หอการค้าฯ แนะเกาะติด “สงครามการค้า” หวังไทยได้อานิสงส์ย้ายฐานการผลิต

17 พ.ค. 2567 | 06:20 น.

อธิการบดีหอการค้า แนะภาครัฐและเอกชนติดตามสงครามการค้าสหรัฐ-จีนอย่างใกล้ชิด หวังไทยรับอานิสงส์จีนย้ายฐานการผลิต

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ว่า ขณะนี้ ภาครัฐและผู้ประกอบการไทยต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และใกล้ชิด เพราะการกีดกันทางการค้าที่ขึ้นเกิด จะเป็นการกีดกันเฉพาะแบรนด์ของประเทศจีนทั้งหมด หรือเฉพาะสินค้าที่เป็น Made in China

ทั้งนี้หากสหรัฐฯ กีดกันสินค้า Made in China อย่างหนัก เบื้องต้นประเมินว่า ประเทศไทยอาจจะได้รับอานิสงส์จากนักลงทุนจีนที่ย้ายฐานมาผลิตในประเทศไทย เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ หรือสามารถส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ได้อีกเพิ่มมากขึ้น

“ปัจจุบันสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เป็นสถานการณ์ที่ยืดเยื้อมานานเริ่มตั้งแต่ปี 2561 ถ้าให้ประเมินสถานการณ์ตอนนี้ค่อนข้างประเมินยาก แต่คาดว่า จะมีสินค้าที่มีการตั้งการขึ้นภาษีเพิ่มขึ้นในรอบนี้ อาทิ รถยนต์อีวี สินค้าราคาถูก รวมถึงแอพพลิเคชัน TikTok เพราะตอนนี้สินค้าจีนเข้าไปในสหรัฐรวดเร็วเกินไป โดยเฉพาะรถยนต์อีวี หากสหรัฐไม่มีมาตรการออกสกัดไปในอนาคตกลุ่มสหภาพแรงงานฝั่งสหรัฐจะปรับตัวลำบาก”

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีนั้น มองว่า หากสหรัฐขึ้นภาษีสินค้าต่าง ๆ ก็คิดว่าจะมีการนำเข้ารถยนต์อีวี น้อยลง แต่รถยนต์อีวีของจีน ก็ยังมีความสามารถแข่งขันและเข้าไปครองตลาดโซนอื่น ๆ ได้

ทั้งนี้จากข้อมูลการใช้มาตรการทางภาษีของสหรัฐ เพื่อรับมือกับสินค้าราคาถูกจากจีนที่ทะลักเข้ามาในประเทศ พบว่ามีด้วยกัน 9 รายการ

1. รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ขึ้นภาษีจากเดิม 27.5% เป็น 102.5%

2. แผงโซลาร์ -ขึ้นภาษีจากเดิม 25% เป็น 50%

3.เหล็กและอะลูมิเนียม (บางประเภท) ขึ้นภาษีจากเดิม 0% หรือ 7.5%  เป็น 25%

4. แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (EV) ขึ้นภาษีจากเดิม 7.5% เป็น 25%

5. แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (non-EV) ขึ้นภาษีจากเดิม 7.5% เป็น 25% (เริ่มปี 2569)

6. เซมิคอนดักเตอร์ ขึ้นภาษีจากเดิม 25% เป็น 50% (เริ่มปี 2568)

7. กระบอกฉีดยาและเข็มฉีดยา ขึ้นภาษีเป็น 50%

8. อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ขึ้นภาษีจากเดิม 0% หรือ 7.5% เป็น 25%

9.ถุงมือยาง - ขึ้นภาษีจากเดิม 7.5% เป็น 25% (เริ่มปี 2569)