"Chery" ยักษ์ยานยนต์จีนปักหมุดตั้งฐานผลิต "EV" ในไทย

22 เม.ย. 2567 | 09:50 น.
อัปเดตล่าสุด :22 เม.ย. 2567 | 09:50 น.
666

"Chery" ยักษ์ยานยนต์จีนปักหมุดตั้งฐานผลิต "EV" ในไทย เตรียมตั้งโรงงานที่ระยองเฟสแรกในปี 2568 เดินหน้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ BEV และ HEV ปีละ 50,000 คัน และในเฟส 2 ภายในปี 2571 จะขยายกำลังการผลิตถึงปีละ 80,000 คัน 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า บริษัท Chery Automobile ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของจีนจีนตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ชนิดพวงมาลัยขวา 

ทั้งนี้ เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง โดยโครงการดังกล่าวนี้ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว

โดย Chery มียอดการส่งออกรถยนต์เป็นอันดับ 1 มาอย่างต่อเนื่อง 21 ปี โดยในปี 2566 Chery มียอดส่งออกกว่า 1.8 ล้านคัน 
 

สำหรับแผนการลงทุนของบริษัท Chery Automobile ในประเทศไทย จะดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อบริษัท โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) ซึ่ง OMODA และ JAECOO เป็นแบรนด์ของ Chery สำหรับทำตลาดในต่างประเทศ 

"Chery" ยักษ์ยานยนต์จีนปักหมุดตั้งฐานผลิต "EV" ในไทย

โดยจะตั้งโรงงานที่จังหวัดระยองในเฟสแรกภายในปี 2568 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ BEV และ HEV ปีละประมาณ 50,000 คัน และในเฟสที่ 2 ภายในปี 2571 จะขยายกำลังการผลิตถึงปีละ 80,000 คัน 

ในช่วงเริ่มแรก บริษัทจะนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรก OMODA C5 EV ซึ่งเป็นรถยนต์ครอสโอเวอร์ เอสยูวี ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% มาจำหน่ายเพื่อทดลองตลาด ตามมาด้วยรถยนต์พรีเมียม เอสยูวี ออฟโรดรุ่น JAECOO 6 EV, JAECOO 7 PHEV และ JAECOO 8 PHEV พร้อมเปิดโชว์รูม 39 แห่ง ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค 

“กลุ่มบริษัทรถยนต์ชั้นนำระดับโลกจากประเทศจีน ได้ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักในภูมิภาคสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวา ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทย รวมทั้งมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ” 
  
สำนักงานบีโอไอที่ประเทศจีนได้เริ่มหารือกับบริษัท Chery ตั้งแต่ปี 2564 จากนั้นได้มีการพบปะหารือ และให้ข้อมูลกับทีมงานของบริษัทเป็นระยะ ๆ ต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 เลขาธิการบีโอไอ ได้เดินทางไปพบผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Chery ที่ประเทศจีน โดยได้นำเสนอมาตรการสนับสนุนใหม่ ๆ ของภาครัฐ รวมทั้งได้หารือแผนการลงทุนที่มีความชัดเจนมากขึ้น จนนำมาสู่การยื่นคำขอและการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

การส่งเสริมโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และไฮบริด (HEV) บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 26 โครงการ จาก 19 บริษัท รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 80,000 ล้านบาท