"คลัง" กุมขมับร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับประชาชน

15 มี.ค. 2567 | 10:49 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2567 | 11:14 น.
4.1 k

เปิดความคิดเห็น กระทรวงการคลัง ต่อร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับประชาชน ทั้ง 3 ฉบับ ยัน ไม่ขัดข้องในหลักการ ชี้ 5 ประเด็นต้องปรับให้ชัดเจน

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบเอกสาร ด่วนที่สุด ที่ นร 0912/16 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ร่าง พ.ร.บ. ที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ (ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ… เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นบันทึกคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สร้างสมดุลกับนโยบายอื่นของภาครัฐ (เรื่องเสร็จที่ 1673/2564)

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับ ประชาชนทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่

  • ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 92,978 คน เป็นผู้เสนอ
  • ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... นายเจริญ เจริญชัย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,942 คน เป็นผู้เสนอ
  • ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กับคณะ เป็นผู้เสนอ

ทั้งนี้ ได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 67 โดยมีหน่วยงานที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม โดยกระทรวงการคลัง (กรมสรรพสามิต) ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ. ทั้งสามฉบับ สรุปได้ดังต่อไปนี้

กระทรวงการคลัง (กรมสรรพสามิต) ไม่ขัดข้องในหลักการของร่างพ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ โดยมีข้อสังเกตว่า การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ควรจะต้องมีแนวทางที่มีความซัดเจนเพื่อให้กรมสรรพสามิตสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เช่น

1.กรณีการผ่อนคลายการอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมสรรพสามิตจะต้องนำมาพิจารณาเพื่อกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาตขายให้สอดคล้องกันต่อไป

2.กรณีร่างมาตรา 8 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 16 (1) ที่นายธีรภัทร์ฯ เสนอ มีประเด็นพิจารณาเรื่องการกำหนดจำนวนหรือความหนาแน่นของใบอนุญาตขายสุราในพื้นที่ ซึ่งกรมสรรพสามิตจะต้องนำจำนวนหรือค่าความหนาแน่นดังกล่าวไปจัดทำหลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาตขายสุราในจังหวัดและพื้นที่ต่าง ๆ

3.ร่างมาตรา 15 ที่นายธีรภัทร์ฯ เสนอเพิ่มมาตรา 25 (4/5) กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีหน้าที่จดแจ้งผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ประเภทดื่มที่ร้านและประเภทไม่ดื่มที่ร้าน) ซึ่งในปัจจุบันผู้ขายสุราต้องได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิตอยู่แล้วตามมาตรา 155 แห่ง พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ. 2560 จึงมีประเด็นว่าจะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ขายสุราหรือไม่

4.ร่างมาตรา 21 ที่นายธีรภัทร์ฯ เสนอเพิ่มมาตรา 29/1 ซึ่งมีการแยกประเภทการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประเภทไม่ดื่มที่ร้านกับประเภทดื่มที่ร้าน ปัจจุบันการอนุญาตขายสุราของกรมสรรพสามิตไม่มีการแบ่งประเภทดังกล่าว ซึ่งหากมีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ในประเด็นนี้ กรมสรรพสามิตจะต้องนำไปกำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งประเภทใบอนุญาตขายสุราใหม่ ซึ่งมีประเด็นเรื่องความชัดเจนว่าทั้งสองประเภทมีความแตกต่างกันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ร้านขายของชำที่มีโต๊ะเก้าอี้เล็ก ๆ หน้าร้าน ที่ผู้ซื้อสามารถนั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณดังกล่าวได้ หรือร้านขายข้าวต้มที่มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะจัดอยู่ในประเภทใด

5.ร่างมาตรา 41 ร่างมาตรา 42 และร่างมาตรา 43 ที่นายธีรภัทร์ฯ เสนอมีการกำหนดโทษของผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตขายสุราด้วยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วันแต่ไม่เกิน 14 วัน ซึ่งปัจจุบัน พ.ร.บ.สรรพสามิตฯ มีการกำหนดโทษของผู้รับใบอนุญาตขายสุราให้ถูกเพิกถอนใบอนุญาต รวมถึงมีการห้ามขอใบอนุญาตใหม่ทั้งบุคคลและสถานที่ โดยมีกำหนดระยะเวลาห้าปีในกรณีสถานที่และหนึ่งปีในกรณีบุคคล ดังนั้น จึงมีความเห็นว่าในการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะต้องเชื่อมโยงและสอดคล้องกับกฎหมายในความรับผิดชอบของกรมสรรพสามิตด้วย