ภาคีเครือข่ายน้ำเมาฮือค้านร่างกฎหมายภาพเตือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

27 ก.พ. 2567 | 16:00 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.พ. 2567 | 16:09 น.

ผู้ประกอบการต้านร่างกฎหมาย หลักเกณฑ์ฉลากและภาพคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชี้สุดโต่ง ขาดวิสัยทัศน์ ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการท่องเที่ยว

หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำ ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือน สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. .... เปิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรวมถึงประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อเสนอแนะต่อร่างประกาศดังกล่าวผ่านช่องทางออนไลน์ของระบบกลางทางกฎหมาย www.law.go.th ระหว่างวันที่ 12 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ ล่าสุดเครือข่ายผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต่างออกมาแสดงความคิดเห็น 

นางสาวเขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) กล่าวว่า สมาคมฯ ไม่เห็นด้วยและยืนยันมาตลอดว่า ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือน สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้านั้น เป็นกฎหมายที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง แต่ก็เชื่อโดยสุจริตใจว่ารัฐบาลจะพิจารณายับยั้งและยกเลิกร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยเหตุที่จะทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาล ภาพพจน์การท่องเที่ยวและประเทศ รวมถึงสร้างผลกระทบในว'กว้างต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โรงแรม ร้านอาหาร และอุตสาหกรรมในซัพพลายเชนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรวม 

ภาคีเครือข่ายน้ำเมาฮือค้านร่างกฎหมายภาพเตือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

"เรากังวลเป็นอย่างมากที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบออกกฎหมายนี้มา ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์และเป็นกลางในการพิสูจน์ ได้ว่าการใช้ภาพที่น่าสลดหดหู่ ไม่ศิวิไลซ์ และมีขนาดใหญ่มาปิดจนเกือบเต็มพื้นที่ขวด กระป๋อง กล่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะช่วยลดและป้องกันปัญหาการดื่มอย่างเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ผู้ออกกฎหมายไม่ได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment หรือ RIA) เพื่อพิสูจน์ความจำเป็นและความคุ้มค่าในการออกกฎหมายที่ต้องแลกกับความเดือดร้อนร้ายแรงของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ตามที่ประเทศสมาชิกของ WTO เคยแสดงความกังวลไว้แล้วก่อนหน้านี้"

ทางสมาคมฯ เห็นว่าการที่หน่วยงานรัฐใช้วิธีเร่งรีบออกกฎหมายใหม่ที่มีลักษณะสุดโต่งมาเรื่อยๆ เป็นการแก้ปัญหาหาที่ไม่ถูกจุด นโยบายและกฎหมายที่ดี จะต้องสร้างสมดุลระหว่างเป้าหมายทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้บรรลุผลไปพร้อมกัน รัฐบาลควรบังคับใช้ กฎหมายที่มีอยู่แล้วอย่างเคร่งครัด รวมถึงบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความรับผิดชอบต่อสังคม อันเป็นการแก้ปัญหาหาการดื่มอย่างเป็นอันตรายที่มีประสิทธิผลและยั่งยืน

ภาคีเครือข่ายน้ำเมาฮือค้านร่างกฎหมายภาพเตือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นางสาวสุวิสุทธิ์ โลหิตนาวี ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไร่องุ่นและผลิตไวน์องุ่น ให้ความเห็นว่า ในปัจจุบันกฎหมายหลักเกณฑ์ฉลากที่บังคับใช้อยู่ก็เป็นอุปสรรคต่อการประกอบการมากพออยู่แล้ว เหรียญรางวัลถูกห้ามไม่ให้แสดง เช่นเดียวกับความภาคภูมิใจที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ไวน์เขาใหญ่” ยังไม่นับรวมการห้ามขายระหว่างเวลา 14.00 – 17.00 น. ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางไกลมาถึงไร่ที่เขาใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าวต้องผิดหวัง หงุดหงิด และไม่เข้าใจว่าทำไมเราไม่ขาย หรือทำไมไม่สามารถซื้อไวน์กลับบ้านหรือซื้อดื่มที่ร้านอาหารในไร่ได้

