ยุบทางด่วนขั้น 3 ปรับแผนใหม่ปลุก “ทางด่วนสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกฯ”

13 มี.ค. 2567 | 14:02 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มี.ค. 2567 | 14:08 น.
1.5 k

บอร์ดกทพ.ไฟเขียวสร้างทางด่วนสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกฯ วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท ปรับแผนใหม่พับทางด่วนขั้น 3 หั่นแนวเส้นทางเหลือ 6.7 กม. หวั่นพื้นที่ทับซ้อนรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ห่วงชาวบ้านกระทบเวนคืนที่ดิน

KEY

POINTS

  • บอร์ดกทพ.ไฟเขียวสร้างทางด่วนสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกฯ วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท
  • ปรับแผนใหม่พับทางด่วนขั้น 3
  • หั่นแนวเส้นทางเหลือ 6.7 กม. หวั่นพื้นที่ทับซ้อนรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ห่วงชาวบ้านกระทบเวนคืนที่ดิน 
     

ที่ผ่านมากทพ.เร่งรัดโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ซึ่งแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ช่วง หากโครงการแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรและพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง

 

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เบื้องต้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. มีมติเห็นชอบอนุมัติดำเนินการโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ระยะทางรวม 6.7 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 13,600 ล้านบาท

 

จากเดิมโครงการทางด่วนสายนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทางรวม 11.3 กิโลเมตร (กม.) วงเงินราว 17,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการฯจะขอใช้งบประมาณกู้เงินจากกระทรวงการคลัง เบื้องต้นอยู่ระหว่างดำเนินการเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากนั้นจะเจรจาขอใช้เงินกู้กับกระทรวงการคลัง เพื่อบรรจุในแผนเงินกู้ต่อไป

 

ทั้งนี้หลังจากคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. เห็นชอบแล้ว จะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยจะเริ่มเปิดประมูลภายในกลางปี 2567 ลงนามสัญญาได้ภายในเดือนมิถุนายน 2568 และดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2568 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2571 
 

รายงานข่าวจากกทพ.กล่าวต่อว่า โครงการฯนี้ กทพ.จะเป็นผู้ลงทุนด้านงานก่อสร้างงานโยธาและงานติดตั้งระบบบำรุงรักษา (O&M) เองทั้งหมด ซึ่งการก่อสร้างจะใช้เสาตอม่อเดิมบริเวณเกษตร-นวมินทร์  โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีความคิดเห็นให้ตรวจสอบฐานรากเสาตอม่อว่ามีความแข็งแรงสามารถรองรับโครงการฯนี้ที่จะดำเนินการก่อสร้างและมีความปลอดภัยหรือไม่ เนื่องจากเป็นเสาตอม่อที่มีการก่อสร้างนานกว่า 20 ปี เบื้องต้นกทพ.จะดำเนินการตรวจสอบฐานรากดังกล่าว เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสามารถรองรับโครงการฯได้ คาดว่าจะดำเนินการทดสอบแล้วเสร็จภายในกลางปี 2567 หรือก่อนที่จะเปิดประมูลโครงการฯ  

 

“สาเหตที่มีการปรับเปลี่ยนชื่อโครงการทางด่วนนั้น เนื่องจากแผนดำเนินการก่อสร้างโครงการฯในครั้งนี้มีระยะทางที่สั้นลงกว่าเดิม ทำให้ไม่มีพื้นที่ที่ต้องเวนคืนที่ดิน ปัจจุบันกทพ.มีแนวคิดดำเนินการก่อสร้างในเส้นทางที่ไม่มีปัญหาและอุปสรรคก่อน เพื่อไม่ให้กระทระทบต่อประชาชน เพราะหากยึดแนวเส้นทางเดิมจะกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ส่งผลให้มีพื้นที่ที่ต้องเวนคืนที่ดินเพิ่มเติม ส่วนแนวเส้นทางที่ยังติดปัญหาพื้นที่ที่ต้องเวนคืนที่ดินนั้น เบื้องต้นกทพ.จะปรับแผนดำเนินการก่อสร้างในระยะที่ 2 แทน คาดว่าจะเสนอขออนุมัติไปพร้อมกับทางด่วน ตอน N1 ช่วงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์”  


สำหรับโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ระยะทางรวม 6.7 กิโลเมตร (กม.)  มีแนวเส้นทางผ่านทางขึ้น-ลง ทางด่วนฉลองรัช ไปยังบริเวณตลาดหัวมุมและ The Walk เกษตร-นวมินทร์  ซึ่งเป็นแนวเส้นทางที่เชื่อมต่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ทางยกระดับสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ช่วงบางขุนเทียน – บางบัวทอง (M9) จากเดิมที่แนวเส้นทางผ่านแยกลาดปลาเค้า
 

ขณะที่ความคืบหน้าทางด่วน ตอน N1 ช่วงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนร่วมที่ได้รับผลกระทบการเวนคืนที่ดินจากโครงการฯ รวมทั้งอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการเจรจาร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพิ่มเติม ซึ่งไม่ได้ขัดข้อง เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะใดๆ คาดว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จภายในปลายปี 2567 หลังจากนั้นจะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี โดยจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและครม.อนุมัติ โครงการฯภายในปี 2568

ยุบทางด่วนขั้น 3 ปรับแผนใหม่ปลุก “ทางด่วนสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกฯ”

นอกจากนี้ทางด่วน ตอน N1 ช่วงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะดำเนินการก่อสร้างโดยขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดิน วงเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจากการกู้เงินหรือใช้พันธบัตรรัฐบาล เบื้องต้นกทพ.จะเป็นผู้ลงทุนด้านงานก่อสร้างงานโยธาและงานติดตั้งระบบบำรุงรักษา (O&M) เองทั้งหมด คาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในปี 2569 และลงนามสัญญาภายในปลายปี 2569 หลังจากนั้นผู้รับเหมาจะต้องออกแบบรายละเอียดเพื่อดำเนินการก่อสร้างประมาณ 6 เดือน โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2570 ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปีกว่า พร้อมเปิดให้บริการปี 2575   

 

อย่างไรก็ตามทางด่วน ตอน N1 มีแนวเส้นทางผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างใหม่จากทางยกระดับเป็นอุโมงค์ทางลอด ลึกลงไปใต้ดินประมาณ 23-25 เมตร ช่วงลอดถนนงามวงศ์วาน ถนนวิภาวดีรังสิต จากนั้นจึงจะโผล่ขึ้นเหนือดิน ก่อสร้างเป็นทางยกระดับเพื่อไปเชื่อมกับทาง ด่วนขั้นที่ 2 บริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร (กม.)