“คมนาคม” เร่งแผนสร้าง “ท่าเรือแหลมฉบัง” เฟส 3

31 มี.ค. 2567 | 16:02 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2567 | 18:35 น.
723

“คมนาคม” เดินหน้าเร่งรัดสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เล็งดึงต่างประเทศร่วมทุน ฟาก CNNC มั่นใจถมทะเลได้ตามเป้าหมาย หวังรองรับขีดความสามารถตู้สินค้าเพิ่มเป็น 18 ล้านตู้ต่อปี

นายทวีศักดิ์  อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับการเดินทางลงพื้นที่โครงการจ้างเหมาก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างทางทะเล ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ได้รับมอบหมายจาก นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของผู้รับจ้างและเร่งรัดให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้รัฐบาล โดยเชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศเข้าร่วมโครงการฯ ทุกครั้งที่เดินทางไปต่างประเทศ เนื่องจากการดำเนินโครงการฯ จะสามารถสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน 

“คมนาคม” เร่งแผนสร้าง “ท่าเรือแหลมฉบัง” เฟส 3

“เราและทีมงานได้รับมอบหมายให้ลงพื้นที่โครงการฯ 2 ครั้งต่อเดือน เพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาทั้งการประสานงานกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน เพื่อให้โครงการฯ สำเร็จ และไม่ผิดต่อกฎ ระเบียบ และข้อบังคับของราชการ เราก็พร้อมที่จะประสานงานให้ เพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด” นายทวีศักดิ์ฯ กล่าว
 

นายเจษฎา ชูชาติ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการกิจการร่วมค้า CNNC  ( CNNC : ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท  พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) บริษัท นทลิน จำกัด และ บริษัท จงก่าง คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ป จำกัด (ประเทศจีน) ) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการฯ ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่าสามารถดำเนินโครงการฯ ได้ตามเป้าหมายทั้งการถมทะเล การขนหิน สำหรับปัญหาที่ติดขัด ต่าง ๆ ก็ได้รับการประสานงานและได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากรัฐบาล ขอขอบคุณทุกหน่วยงาน เชื่อว่าจะสามารถดำเนินโครงการฯ ได้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

“คมนาคม” เร่งแผนสร้าง “ท่าเรือแหลมฉบัง” เฟส 3

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นโครงการเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เป็นการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำหรับจอดเรือน้ำลึกและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ รวมทั้งการพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (Single Rail Transfer Operator : SRTO) 

“คมนาคม” เร่งแผนสร้าง “ท่าเรือแหลมฉบัง” เฟส 3
 

นอกจากนี้การก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือ ตลอดจนโครงข่ายและระบบการขนส่งต่อเนื่องที่จำเป็นในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังที่จะเชื่อมต่อกับภายนอกให้เพียงพอและพร้อมรองรับการขยายตัวของปริมาณเรือและสินค้าประเภทต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18 ล้านตู้ต่อปี ที่สำคัญ เป็นการพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าของภูมิภาคอินโดจีน (Hub Port) ในการเปิดประตูการค้าที่สำคัญของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Gateway Port) พร้อมเป็นท่าเทียบเรือระดับโลก (World Class Port) 

“คมนาคม” เร่งแผนสร้าง “ท่าเรือแหลมฉบัง” เฟส 3