GDP สิงคโปร์จ่อแซงไทย ฟัดเดือดอินโดฯชิงฮับ EV โลก

08 มี.ค. 2567 | 12:02 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มี.ค. 2567 | 12:22 น.
653

ไทยรั้งเบอร์ 2 เศรษฐกิจใหญ่สุดของอาเซียน เป็นรองแค่อินโดฯ ขณะสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม หายใจรดต้นคอ จ่อแซง หลังปี 66 จีดีพีไทยโตต่ำสุดในภูมิภาค นักวิชาการชงข้อเสนอรัฐ ดันไทย 8 ฮับภูมิภาคเป็นจริง ฟัดเดือด“อินโดฯ” ศูนย์กลางผลิตอีวีโลก เอกชนชี้ไทยโอกาสสูงฮับดิจิทัล

ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปี 2566 ล่าสุดเปรียบเทียบขนาดเศรษฐกิจของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน อินโดนีเซียครองอันดับ 1 มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สูงสุด ตามด้วย ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย เมียนมา กัมพูชา บรูไน และลาว ตามลำดับ

 5 อันดับแรก อินโดนีเซียมีมูลค่าจีดีพี 1.41 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ, ไทย 512,193 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, สิงคโปร์ 497,347 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, ฟิลิปปินส์ 435,675 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเวียดนาม 433,356 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ขณะที่เปรียบเทียบการขยายตัวของจีดีพีของ 10 ประเทศในอาเซียนปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ โดยขยายตัวเพียง 1.9% ต่ำสุดในภูมิภาค

GDP สิงคโปร์จ่อแซงไทย  ฟัดเดือดอินโดฯชิงฮับ EV โลก

  • อาเซียนพึ่งภาคบริการมากสุด 

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จีดีพีของประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ พึ่งพาภาคบริการเป็นหลัก รองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร โดยอาเซียนพึ่งพาภาคบริการเฉลี่ยสัดส่วน 52% ภาคอุตสาหกรรม 37.6% และภาคเกษตร 10% โดยสิงคโปร์เป็นประเทศที่เศรษฐกิจมาจากภาคบริการมากที่สุด ตามด้วยฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศที่มีการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมในสัดส่วนเกินค่าเฉลี่ยมีเพียงอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ดีจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศ 8 วิสัยทัศน์ ในการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลกและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ได้แก่ ศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ ศูนย์กลางอาหาร ศูนย์กลางการบิน ศูนย์กลางขนส่ง ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล และศูนย์กลางทางการเงิน

ในจำนวน 8 วิสัยทัศน์นี้ ณ ปัจจุบัน ที่ไทยเป็นศูนย์กลาง หรือ Hub ของภูมิภาคแล้ว ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว ด้านอาหาร ด้านการแพทย์และสุขภาพ และด้านการบิน อย่างไรก็ตามใน 8 วิสัยทัศน์ที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศ ก็เป็นนโยบายที่ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ทำเช่นกัน แต่เป็นบางเรื่อง ไม่ทำทั้งหมดเหมือนประเทศไทย ซึ่งต้องแข่งขันกัน เช่น มาเลเซียต้องการเป็นศูนย์กลางการบิน ซ่อมและบำรุงศูนย์กลางโลจิสติกส์ ศูนย์กลางอาหารแห่งอนาคต และศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล ส่วนสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการเงินและโลจิสติกส์ อินโดนีเซีย และเวียดนามเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ของโลก) เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

  • ชิงอาเซียน 8 ฮับภูมิภาค

“หากประเทศไทยต้องการจะบรรลุความสำเร็จใน 8 วิสัยทัศน์ดังกล่าว ต้องสร้างบรรยากาศ และแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น พร้อมกับการปรับองคาพยพ และโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับอุตสาหกรรมทั้ง 8 ด้าน โดยปัจจัยบวกของไทยได้แก่ มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ตรงกลางของอาเซียน มีโครงสร้างพื้นฐานโดยรวมที่ดี มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย มีสินค้าเกษตรหลากหลายสามารถแปรรูปเป็นอาหารแห่งอนาคตได้ และมีความเป็นอิสระในการใช้ชีวิต”

