สหรัฐขึ้นภาษีสินค้าจีนหลายรายการ รถ EV เจออัตราภาษี 100% เซมิคอนดักเตอร์ 50%

14 พ.ค. 2567 | 18:30 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2567 | 11:22 น.
895

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนหลายรายการวันนี้ (14 พ.ค.) ครอบคลุมรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) เซมิคอนดักเตอร์ แบตเตอร์รี่ เซลล์แสงอาทิตย์ เหล็ก อลูมิเนียม ฯลฯ โดยรถอีวีเจอขึ้นภาษีสี่เท่าจาก 25% เป็น 100% ส่วนเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มจาก 25% เป็น 50%

สื่อต่างประเทศรายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ประกาศอัตราภาษีใหม่เรียกเก็บจาก สินค้าจีน หลายรายการวันนี้ (14 พ.ค.) คิดเป็นมูลค่ารวม 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.64 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็น การขึ้นภาษี สินค้ายุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ของจีน เช่น เซลล์แสงอาทิตย์นำเข้าจากจีนจะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจาก 25% เป็น 50% ขณะที่ รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวี ภาษีปรับเพิ่มขึ้นสี่เท่าจาก 25% เป็น 100%

ส่วนอัตราภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กและอลูมิเนียมบางชนิดจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสามเท่า จาก 7.5% หรือน้อยกว่านั้น เป็น 25% ขณะที่เซมิคอนดัคเตอร์นำเข้าจากจีนจะต้องเจอภาษีในอัตราสูงขึ้นสองเท่าจากเดิม 25% เป็น 50%

สินค้าอื่นๆที่สหรัฐนำเข้าจากจีนและอยู่ในข่ายจะถูกเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้นยังได้แก่ เวชภัณฑ์ แบตเตอร์รี่ แร่ธาตุสำคัญ และเครนยกสินค้าขึ้นจากเรือ เป็นต้น

ทำเนียบขาวระบุว่า สินค้าอื่นๆที่ไม่ได้ขึ้นภาษีครั้งนี้ จะใช้อัตราภาษีเดิมที่เคยใช้มาในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ซึ่งขึ้นภาษีสินค้าจีนแบบยกแผงภายใต้กฎหมายการค้ามาตรา 301 มาตั้งแต่ปี 2018 (พ.ศ. 2561) 

การตัดสินใจของปธน.ไบเดนครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อปกป้องตำแหน่งงานและอุตสาหกรรมของสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าจีน

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อหยุดยั้งสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนที่หลั่งไหลเข้ามาตัดราคาสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทอเมริกันและถือเป็นภัยคุกคามตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐอเมริกา

นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ไม่ได้ให้รายละเอียดการขึ้นภาษีสินค้าจีนในครั้งนี้ แต่เขากล่าวว่า อัตราภาษีใหม่ที่ปรับสูงขึ้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจและพฤติกรรมการทำการค้าของจีนเอง

“เห็นได้ชัดว่า ประธานาธิบดีและฝ่ายบริหารทั้งหมด มีความกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของจีน ซึ่งมีผลคุกคามต่อคนงานและธุรกิจของชาวอเมริกัน ปัญหาเรื่องกำลังการผลิตล้นเกินของจีน และวิธีที่จีนใช้ทำการค้าซึ่งเป็นมาตรการที่บิดเบือนราคาและไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ทำให้เกิดการบิดเบือนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์” ซัลลิแวนกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อต้นสัปดาห์  

สหรัฐประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนหลายรายการ เริ่มมีผลภายในปีนี้และปีหน้า

นายลาเอล เบรนาร์ด (Lael Brainard) ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันจันทร์ (13 พ.ค.) ว่า จีนกำลังใช้แนวทางเดิมๆที่เคยใช้มาแล้วก่อนหน้านี้ นั่นคือการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจตนเองแต่สร้างความเสียหายให้กับประเทศอื่นๆที่เป็นคู่ค้า ด้วยการส่งออก "สินค้าส่วนเกิน" มากมาย ออกมาท่วมตลาดโลก

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานปฏิกริยาของจีนว่า นายหวัง เหวินปิน (Wang Wenbin) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ออกมาแถลงเช้าวันนี้ (14 พ.ค.) ว่า จีนต่อต้านการปรับขึ้นภาษีฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการขึ้นภาษีตามอำเภอใจ และเป็นการละเมิดกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) และจะใช้มาตรการต่างๆที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ที่ชอบด้วยกฎหมายของจีนเอง

จีนสามารถผลิตรถยนต์อีวีออกสู่ตลาดโลกในราคาต่ำ คิดเป็นเพียงเศษเสี้ยวของราคารถอีวีอเมริกัน

รายงานข่าวระบุว่า ในส่วนของอัตราภาษีรถอีวี (EVs) นั้น การขึ้นภาษีครั้งนี้อาจจะถือเป็นความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ เพราะรถอีวีจีนยังไม่มีส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐมากนัก อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่การส่งออก ก็จะเห็นว่า การส่งออกรถอีวีโดยรวมของจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้น 50% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา อีกทั้งจีนยังสามารถผลิตรถยนต์อีวีออกสู่ตลาดโลกในราคาต่ำ คิดเป็นเพียงเศษเสี้ยวของราคารถอีวีอเมริกัน ที่สำคัญคือคุณภาพรถยนต์อีวีของจีนก็เป็นที่ยอมรับและได้รับคำชื่นชมมากขึ้นเรื่อยๆ

ยกตัวอย่าง บีวายดี (BYD) ผู้ผลิตรถอีวีสัญชาติจีน ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก เมื่อเร็วๆนี้ ได้เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ชื่อรุ่น “ซีกัล” (Seagull) ที่สื่อตะวันตกอย่างสำนักข่าวเอพีรายงานว่า "ขับได้ดี และเป็นผลงานสร้างสรรค์แสดงถึงฝีมือของผู้ผลิตที่สามารถแข่งขันได้กับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในสหรัฐซึ่งมีราคาสูงกว่าถึงสามเท่า"

ทั้งนี้  รถอีวีรุ่นดังกล่าวมีราคาจำหน่ายในจีนคันละประมาณ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนรุ่นราคาประหยัดกว่านั้น (ซึ่งวิ่งได้ในระยะทางใกล้กว่า) มีราคาคันละไม่ถึง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ

 

ข้อมูลอ้างอิง