thansettakij
อัปเดต กระบวนการพัฒนา โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR ในไทย ล่าสุด
environment

อัปเดต กระบวนการพัฒนา โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR ในไทย ล่าสุด

    ในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีฉบับใหม่ (PDP 2004) ได้มีการบรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โมดูลขนาดเล็กหรือ Small Modular Reactor : SMR ไว้ในแผน 2 แห่ง ขนาดกำลังผลิตแห่งละ 300 เมกะวัตต์

โดยมีวัตถุประสงค์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีของไทย การเพื่อสัดส่วนพลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนเป็นโรงไฟฟ้ารักษาความมั่นคงด้านพลังงาน เป็นโรงไฟฟ้าฐานรักษาเสถียรภาพให้กับพลังงานหมุนเวียน ที่จะเข้ามาในระบบปริมาณมากในปี 2580

ทั้งนี้ เทคโนโลยี SMR เป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าน้อยกว่า 300 เมกะวัตต์ มีจุดเด่น ด้านความปลอดภัยสูงหรือ มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุลดลง ไม่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในระบบเพื่อระบายความร้อน สามารถเพิ่มจำนวนโมดูลเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า ค่าไฟฟ้าสามารถแข่งขันได้และไม่ผันผวนตามราคาเชื้อเพลิง ช่วยลดเวลาในการก่อสร้าง เนื่องจากสามารถประกอบเสร็จจากโรงงานผู้ผลิต ใช้งานได้หลากหลาย สะดวกต่อการขนส่ง เหมาะกับพื้นที่ที่มีโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กหรือพื้นที่ห่างไกล และมีอายุการใช้งานประมาณ 60 ปี โดยในแต่ละเทคโนโลยีจะขึ้นอยู่กับการออกแบบการใช้งาน

อัปเดต กระบวนการพัฒนา โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR ในไทย ล่าสุด

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยถ้าจะเริ่มโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR จะต้องมีการดำเนินการคือ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำนวน 19 ด้าน สำหรับการเตรียมการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เช่น ด้านความปลอดภัย การจัดหาแหล่งเงินทุน กฎหมายและระเบียบต่าง ๆ โครงข่ายไฟฟ้า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย เป็นต้น

โดยที่ผ่านมาได้มีแผนการดำเนินงานออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การเตรียมเริ่มโครงการ โดยจัดตั้งสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (สพน.) ทบทวนความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน ศึกษาความเหมาะสม ระยะที่ 2 การดำเนินการโครงการ การขออนุญาตสถานที่ตั้ง ขออนุมัติโครงการ การจัดทำ TOR ระยะที่ 3 การก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยขออนุญาตก่อสร้างทดสอบการเดินเครื่อง และระยะที่ 4 การเดินเครื่องบำรุงรักษาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน

ในระยะที่ 1 ตามแผน PDP 2007 ได้มีการเตรียมเริ่มโครงการมาแล้ว โดยจัดตั้งสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (สพน.) และคณะกรรมการประสานงานเพื่อเตรียมการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ดำเนินการศึกษาและจัดเตรียมบุคลากรเพื่อรองรับโครงกา ร ซึ่งขณะนั้นได้จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั้ง 19 ด้าน และสพน. ได้จัดทำรายงานความพร้อมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งในขณะนั้นได้เกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่ประเทศญี่ปุ่น จึงทำให้ไม่ได้เสนอรายงานฯ เข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อตัดสินใจดำเนินการต่อ

ทั้งนี้ แนวทางการส่งเสริมการใช้ SMR รัฐบาลจะต้องมีทิศทางและ Commitment ทางด้านพลังงานนิวเคลียร์ และจัดตั้ง Nuclear Energy Programmer Implementing Organization: NEPIO เพื่อประสานงานกับกระทรวงต่างๆ ในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 19 ด้านการเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า SMR จะต้องสร้างการยอมรับของประชาชน โดยการให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชน การพัฒนาบุคลากร โดยการฝึกอบรม การประชุมเชิงวิชาการ การศึกษาดูงาน เพื่อพัฒนาบุคลากรของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความพร้อมในการนำนิวเคลียร์มาใช้ผลิตไฟฟ้า

นอกจากนี้ จะต้องเตรียมความพร้อมด้านกฎระเบียบและข้อบังคับในการกำกับดูแลการดำเนินการทางด้านนิวเคลียร์ให้ครบถ้วน สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. สะท้อนว่า เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำนิวเคลียร์มาใช้ เช่น กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยเฉพาะ กฟผ. จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการตั้งหน่วยงานภายใน เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของการนำนิวเคลียร์มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งหากจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะต้องใช้บุคลากรประมาณ 700 คน ซึ่งได้แก่ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และช่างเทคนิค

ขณะที่กระบวนการในการกำจัดเชื้อเพลิงใช้แล้วของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ปัจจุบันทางสทน. มีศูนย์กำจัดกากกัมมันตรังสี ซึ่งทำหน้าที่ดูแลการกำจัดกากกัมมันตรังสี ทั้งนี้ การดูแลการจัดการกากกัมมันตรังสีควรเกิดในบริเวณพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งต้องมีการเก็บรักษาไว้ก่อนส่งคืนไปยังบริษัทผู้ผลิต หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เดียวกัน การบริหารจัดการกากกัมมันตรังสีก็จะมีต้นทุนที่ถูกลง

 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,087 วันที่ 13 - 16 เมษายน พ.ศ. 2568