รัฐบาลลุยไฟดันกฎหมาย “สถานบันเทิงครบวงจร” ผ่านสภาผู้แทนราษฎร

07 เม.ย. 2568 | 07:00 น.
613

สภาฯ พิจารณารับหลักการวาระแรก“ร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร” 9 เม.ย.นี้ ก่อนตั้ง กมธ.พิจารณาวาระ 2 ดันรับหลักการวาระ 3 เปิดสภา 3 ก.ค. ท่ามกลางเสียงคัดค้านของหลายฝ่าย

KEY

POINTS

 

  • “สภาผู้แทนราษฏร”ลุยไฟ ฝ่ายรัฐบาลพิจารณารับหลักการวาระแรก “ร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร” 9 เม.ย.นี้
  • หากผ่านสภาผู้แทนฯ วาระแรก ตั้ง กมธ.พิจารณารายละเอียดวาระ 2 ระหว่างปิดเทอมราว 3 เดือน
  •  เมื่อเปิดสภาฯ 3 ก.ค. 2568 เสนอที่ประชุมโหวตลงมติรับหลักการวาระ 3 ก่อนเสนอวุฒิสภา ท่ามกลางเสียงคัดค้านของหลายฝ่าย 


 

มีความชัดเจนแล้วว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ของกระทรวงการคลัง จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม “สภาผู้แทนราษฎร” ในวันพุธที่ 9 เม.ย.นี้ ก่อนที่สภาจะปิดสมัยประชุม ในวันที่ 11 เม.ย. 2568

9 เม.ย.สภาถกบันเทิงครบวงจร

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2568 ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกบรรจุในลำดับที่ 15 แต่เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วน จึงทราบว่าทาง คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) อาจจะขยับร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาเป็นลำดับที่ 1 

แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่สามารถนำขึ้นมาพิจารณาได้ทันในวันนี้ (3 เม.ย.) เนื่องจากการพิจารณากฎหมายในสภาฯ ต้องส่งเนื้อหาให้สมาชิกพิจารณาก่อน ทำให้คาดว่าจะสามารถพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวได้เร็วที่สุดในวันที่ 9 เม.ย. โดยวันนี้วาระที่จะพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่องเกี่ยวกับแผ่นดินไหว

ไทม์ไลน์ก.ม.บันเทิงครบวงจร

สำหรับขั้นตอนการออกกฎหมายธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรนั้น เป็นดังนี้ วันที่ 9 เม.ย. 2568 สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารับหลักการ วาระ 1 หลังจากนั้นตั้งกรรมาธิการพิจารณาเรียงมาตรา ในวาระ 2 ก่อนที่สภาจะปิดสมัยประชุมในวันที่ 11 เม.ย. 2568

หลังสภาปิดสมัยประชุมประมาณ 3 เดือน กลับมาเปิดสมัยประชุมสภาอีกที ระหว่างวันที่ 3 ก.ค.-30 ต.ค. 2568 เมื่อเปิดสภาแล้ว ก็จะมีการลงมติให้ความเห็นชอบ วาระ 3  

หากร่างกฎหมายผ่านสภาผู้แทนฯ ส่งให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ 3 วาระ ภายใน 30 วัน เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงินการเงิน ถ้าวุฒิสภาพิจารณาไม่เสร็จ สามารถขยายเวลาได้อีก 30 วัน  

หากพิจารณาร่างกฎหมายไม่ทันภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ 

                               รัฐบาลลุยไฟดันกฎหมาย “สถานบันเทิงครบวงจร” ผ่านสภาผู้แทนราษฎร

ในกรณีที่วุฒิสภาไม่เห็นชอบ ให้ส่งคืนสภาผู้แทนราษฎร โดย-สภาผู้แทนฯ สามารถหยิบยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที เนื่องจากเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน 

หากสภาผู้แทนฯ ยืนยันร่างกฎหมายฉบับเดิม ด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง ให้ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา หลังจากนั้นเป็นขั้นตอนเสนอทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ ร่างกฎหมายต่อไป 

