ปักหมุด มิ.ย.นี้ “กทท.” เข็น “ท่าเรือแหลมฉบัง” เร่งบรรจุวาระเข้าอีอีซี

21 พ.ค. 2567 | 09:00 น.
996

“กทท.” จับมือ สกพอ. ดัน “ท่าเรือแหลมฉบัง” ลุยบรรจุเข้าโปรเจ็กต์อีอีซี ดึงเอกชนรับสิทธิประโยชน์การลงทุน-ภาษี คาดได้ข้อสรุปภายในเดือนมิ.ย.นี้ หวังเอื้อธุรกิจท่าเรือขนส่งสินค้า

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กทท.อยู่ระหว่างผลักดันโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ให้บรรจุเป็นหนึ่งในโครงการของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะส่งผลให้ทุกกิจกรรมการลงทุนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง สามารถเข้าข่ายยื่นขอรับการสนับสนุนตามสิทธิประโยชน์ของอีอีซีได้ 

 

“เรื่องนี้เริ่มต้นมาจากกระทรวงคมนาคมมอบนโยบายให้การท่าเรือฯ ผลักดันโครงการท่าเรือแหลมฉบังทั้งหมดเข้าสู่โครงการของอีอีซี เพราะท่าเรือเราพัฒนามาก่อนอีอีซี ก่อนหน้านี้จึงไม่ได้เข้าไปบรรจุในโครงการอีอีซี แต่พื้นที่ตั้งอยู่ในเขตอีอีซีอยู่แล้ว ดังนั้นเหมาะสมที่จะนำเข้าไปบรรจุไว้ในอีอีซี และมองว่าจะจูงใจเอกชนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังด้วย เพราะจะได้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน”
 

ทั้งนี้เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา กระบวนการดังกล่าวได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) พิจารณาอนุมัติ คาดว่ากระบวนการต่างๆ จะแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้ โดยประโยชน์สูงสุดจะเกิดขึ้นต่อการลงทุนและทุกกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งเอกชนจะสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ได้เพิ่มมากขึ้น

 

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า อีอีซีได้รับการประสานจาก กทท.เพื่อนำโครงการท่าเรือแหลมฉบังเข้ามาบรรจุไว้ในโครงการบนพื้นที่อีอีซี ไม่เพียงเฉพาะท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 แต่จะมีผลโดยรวมทั้งหมดของโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อทำให้เอกชนทุกรายได้รับสิทธิประโยชน์ของการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเท่าเทียมกัน 
 

สำหรับสิทธิประโยชน์จากการบรรจุอยู่ในพื้นที่อีอีซี เอกชนจะได้รับอาทิ การยกเว้นภาษีที่เกิดจากการลงทุน การนำเข้าวัสดุอุปกรณ์เพื่อการก่อสร้างและการลงทุนในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ด้านภาษี ด้านศุลกากร การนำเข้าและการส่งออกสินค้า ตลอดจนภาษีเงินได้ที่แตกต่างออกไปจากการลงทุนในพื้นที่อื่นๆ โดยสิทธิประโยชน์เหล่านี้เชื่อว่าจะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนธุรกิจท่าเรือและการขนส่งสินค้ามากขึ้น

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กทท.เปิดเผยผลประกอบการในช่วงระยะเวลา 6 เดือนของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 2566 – มี.ค. 2567) มีเรือเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง รวม 7,230 เที่ยว เพิ่มขึ้น 4.36% สินค้าผ่านท่า 58.69 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.85% และตู้สินค้าผ่านท่า 5.28 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 9.77% มีรายได้สุทธิ 8,607 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.97% และมีกำไรสุทธิ 4,238 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.34% เทียบกับปีก่อนหน้า โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ผลประกอบการเป็นบวกนั้น มาจากการฟื้นตัวของท่าเรือแหลมฉบัง