สบน.ห่วงงบ 67-68 เสี่ยงไม่พอจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้

31 พ.ค. 2567 | 05:30 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2567 | 10:31 น.
1.9 k

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ส่งสัญญาณเตือน งบประมาณ ปี 2567-2568 งบชำระดอกเบี้ยที่ได้รับจัดสรรอาจไม่พอเพียง แนะสำนักงบประมาณ ทบทวน หรือจัดสรรงบกลาง เลี่ยงทำผิดกฎหมายเบี้ยวหนี้

การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ทุ่มสุดตัวเพื่อตอบสนองต่อนโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ทั้งงบประมาณปี 2567 และ 2568 โดยจัดเตรียมวงเงินเอาไว้อย่างน้อย 3.27 แสนล้านบาท จนอาจทำให้พื้นที่ทางการคลัง (policy space) เพื่อรองรับดำเนินนโยบายอื่น ๆ ของรัฐบาลลดลง

ที่มากไปกว่านั้น การเตรียมเงินไว้สู่งหลายแสนล้านบาทเพื่อถมโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ยังอาจสะเทือนไปถึงงบประมาณรายจ่ายที่จำเป็นของรัฐ ซึ่งจะต้องตั้งเอาไว้เป็นประจำทุก ๆ ปี โดยเฉพาะการรักษาวินัยในการชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เพื่อลดภาระทางการคลังและภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักงบประมาณได้เสนอที่ประชุมรับทราบผลการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568  โดยสรุปประเด็นสำคัญที่มีการแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ พบว่า มีการแจ้งเตือนถึงกรณีดังกล่าวจาก สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) อย่างน่าสนใจ

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ มีข้อสังเกตว่า 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2565 - 2566) งบชำระดอกเบี้ยที่ได้รับจัดสรรไม่พอเพียง และสำนักงบประมาณไม่สามารถจัดสรรงบกลางให้ได้ ทำให้ต้องใช้เงินคงคลังแทน และต้องตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้เงินคงคลังในปีถัดไป

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 ประมาณการว่า งบชำระดอกเบี้ยที่ได้รับจัดสรรจะไม่พอเพียง จึงขอให้สำนักงบประมาณทบทวนการจัดสรรงบชำระดอกเบี้ยในปีงบประมาณ 2568 ให้ได้รับอย่างพอเพียง เพื่อให้เป็นไปตามกรอบวินัยการชำระหนี้ภาครัฐ หรือขอให้จัดสรรงบกลางให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะในภายหลัง เพื่อหลีกเลี่ยงการไม่ปฏิบัติตามกรอบที่กฎหมายกำหนดและการผิดนัดชำระหนี้

อย่างไรก็ตาม สำนักงบประมาณ ได้ชี้แจงว่า ในช่วงปี 2565 - 2566 ธนาคารกลางของหลายประเทศมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง และยังคงใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จึงส่งผลกระทบต่อภาระดอกเบี้ย ทั้งเงินกู้เดิมในส่วนที่เป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวและเงินกู้ใหม่ให้เพิ่มสูงขึ้นกว่างบประมาณที่ได้ตั้งรองรับไว้

สำหรับในปี 2567 - 2568 ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะเริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในหลาย ๆ ประเทศเริ่มผ่อนคลายลงและเคลื่อนไหวกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

ดังนั้น เมื่อได้พิจารณาจากสถานการณ์การเงินโลก ประกอบกับประมาณการรายรับและฐานะทางการคลังของประเทศ รวมทั้งภาระค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคมในด้านต่าง ๆ จึงเสนอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ภายใต้แผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ รายการชำระค่าดอกเบี้ยเงินกู้เป็นจำนวน 259,239.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 32,022.42 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14.09%

ทั้งนี้ ยังคงมีความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลต่อราคาพลังงานและทำให้อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปเปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดการณ์ ทำให้การประเมินทิศทางของเงินเฟ้อ สถานการณ์ของภาคการเงิน รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณ เพื่อชำระดอกเบี้ยให้พอเพียงสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นไปได้ยากขึ้น