“ชูศักดิ์”ชี้คัดค้านเป็นสิทธิ

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ซึ่งดูแลด้านกฎหมายให้กับรัฐบาล กล่าวถึงกรณีมีเสียงคัดค้านร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งมี “กาสิโน” ร่วมอยู่ด้วยว่า การคัดค้านเป็นสิทธิเสรีภาพที่ทำได้ แต่เรื่องนี้เป็นนโยบายที่รัฐบาลแถลงไว้ ไม่ใช่เรื่องที่งุบงิบทำขึ้น และร่างกฎหมายก็มีเจตนารมณ์ที่ชัดเจน รอบคอบรัดกุมพอสมควร 

“การผ่าน 3 วาระจะใช้เวลานาน เมื่อผ่านกรรมาธิการ จนสะเด็ดน้ำแล้ว ก็ต้องส่งไปวุฒิสภา ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเขาจะแก้ไขขนาดไหน หากแก้ขึ้นมาก็ต้องมายืนยันเหมือนกฎหมายประชามติ และอาจต้องรอถึง 180 วัน” นายชูศักดิ์ กล่าวและว่า การตรากฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย สว.อาจจะไม่เห็นด้วย หรือขอแก้ไขบางส่วน

พปชร.ย้ำจุดยืนค้านกาสิโน

นายชัยมงคล ชัยรบ ส.ส.สกลนคร และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมคณะ แถลงย้ำจุดยืนของพรรคคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร โดยระบุว่า รัฐบาลเร่งรีบผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การประชุมสภาฯ ทั้งที่ขณะนี้ประเทศกำลังเผชิญปัญหาหลายด้าน ทั้งนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐ และผลผลิตทางการเกษตร แต่กลับให้ความสำคัญกับการจัดตั้งกาสิโน ซึ่งประชาชนจำนวนมากคัดค้านและต่อต้านอย่างชัดเจน 

นายชัยมงคล ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลมีท่าทีลุกลี้ลุกลนผลักดันร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ ซึ่งอาจมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่ แม้ไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ แต่ในฐานะผู้แทนประชาชนสามารถประเมินได้ว่า การดำเนินการเช่นนี้ อาจสร้างผลกระทบต่อประเทศเกินกว่าที่จะรับได้
“แม้กาสิโนจะนำเม็ดเงินเข้ามาเพิ่ม แต่ผลเสียที่ตามมาจะกัดกร่อนความมั่นคงของสังคม หากเยาวชนและประชาชนติดการพนัน ประเทศจะเดินไปทางไหน” 

นายชัยมงคล ระบุพรรคพลังประชารัฐยืนยันว่า ไทยเป็นประเทศที่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งมองว่าการพนันเป็นอบายมุขและมหันตภัยที่ต้องร่วมกันต่อต้าน พร้อมเรียกร้องให้ ส.ส. และ ส.ว. ตัดสินใจบนพื้นฐานของผลประโยชน์ประชาชน ไม่ใช่แรงกดดันจากฝ่ายอื่น

อ้างสว.ส่วนใหญ่คัดค้าน 

นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เปิดเผยว่า ในการประชุมวุฒิสภาสัปดาห์นี้ มีการหารือถึงร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยล่าสุด วุฒิสภาเตรียมพิจารณาญัตติขอแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับร่างกฎหมาย ซึ่งเสนอโดย นายสรชาติ วิชย สุวรรณพรหม และ นายวีระพันธ์ สุวรรณนามัย สว.  

ทั้งนี้ ญัตติดังกล่าวได้รับการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมในวันที่ 8 เม.ย.นี้ ที่ประชุมจะได้พิจารณาว่า จะตั้งกมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบของกฎหมายดังกล่าว ควบคู่ไปกับสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ 

นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า แม้จะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว แต่จากการหารือในกลุ่มวุฒิสภา พบว่า สว.ส่วนใหญ่มีท่าทีไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่ากฎหมายนี้อาจส่งผลกระทบในด้านลบต่อสังคม โดยเฉพาะปัญหาการพนัน และอาชญากรรมที่อาจเพิ่มขึ้น 

