‘กฤษฎีกา’ สรุปร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับประชาชน 3 ฉบับ

14 มี.ค. 2567 | 10:53 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2567 | 11:10 น.
870

‘กฤษฎีกา’ สรุปสาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.น้ำเมา หรือ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นฉบับประชาชน 3 ฉบับ พร้อมประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำประกอบร่าง พ.ร.บ.น้ำเมา ฉบับ กระทรวงสาธารณสุช

หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 25 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม สั่งปิดประชุมสภา หลังเลื่อนพิจารณาเรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับประชาชน 3 ฉบับ โดยวิปรัฐบาล ระบุว่า ให้รอฉบับที่เป็นกลางจาก ครม. ก่อนนั้น

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบเอกสาร ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๙๑๒/๑๖ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ (ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ… เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นบันทึกคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สร้างสมดุลกับนโยบายอื่นของภาครัฐ (เรื่องเสร็จที่ ๑๖๗๓/๒๕๖๔) มีใจความว่า

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับ ประชาชนทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่

  • ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 92,978 คน เป็นผู้เสนอ
  • ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยมี นายเจริญ เจริญชัย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,942 คน เป็นผู้เสนอ
  • ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งมี นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กับคณะ เป็นผู้เสนอ

ขณะเดียวกันได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 67 โดยมีหน่วยงานที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม ได้แก่ กระทรวงการคลัง (กรมสรรพสามิต) , กระทรวงพาณิชย์ (กรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมการค้าต่างประเทศ) , กระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) , กระทรวงยุติธรรม (สำนักงานปลัดกระทรวง และกรมคุมประพฤติ) , กระทรวงสาธารณสุข (สำนักงานปลัดกระทรวง และกรมควบคุมโรค) , สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค , สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , กรุงเทพมหานคร , สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสำนักงานศาลยุติธรรม ปรากฎผลการพิจารณา ดังต่อไปนี้

หลักการและสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติทั้งสามฉบับ ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการจำนวน 3 ฉบับ มีหลักการเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ…. (นายเจริญ เจริญชัย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,942 คน เป็นผู้เสนอ)

สาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อให้การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สอดคล้องกับ รูปแบบการประกอบธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบัน มิให้เป็นภาระหรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพของบุคคลจนเกินสมควร และเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภคและประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

ได้แก่ การเพิ่มตำแหน่งที่ปรึกษาของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติให้ครอบคลุมถึงผู้แทนสมาคมการค้าของผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ , การยกเลิกองค์ประกอบในส่วนผู้แทนเอกชนซึ่งคัดเลือกจากองค์กรเอกชนที่มีวัตถุประสงค์มิใช่เป็นการแสวงหากำไรและดำเนินกิจกรรมด้านการสนับสนุนและรณรงค์ให้ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การผ่อนคลายมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์หรือฉลาก การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณที่กำหนด การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันและเวลาที่กำหนด การกำหนดวิธีการ หรือลักษณะในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ หรือบริเวณที่กำหนด ตลอดจนการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

2.ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … (นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กับคณะ เป็นผู้เสนอ) 

สำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย เพื่อมีให้จำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพของผู้ประกอบการจนเกินสมควร และแก้ไขหลักการเกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบันที่มีลักษณะจำกัดสิทธิโดยเด็ดขาดซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจ
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนการยกเลิกการใช้ระบบคณะกรรมการในกฎหมายซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในการใช้ดุลพินิจ 

ได้แก่ การยกเลิกหมวด 1 คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แห่งชาติ , หมวด 2 คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหมวด ๓ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์หรือฉลาก

การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณที่กำหนด วิธีการหรือลักษณะในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณที่กำหนด และการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับ การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันและเวลาที่กำหนด รวมทั้งแก้ไขให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายแทนนายกรัฐมนตรี

3.ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... (นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน ๙๒,๙๗๘ คน เป็นผู้เสนอ)

สาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อลดผลกระทบด้านลบของสังคมที่เกิดขึ้นจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคุ้มครองประชาชน ตลอดจนเด็กและเยาวชน

ได้แก่ การยกเลิกบทบัญญัติเรื่องที่ปรึกษาของคณะกรรมการโดยเปลี่ยนเป็นกลไกของสมัชชาเครือข่ายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดหรือภูมิภาค การแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คณะกรรมการควบคุมฯ กรุงเทพมหานครและจังหวัด

และหน้าที่และอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเด็นเกี่ยวกับสถานที่ หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุคคลที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หน้าที่ของผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วิธีการหรือลักษณะในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานที่หรือบริเวณห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการฟ้องเรียกค่าเสียหาย

ทั้งนี้ ในเอกสารของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ฉบับนี้ ได้รวบรวมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาไว้ด้วย ซึ่งสามารถติดตามได้ที่ฐานเศรษฐกิจ