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีปัจจัยลบที่สำคัญได้แก่ นโยบายเศรษฐกิจไม่ต่อเนื่องจากการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ศักยภาพแรงงานยังมีไม่มากพอเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ไม่อยู่บนเส้นทางหลัก BRI ของจีน ขาดเงินวิจัยและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ช้ากว่าหลายประเทศในอาเซียน (ไทยภายในปี ค.ศ. 2065) ลดทอนการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ(FDI) ขาดแร่หายากที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่อินโดนีเซียและเวียดนามคู่แข่งสำคัญมีแร่ดังกล่าวจำนวนมาก และไทยยังขาดการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มตามเทรนด์สิ่งแวดล้อม

  • ติวเข้มรัฐ-เอกชนช่วยกันดัน

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ ได้ให้ข้อเสนอแนะภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยได้เร่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุ 8 วิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี โดยในส่วนของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ ต้องดำเนินการดังนี้ 1.กำหนดและเลือกอุตสาหกรรมเร่งด่วนที่ไทยมีศักยภาพจะไปถึงใน 4 ปีข้างหน้า 2.กระทรวงศึกษาธิการกำหนดและผลิตบัณฑิตเพื่อรองรับอุตสาหกรรมทั้งแปด 3.มีโรดแมปเดียวกัน ในหนึ่งอุตสาหกรรมที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง และกำหนดดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ร่วมกันใน 8 อุตสาหกรรม หรือในอุตสาหกรรมนำร่อง 4.จัดสรรงบประมาณในการวิจัยที่ตอบโจทย์กับ 8 อุตสาหกรรม 5.กำหนดให้มีการถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีจาก FDI ที่เข้ามาลงทุนผ่านสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน และ 6.กำหนด Local Content ใน 8 อุตสาหกรรมให้ชัดเจน

ในส่วนของภาคเอกชน มีข้อเสนอแนะดังนี้ 1.บริษัทรายใหญ่เป็นผู้นำทางให้กับ SMEs และซัพพลายเออร์ของไทย 2.นำร่องและทำต้นแบบ 1 ใน 8 อุตสาหกรรม เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาของ SMEs 3.สร้างแนวร่วมการพัฒนา 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล SMEs (รวมถึงภาคเกษตร) และสถาบันการศึกษา เพื่อปรับโครงสร้างการผลิต (ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ เป็นต้น) เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันสู้คู่แข่งได้ ทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรไทยมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์

  • ไทยโอกาสสูงฮับดิจิทัล

ด้าน นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน กล่าวว่า ไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน แต่ต้องเลือกที่ไทยมีความแข็งแกร่ง และมุ่งยกระดับลงลึกไปในรายอุตสาหกรรม เช่น การเงิน ที่ไทยมีความแข็งแกร่งล้ำหน้าทางด้านระบบชำระเงิน และด้านการค้าปลีก ที่ไทยมีความแข็งแกร่ง ทั้งห้างสรรพสินค้า และอี-คอมเมิร์ซ รวมถึงฟู้ดเดลิเวอรี่ อย่างไรก็ตามโจทย์สำคัญของประเทศคือ เรื่องของบุคลากรที่มีไม่เพียงพอ และต้นทุนค่าแรงสูง หากรัฐบาลสามารถเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวได้ จะช่วยดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นแน่นอน

“ไทยมีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ ที่เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางภูมิภาค ที่ผ่านมีการเข้ามาลงทุนด้านดาต้าเช็นเตอร์ที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางดิจิทัลปีละแสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีความต้องการใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ และบริการใช้งานดิจิทัลในประเทศสูง”

อนึ่ง การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทยประจำปี 2566 (World Digital Competitiveness Ranking 2023) ไทยอยู่ในอันดับที่ 35 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ ดีขึ้น 5 อันดับ โดยด้านเทคโนโลยี ไทยอยู่อันดับ 15 (ดีขึ้น 5 อันดับ) ด้านความรู้ อยู่อันดับที่ 41 (ดีขึ้น 4 อันดับ) และด้านความพร้อมสำหรับอนาคต อยู่อันดับที่ 42 (ดีขึ้น 7 อันดับ) โดยไทยตั้งเป้าหมายให้อยู่ใน 30 อันดับแรก ภายในปี 2569

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3973 วันที่ 10 – 13 มีนาคม พ.ศ. 2567