"ส่วนตัวมองว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ทั้งด้านสังคม และเศรษฐกิจ รัฐบาลควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนนำเสนอ ไม่ใช่เร่งผลักดันโดยไม่ฟังเสียงของประชาชน" นายพิสิษฐ์ ระบุ

โฆษกวิปวุฒิสภา กล่าวว่า ขณะนี้มีการตั้งกลุ่มไลน์ภายในวุฒิสภา เพื่อใช้เป็นช่องทางแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมหลายฝ่ายมีข้อกังวลว่า เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ อาจเป็นเพียงชื่อเรียกที่ใช้บังหน้าสำหรับการเปิดกาสิโนในไทย

ม็อบต้านกาสิโนบุกสภา 

เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2568 กลุ่มผู้ชุมนุมจากเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (ศปปส.), กองทัพธรรม และ พรรคไทยภักดี รวมตัวหน้ารัฐสภา คัดค้านร่างพรบ.ดังกล่าว นำโดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และ นายพิชิต ไชยมงคล โดยมองว่า รัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายเพื่อเปิดบ่อนกาสิโน ขัดต่อศีลธรรม และเสียงประชาชน

นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน เรียกร้องให้ประธานสภาฯ ฟังเสียงประชาชน โดยเฉพาะฐานเสียงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมท้าทายให้นำร่างกฎหมายเข้าสภาฯ ทันที

ต่อมา นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ได้ออกมารับหนังสือคัดค้าน พร้อมยืนยันว่า สภาฯ จะยังไม่นำร่าง พ.ร.บ. นี้เข้าสู่การพิจารณาในสัปดาห์นี้ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมทยอยสลายตัว แต่ประกาศจับตาความเคลื่อนไหวของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด

...วันที่ 9 เม.ย.นี้ มารอดูกันว่า “ร่างพ.ร.บ.ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร” จะผ่านการพิจารณาของวาระแรกไปได้หรือไม่...

                                +++++

189 อดีตสว.จี้ถอนบันเทิงครบวงจร

เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2568 อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 189 คน นำโดยอดีตประธานวุฒิสภาหลายสมัย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐสภาถอนร่างพ.ร.บ.ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร และร่างกฎหมายการพนันออนไลน์ โดยยื่นถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค โดยให้เหตุผลหลัก 6 ข้อ ที่คัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว ได้แก่ 

1.ขัดต่อนโยบายหาเสียง ร่างกฎหมายนี้ไม่เคยเป็นนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลก่อนการเลือกตั้ง แต่กลับถูกผลักดันอย่างเร่งรีบโดยไม่คำนึงถึงประเด็นเร่งด่วนอื่น เช่น การรับมือภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว

2.พิษภัยของกาสิโน แม้จะกำหนดให้พื้นที่สำหรับกาสิโนเพียง 10% ของโครงการ แต่ผลกระทบของการพนันสามารถสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง

3.เปิดช่องให้เกิดการทุจริต อำนาจในการอนุมัติและกำกับดูแลตกอยู่ในมือของคณะกรรมการนโยบาย ที่อาจถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

4.ไม่ช่วยเศรษฐกิจจริง รายงานจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า การพนันไม่ได้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่แท้จริง มีเพียงการถ่ายโอนเงินจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง

5.เป็นแหล่งอาชญากรรม การพนันมักเชื่อมโยงกับการทุจริต อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ และปัญหาสังคมอื่น ๆ

6.บทเรียนจากต่างประเทศ ประเทศที่มีบ่อนกาสิโนจำนวนมาก เช่น ฟิลิปปินส์ เมียนมา ลาว และ กัมพูชา ไม่ได้ร่ำรวยขึ้นจากการพนัน ประชาชนจำนวนมากยังคงอพยพมาหางานทำในไทย

แถลงการณ์ยังอ้างถึงพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 ที่เคยเตือนถึงภัยของการพนัน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายทั้งสองฉบับโดยเร็ว
สำหรับ อดีต สว. ที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนแถลงการณ์นี้ มีบุคคลสำคัญจากหลายยุคสมัย รวมถึงอดีต รองประธานวุฒิสภา และอดีต ส.ว. จากปี 2539 จนถึง 2562