฟใหม่ที่ออกจากสถานี Cao Xa (จังหวัด Hai Duong) เพื่อส่งออกสินค้าไปยังจีน

โดยจะมี 2 เส้นทางเพื่อไปยังจีน คือ Cao Xa – Yen Vien (กรุงฮานอย) – Dong Dang (สถานีรถไฟสากลด่งดัง) – Nanning (นครหนานหนิงของจีน) และ Cao Xa – Yen Vien – Lao Cai (สถานีรถไฟหล่าวกาย) – Kunming (เมืองคุนหมิงของจีน) โดยสินค้าส่งออกจะเชื่อมต่อโดยตรงกับทางรถไฟของจีนและทางรถไฟของประเทศอื่นๆ ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการขนส่งทางรถไฟเอเชีย-ยุโรป

นอกจากนั้น Viettel Post ได้ทำงานร่วมกับศูนย์มาตรฐานที่ได้รับอนุญาตของจีนในเวียดนามเพื่อตรวจสอบสินค้าตั้งแต่ต้นทาง ดังนั้นสินค้าผ่านการตรวจสอบและมีการใช้ซีลล็อค (Security Seal) สามารถนำเข้าประเทศจีนได้เลย ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การขนส่งสินค้าโดยทางรถไฟของเวียดนามเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการไทยและนักลงทุนชาวไทยในเวียดนามเพื่อขนส่งสินค้าไทยไปยังจีนได้อย่างรวดเร็ว ลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าไทยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้

ล่าสุดหน่วยงานการนำเข้าและส่งออก สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม ระบุว่า การส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปจีนเพิ่มขึ้น 91% เมื่อเทียบปีต่อปีในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) ของปี 2024

การส่งออกทุเรียนของเวียดนามกำลังขยายตัวเนื่องจากมีราคาที่แข่งขันได้ โดยราคาทุเรียนเฉลี่ยอยู่ที่ 4,662 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 171,000 บาท) ต่อตันในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ เทียบกับราคานำเข้าเฉลี่ยของจีนที่ 5,395 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 198,000 บาท)

ขณะเดียวกัน ทุเรียนสดใหม่จากเวียดนามถูกส่งไปจีนด้วยราคาที่สมเหตุสมผล มีการขนส่งที่รวดเร็ว และมีฤดูกาลเก็บเกี่ยวตลอดทั้งปี

สำหรับเวียดนามส่งออกสินค้าเกษตรไปจีน 14 รายการ เช่น ทุเรียน รังนก มันเทศ แก้วมังกร ลำไย มะม่วง ขนุน แตงโม กล้วย มังคุด ลิ้นจี่ และเสาวรส