ส่วนมาตรการห้ามการโฆษณา ทำให้ไม่สามารถโฆษณาไวน์ที่ภาคภูมิใจได้ หรือโปรโมตการท่องเที่ยวไร่ไวน์องุ่นได้อย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่ไม่เป็นรองใครในภูมิภาคอาเซียน ผู้ประกอบการเสียโอกาสในการทำธุรกิจ นักท่องเที่ยวผู้บริโภคเสียอารมณ์ รัฐเสียรายได้ และหากออกกฎหมายให้ติดภาพที่ไม่น่าดูและไม่สร้างสรรค์ขนาดใหญ่ ลงบนขวดไวน์หรือขวดเครื่องดื่มใดๆ ก็ถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง อย่างไวน์ที่ถูกรังสรรค์ปรุงแต่งด้วยความรักและ ศิลปะ ดื่มด้วยสุนทรียะ นักท่องเที่ยวที่มาดื่มหรือซื้อของฝากจากไร่องุ่น ต่างเป็นผู้ที่รักและชื่นชอบในศิลปะการดื่มไวน์ การติดภาพขนาดใหญ่ที่ไม่น่าดูและคำเตือนซ้ำๆ ขนาดใหญ่บนขวดไวน์ เป็นการทำร้ายธุรกิจอย่างครบวงจร 
ภาคีเครือข่ายน้ำเมาฮือค้านร่างกฎหมายภาพเตือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ผศ.ดร. เจริญ เจริญชัย นักวิชาการด้านเทคโนโลยีอาหารและเครื่องดื่ม และผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ พ.ศ... กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าฉงนที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) นำร่างกฎหมายฉลาก และภาพคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลับมา ทั้งที่เคยถูกที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายแอลกอฮอล์แห่งชาติครั้งที่ 1/2557 วันที่ 24 ธันวาคม 2557 ปัดตก เนื่องจากประเด็นความไม่สอดคล้องกับข้อตกลงและหลักการการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงความไม่เหมาะสมและไม่เป็นสากล ของภาพคำเตือนที่เสนอใช้และให้พิจารณาใช้กราฟฟิกสัญลักษณ์ “ดื่มไม่ขับ” และ “ไม่ดื่ม ขณะตั้งครรภ์” ที่ประเทศทั่วโลกใช้อยู่ ซึ่งผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้าได้นำกราฟฟิกสัญลักษณ์ทั้ง 2 มาใส่บน ข่าวประชาสัมพันธ์ ฉลากแล้วด้วยความสมัครใจตั้งแต่หลายปีก่อน 

ทว่า ร่างกฎหมายนี้มีความพยายามทำลายอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบิดเบือน ภาพลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในฐานะ “อาหาร” ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และ Codex (Codex Alimentarius Commission) ให้ไปเป็นสิ่งมีพิษ จึงนำกฎหมายและภาพคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบมาบังคับใช้ ซึ่งเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์และยาสูบมีคุณลักษณะและการบริโภคที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ถือเป็นการออกกฎหมายที่ไม่รอบคอบ ทำร้ายอุตสาหกรรม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรงแรม ร้านอาหาร ท่องเที่ยวและบริการ ในวงกว้าง รวมถึงทำลายภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว อาหารและเครื่องดื่มของไทยอย่างสิ้นเชิง ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นตัวตลกในสายตาคนทั่วโลก

นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร แสดงความกังวลต่อร่างกฎหมายดังกล่าวว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเมืองไทย รวมถึงชาวต่างชาติหรือ expat ที่ทำงานและอาศัยอยู่ในเมืองไทยต่างชื่นชอบประเทศไทย โดยเฉพาะอาหารที่มีให้เลือกรับประทานอย่างหลากหลาย ไม่เฉพาะอาหารไทยซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลก แต่มีอาหารของต่างประเทศ เสิร์ฟและขาย ตั้งแต่ระดับ street food ไปจนถึง fine dinning ระดับ 6 ดาว และอย่างที่ทราบว่าวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยว ต่างชาติและ expat เหล่านี้ที่จะรับประทานอาหารควบคู่กับการดื่ม หรือดื่มก่อนหรือหลังอาหารเพื่อพูดคุยสังสรรค์

การที่หน่วยงานของรัฐจะออกกฎโดยให้ติดภาพที่ไม่น่าดูอย่างอาการเจ็บป่วยโรคภัย ความรุนแรง อุบัติเหตุ เต็มพื้นที่ขวดเหล้า เบียร์ ไวน์ แชมเปญ จะทำลายภาพลักษณ์ประเทศ เศรษฐกิจการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในวงกว้าง นักท่องเที่ยวคงไม่มีทางเข้า ใจได้ว่าติดภาพหรือข้อความเต็มขวดเพื่ออะไร แต่คงไม่มีนักท่องเที่ยวคนใดรู้สึกดีที่จะเห็นภาพเหล่านั้นบนโต๊ะอาหาร ในโรงแรม หรือร้านอาหาร และอาจมองว่าเป็นกฎหมายและมาตรการที่น่าขบขันและไม่เหมาะสม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีประเทศใดในโลกทำมาก่อนหรือกล้าที่จะทำ จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อภาพพจน์การท่องเที่ยว เศรษฐกิจ รวมถึงอุตสาหกรรม อาหารและเครื่องดื่มหากนำภาพคำเตือนนี้มาใช้จริง นอกจากนี้ อยากขอให้ยกเลิกการห้ามขายช่วงเวลา 14.00 – 17.00 น. เพื่อ สนับสนุนการท่องเที่ยวและบริการให้เติบโต