ลุ้น กทพ.ชงบอร์ดไฟเขียวเจรจา BEM แลกสัมปทาน “ทางด่วนชั้นที่ 2”

14 ก.พ. 2567 | 14:28 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2567 | 14:32 น.

ก.พ.นี้ “การทางพิเศษฯ” จ่อชงบอร์ดไฟเขียวถก BEM ขยายสัมปทานแลกสร้าง “ทางด่วนชั้นที่ 2” ช่วงงามวงศ์วาน – พญาไท - พระราม 9 วงเงิน 3.4 หมื่นล้านบาท เตรียมเพิ่มสัมปทานกว่า 15 ปี คาดได้ข้อสรุปไตรมาส 3 ปี 67

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double deck) ช่วงงามวงศ์วาน – พญาไท - พระราม 9 รวมระยะทาง 17 กิโลเมตร ประมาณการณ์วงเงินค่าก่อสร้าง 34,028 ล้านบาท ขณะนี้ กทพ.ได้ศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2563 ที่มอบหมายให้ กทพ.ศึกษาโครงการดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษศรีรัช โดยทางด่วนสายนี้จะเป็นทางด่วนทับซ้อนแนวเส้นทางเดิม และไม่ต้องเวนคืนที่ดินเพิ่มเติม 

 

ทั้งนี้การพัฒนาโครงการ Double deck มีแนวทางที่จะมอบหมายให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งเป็นเอกชนผู้รับสัมปทานบริหารโครงการอยู่ในปัจจุบันเป็นผู้ดำเนินการลงทุนก่อสร้าง เพื่อแลกกับการขยายระยะเวลาสัมปทานตามที่ ครม.เคยให้แนวทางไว้ว่าจะขยายสัมปทานออกไปจากเดิม 15 ปี เพื่อแลกกับการลงทุนก่อสร้างทางด่วน 3 หมื่นล้านบาท

 

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า จากการศึกษาในขณะนี้พบว่ามูลค่างานโยธา Double deck จำเป็นต้องปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม 3 หมื่นล้านบาท เป็น 3.4 หมื่นล้านบาท ปัจจัยจากต้นทุนค่าวัสดุที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงมีแนวเส้นทางที่ กทพ.ต้องการให้ขยายเพิ่มเติมจากช่วงศูนย์แพทย์พัฒนา พระราม 9 เชื่อมต่อกับทางด่วนศรีรัช ระยะทาง 2 กิโลเมตร ส่งผลให้ กทพ.ประเมินว่าจะต้องพิจารณาขยายสัมปทานเพิ่มเติมมากกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี 
 

“ตอนนี้การทางฯ ศึกษารายละเอียดโครงการแล้วเสร็จ โดยทางเอกชนพร้อมที่จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง เพื่อแลกกับการขยายสัมปทาน แต่ตอนนี้กำลังเจรจากันอยู่ว่าจะต้องให้สัมปทานกี่ปีถึงจะเหมาะสม ตอบคำถามประชาชนได้ คาดว่าจะได้ข้อสรุป และเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ภายในเดือนนี้”

 

ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ หากผ่านการเห็นชอบจากบอร์ด กทพ. ก็จะเข้าสู่คณะกรรมการกำกับตามมาตรา 43 พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 ก่อนเสนอไปยังอัยการสูงสุด และ ครม.พิจารณาอนุมัติ คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ปีนี้ หรือภายในเดือน ก.ย.2567 พร้อมลงนามสัญญาร่วมกับ BEM ในการขยายสัมปทานบริหารทางด่วนอุดรรัถยา และทางด่วนศรีรัช โครงข่ายนอกเมือง (ทางด่วนขั้นที่ 2) ส่วน ABC และส่วน D 


นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า มติ ครม.เมื่อปี 2563 ในขณะนั้นได้ขยายสัมปทานบริหารทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน ABC และส่วน D ออกไป 15 ปี 8 เดือน เพื่อยุติข้อพิพาทระหว่าง กทพ.และ BEM ส่งผลให้ปัจจุบันสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 จะสิ้นสุดสัญญา 31 ต.ค. 2578 นอกจากนี้ ครม.ได้มอบหมายให้ กทพ.ศึกษาความเหมาะสมของการลงทุนทางด่วน Double deck โดยมีแนวทางให้เจรจาเอกชนเป็นผู้ลงทุนแลกกับสัมปทานทางด่วนเพิ่มขึ้นอีก 15 ปี 

“ปัจจุบัน กทพ.ยังไม่ได้ข้อสรุปในส่วนของระยะเวลาสัมปทานที่จะขยายออกไป เพื่อแลกกับการพัฒนา Double deck แต่มีแนวโน้มที่จะขยายมากกว่า 15 ปี ส่งผลให้ภาพรวมหากข้อเสนอของ กทพ.ได้รับการอนุมัติสัญญาสัมปทานของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน ABC และส่วน D จะขยายอายุออกไปไม่น้อยกว่า 15 ปี จากปัจจุบันสิ้นสุด 31 ต.ค. 2578” 

 

สำหรับพื้นที่ศึกษาของโครงการทางด่วนชั้นที่ 2 ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี จำนวน 1 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 เขต ได้แก่ เขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตพญาไท เขตดุสิต เขตราชเทวี เขตดินแดง และเขตห้วยขวาง โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วานไปสิ้นสุดโครงการบริเวณถนนพระราม 9 

 

นอกจากนี้ยังมีด่านเก็บค่าผ่านทาง จำนวน 2 ตำแหน่ง ได้แก่ ด่านเก็บค่าผ่านทางบริเวณประชาชื่น และด่านเก็บค่าผ่านทางบริเวณมักกะสัน มีทางขึ้น-ลง จำนวน 3 ตำแหน่ง ได้แก่ ทางขึ้น-ลงจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน ทางขึ้น-ลงบริเวณย่านพหลโยธิน และทางขึ้น-ลงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณโรงพยาบาลพระราม 9 และตำแหน่งที่มีเฉพาะทางลง จำนวน 1 ตำแหน่ง ได้แก่ ทางลงบริเวณทางแยกต่างระดับมักกะสัน