"สอท."ชูไทยขึ้นแท่นฮับ"EV" หลังพบ 2 เหมืองลิเทียม-ไอออนผลิตแบตฯอีวี

19 ม.ค. 2567 | 10:07 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2567 | 10:50 น.

"สอท."ชูไทยขึ้นแท่นฮับ"EV" หลังพบ 2 เหมืองลิเทียม-ไอออนผลิตแบตฯอีวี ชี้เป็นโอกาสสำคัญที่รัฐควรเร่งสนับสนุนทั้งการสำรวจ การผลิต ไปจนถึงดึงนักลงทุนไทยและต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงศักยภาพของประเทศไทยในการผลิตแร่ลิเทียมป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน ว่า ขณะนี้ประเทศไทยถือว่าได้รับความดีอย่างยิ่ง เพราะมีศักยภาพทั้งแร่ลิเธียมและไอออน ที่เป็นแร่หลักในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า100% หรือแบตฯอีวี 

หลังกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ระบุว่าไทยมีแหล่งลิเธียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45%
 

และแหล่งบางอีตุ้มที่อยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียดเพื่อประเมินปริมาณสำรอง และเมื่อเร็วๆนี้ มหาวิทยาลัยได้แจ้งว่าไทยมีศักยภาพของแร่ไอออนในพื้นที่ภาคอีสานปริมาณสำรองจำนวนมากเช่นกัน

สำหรับกรณีประเทศอื่นในอาเซียนที่พบแร่ ส่วนใหญ่เป็นแร่นิกเกิล และอื่นๆ จนมีข่าวว่าค่ายรถอีวีเข้าไปลงทุน ซึ่งแร่ดังกล่าวไม่ใช่แร่หลักในการผลิตแบตฯอีวี แต่ของไทยถือเป็นแร่หลักทั้ง 2 ชนิด 

ดังนั้นถือว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ภาครัฐควรเร่งสนับสนุนทั้งการสำรวจ การผลิต ไปจนถึงดึงนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ เพื่อให้ไทยเป็นฐานผลิตหลักของภูมิภาค 
 

อย่างไรก็ดี เชื่อหากเดินหน้าจริงจังจะเห็นการลงทุนทั้งซัพพลายเชนที่เป็นรูปธรรมภายใน 5 ปีนี้ โดยฐานผลิตดังกล่าวนี้จะสอบรับกับเป้าหมายการเป็นฐานผลิตรถยนต์อีวีของภูมิภาค จนทำให้อุตสาหกรรมอีวีของไทยโดดเด่นทั้งการผลิตแบตฯและรถยนต์ไฟฟ้า  

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตแบตอีวีเข้าลงทุนไทยแล้ว 7 ราย ประกอบด้วย 

  • โรงงาน HASCO-CP BATTERY SHOP บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เอ็มจี 
  • บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA 
  • บริษัท บีวายดี ออโต้ (ประเทศไทย) จำกัด กับเทคโนโลยี เบลด แบตเตอรี 
  • บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด
  • บริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด ผลิตร่วมกับ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด(เครือปตท.) 
  • บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด 
  • ซีเอทีแอล หรือ Contemporary AmperexTechnology Co., Ltd (CATL) ผู้ผลิตแบตอีวีชั้นนำของโลกของจีน ร่วมกับ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด เครือปตท.