กาง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับเต็ม เพิ่มโทษ-คุมโฆษณาเข้ม

04 มี.ค. 2567 | 16:32 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2567 | 17:15 น.
1.7 k

เปิดรายละเอียด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับเต็ม ของกระทรวงสาธารณสุข หลังจากครม.ไฟเขียวร่างกฎหมายแล้ว ถอดสาระสำคัญ ปรับคำนิยาม เพิ่มอำนาจ เพิ่มโทษ คุมโฆษณาน้ำเมาเข้ม

รัฐบาลพร้อมคลอดกฎหมายสำคัญที่น่าจะส่งผลกระทบกับบรรดาธุรกิจน้ำเมาไม่มากก็น้อย หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติหลักการ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่ ของกระทรวงสาธารณสุข 

ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่เกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นั้น มีสาระสำคัญ ทั้งแก้ไขคำนิยามหลายอย่างทั้ง “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” และ “การสื่อสารการตลาด” และเพิ่มเติมคำนิยาม “ผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” รวมทั้งการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้เข้มงวดมากขึ้น

เช่นเดียวกับเพิ่มเรื่องการห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่ หรือบริเวณสถานที่จัดบริการ เพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้าในเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และเพิ่มเติมโทษในกรณีที่ฝ่าฝืนบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 10,000 บาท

 

ภาพประกอบข่าว ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่

ถอดสาระกฎหมายน้ำเมาฉบับใหม่

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่ ของกระทรวงสาธารณสุข กำหนดรายละเอียดสาระสำคัญของกฎหมายที่น่าสนใจหลายประเด็น สรุปได้เป็นด้านต่าง ๆ ดังนี้

ด้านคำนิยาม ได้กำหนดการแก้ไขคำนิยาม ทั้ง“เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” และ “การสื่อสารการตลาด” และเพิ่มเติมคำนิยาม “ผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เพื่อให้มีความชัดเจน และครอบคลุมการบำบัดรักษาในกลุ่มบุคคลมากยิ่งขึ้น ประกอบด้วย

"เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” หมายความรวมถึง วัตถุทั้งหลายหรือของผสมที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา หรือซึ่งดื่มกันไม่ได้ แต่เมื่อได้ผสมกับน้ำหรือของเหลวอย่างอื่นแล้วสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา แต่ไม่รวมถึงเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกิน 0.5 ดีกรี ไม่รวมถึงยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

การสื่อสารการตลาด” หมายความว่า การกระทำใด ๆ ในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อขายสินค้า บริการ หรือภาพลักษณ์ โดยการประชาสัมพันธ์ การเผยแพร่ข่าวสาร การส่งเสริมการขาย การแสดงสินค้า การจัดหรือสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมพิเศษ และการตลาดแบบตรง

ผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” หมายความว่า บุคคลที่มีรูปแบบการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ทางร่างกาย จิตใจหรือสังคม หรือเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งควรได้รับการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพ

คุมการโฆษณา

เพิ่มหมวดว่าด้วยการโฆษณา โดยมีบทบัญญัติเรื่องการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การประชาสัมพันธ์ใด ๆ โดยผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจ และห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ หรือสิ่งอื่นใดที่อาจทำให้เข้าใจว่าหมายถึงการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

รวมทั้งห้ามมิให้การอุปถัมภ์หรือให้การสนับสนุนบุคคล กลุ่มบุคคล หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชน ในลักษณะที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่ใช้บังคับกับการบริจาคหรือการช่วยเหลือตามมนุษยธรรมในกรณีที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรง

การเพิ่มอำนาจการกำกับ

เพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของรัฐมนตรีในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับสถานที่ห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มเติมได้

แก้ไขอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น ให้มีอำนาจในการเข้าไปในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่หรือบริเวณสถานที่ที่จัดบริการ เพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า เพื่อตรวจสอบหรือควบคุมเท่าที่จำเป็น 

ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าน่าจะมีการกระทำความผิด และมีอำนาจในการเรียก และขอดูบัตรประจำตัวประชาชนหรือเอกสารอื่นใด ในกรณีที่มีการกระทำความผิด หรือกรณีที่มีหลักฐานตามสมควรว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และอำนาจในการตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐานหรือวัตถุอื่นใด เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี

ทั้งนี้ยังเพิ่มเรื่องการห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณ สถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่หรือบริเวณสถานที่จัดบริการ เพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้าในเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ซึ่งประกาศดังกล่าวจะกำหนดเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นใด ๆ เท่าที่จำเป็นไว้ด้วยก็ได้

 

ภาพประกอบข่าว ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่

 

บทลงโทษตามกฎหมาย

ตามกฎหมายฉบับใหม่ได้กำหนดบทกำหนดโทษ เช่น เพิ่มเติมโทษในกรณีที่ฝ่าฝืนบริโภคเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย ไม่เกิน 10,000 บาท เพิ่มอัตราโทษปรับในกรณีผู้กระทำความผิดเป็นผู้ผลิตหรือนำเข้า จากเดิม “ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็น “ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตามในรายละเอียดทั้งหมดนั้น แม้ว่าจะผ่านการเห็นชอบในหลักการจาก ที่ประชุม ครม. แล้ว แต่นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติม ให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และคณะทำงานไปตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติม โดยอยากให้มองมิติด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากมิติด้านสุขภาพ

เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จึงเสนอเข้ามาให้ที่ประชุมครม. พิจารณาภายใน 1 สัปดาห์ และเมื่อ ครม.เห็นชอบรายละเอียดของกฎหมายทั้งหมดอีกครั้งแล้ว ก็ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อนำไปประมวลก่อนส่งไปรัฐสภาเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป