บิ๊กหอการค้าฯ ติวเข้มรัฐ แก้ ศก.โตฝืด ดึง Tech โลกลงทุน เร่งเกษตรแม่นยำ

10 มี.ค. 2567 | 09:53 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มี.ค. 2567 | 10:05 น.

“สนั่น” ประธานหอการค้าไทย แนะรัฐทะลวงเศรษฐกิจโตฝืด เพิ่มขีดแข่งขันประเทศ เร่งเปิดตลาดใหม่ ขยาย FTA หนุนพลังงานสะอาด จูงใจต่างชาติขยายลงทุน พร้อมดึง tech คัมปะนีระดับโลกลงทุนไทยช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยี สร้างแรงงานเก่งภาษาอังกฤษ ลุยเกษตรแม่นยำ

จากในปี 2566  อันดับศักยภาพการแข่งขันโดยรวมของประเทศไทยอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน รองจาก สิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนที่เข้ามาในภูมิภาค ซึ่งการที่ประเทศไทยจะพัฒนาศัยภาพในการแข่งขันให้ดีขึ้ได้อย่างไรนั้น

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  แม้ในปี 2566 อันดับขีดความสามารถการแข่งขันไทยในระดับโลกได้ไต่ขึ้น 3 อันดับ จากอันที่ 33 มาอยู่ในอันดับที่ 30 (จาก 64 เขตเศรษฐกิจ) และภาพรวมปัจจัยบวกทุกด้าน เศรษฐกิจ ประสิทธิภาพภาครัฐ ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี จะเป็นบวกในทุกมิติ

แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดย่อยรายปัจจัยยังมีสิ่งท้าทายที่ไทยต้องเร่งเครื่องแก้ไขและปรับปรุงอีกมาก เพื่อให้การจัดอันดับโลก หรือแม้แต่การจัดลำดับในภูมิภาคนี้ปรับดีขึ้น ทั้งนี้ในด้านที่ 1.ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ที่ขยับขึ้น 18 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 16 แต่ปัจจัยย่อยด้านภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ลำดับที่ 44 แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวที่ช้าและกำลังซื้อภายในประเทศยังคงอ่อนแอ

รวมไปถึงการค้าระหว่างประเทศที่อยู่ในลำดับที่ 29 ของโลก แสดงให้เห็นว่าไทยจำเป็นต้องเร่งเปิดตลาดใหม่ และขยายการจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปต่างประเทศ ตลอดจนการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด ซึ่งไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค

2.ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ขยับขึ้น 7 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 24 แต่ปัจจัยย่อยด้านการบริหารภาครัฐ การคลัง กฎหมายธุรกิจ และการบริหารสังคม ยังอยู่ในอันดับที่ไม่สูง รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงกฎระเบียบ และกฎหมายที่ล้าสมัย ให้สอดคล้องกับบริบทการแข่งขันของโลก นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและการติดต่อกับประชาชน ผ่าน e- Government เพื่อสร้างความสะดวกรวดเร็ว ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนของหลายหน่วยงาน ประหยัดเวลาและต้นทุนของประเทศ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาคอรัปชันให้ลดลงได้มากขึ้นด้วย

3.ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ขยับขึ้น 7 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 23 ปัจจัยย่อยที่ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับปรุงคือด้านการผลิตภาพและประสิทธิภาพเช่นเดียวกับรัฐบาล ที่จำเป็นต้องเร่งนำ Digital Transformations การขับเคลื่อนธุรกิจให้มีความรวดเร็ว แม่นยำ โดยเฉพาะการยกระดับภาคการเกษตร ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดต้นทุนและสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม

4.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ขยับขึ้น 1 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 43 ถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ไทยยังอยู่ในลำดับที่ไม่สูงมากนัก รัฐบาลต้องเร่งยกระดับโครงสร้างด้านเทคโนโลยี การส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษาสมัย ตลอดจนการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งยกระดับการศึกษา โดยเฉพาะปัญหาสำคัญคือด้านภาษาและการใช้เทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันแรงงานไทยมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารในระขั้นสูง เพียงร้อยละ 1 ซึ่งน้อยมากหากเทียบกับมาเลเซีย และสิงคโปร์

นอกจากนี้ การดึงดูดกลุ่มบริษัท Tech จากต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับคนไทยจะมีส่วนช่วยเพิ่มทักษะและความสามารถของคนในประเทศ ขณะเดียวกันรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมงานวิจัยภายในประเทศ เพื่อต่อยอดสู่การเป็นประเทศเจ้าของเทคโนโลยี จะมีส่วนช่วยยกดับขีดความสามารถทุกด้านให้เพิ่มากขึ้นด้วย