ส่องความพร้อม "เหมืองโปแตซ" ไทย หลังนายกฯดึงบิ๊กทุนออสเตรเลียเข้าร่วม

07 มี.ค. 2567 | 09:54 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2567 | 09:54 น.

ส่องความพร้อม "เหมืองโปแตซ" ไทย หลังนายกฯดึงบิ๊กทุนออสเตรเลียเข้าร่วม ในโอกาสเดินทางร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ใช้โอกาสในการเดินทางร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ เพื่อหารือบริษัทเหมืองแร่ขนาดใหญ่ของออสเตรเลีย

โดยเป็นบริษัทถลุงสินแร่เหล็ก (Iron Ore) อันดับ 4 โลก มีกำลังการผลิต 192 ล้านตันต่อปี และผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำและแบตเตอรี่อีวี มียอดขายในปี 2023 สูงถึง 1.68 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

สำหรับการหารือดังกล่าว ก่อนหน้านี้ "ฐานเศรษฐกิจ" เคยนำเสนอข่าวก่อนที่นายกฯจะเดินทางว่า ต้องการดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนด้านเหมืองแร่ โดยได้สั่งการให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือ กพร. นายอดิทัต วะสีนนท์เดินทางร่วมคณะ เพื่อให้นำข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหมืองโปแตซ ในประเทศไทยไปแสดงให้กับนักลงทุนของออสเตรเลีย รับทราบ เพื่อชักชวนให้เข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทย

โดยที่อธิบดี กพร. ระบุว่า ในเบื้องต้นได้มีการนัดหมายไว้แล้ว 3-4 บริษัท โดยจะเน้นส่วนที่เป็นแร่ลิเทียม กับแรร์เอิร์ธ (Rare Earth) ส่วนโปแตซนั้นก็รวมอยู่ด้วยหากออสเตรเลียให้ความสนใจ

ส่องความพร้อม "เหมืองโปแตซ" ไทย หลังนายกฯดึงบิ๊กทุนออสเตรเลียเข้าร่วม

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับความพร้อมของเหมืองโปแตซในประเทศไทยพบว่า มีทั้งหมด 3 โครงการ ประกอบด้วย

โครงการที่นครราชสีมา 

  • เนื้อที่ : 9,005 ไร่ 
  • ปริมาณแร่สำรองประมาณ : 2.2 ล้านตัน 
  • ผู้ได้รับใบอนุญาติประทานบัตร : บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ได้รับในอนุญาติตั้งแต่ปี 2558 
  • ความคืบหน้าล่าสุด : ประสบปัญาเรื่องน้ำรั่วจากการขุดเจาะอุโมงแบบเอียงเข้าไปสู่ชั้นแร่ ดังนั้น ไทยคาลิ จึงยื่นหนังสือขอเปลี่ยนแปลงแผนผังปรับเปลี่ยนเป็นการเจาะอุโมงค์แนวดิ่ง โดยเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังเร่งตรวจสอบ แต่เนื่องจากมีรายละเอียดค่อนข้างมากจึงคิดว่าในเดือนมี.ค. หรือเม.ย.หากทุกอย่างถูกต้องครบถ้วนก็น่าจะพิจารณาอนุญาติให้มีการเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมืองได้

อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวยังมีข้อร้องเรียนจากชาวบ้านที่อ้างว่าน้ำรั่วออกจากพื้นที่การทำเหมืองสร้างความร้อน กพร.จึงได้ตั้งคณะกรรมการลงไปตรวจสอบในพื้นที่ ซึ่งได้ผลเบื้องต้นมาเรียบร้อยแล้ว แต่ต้องนำผลดังกล่าวไปให้ชาวบ้านที่ร้องเรียนรับทราบว่ามีความพึงพอใจหรือไม่อย่างไร โดยจะเป็นข้อมูลประกอบการอนุญาติการเปลี่ยนแปลงแผนผังด้วย
 

โครงการที่จังหวัดชัยภูมิ

  • เนื้อที่ : 9,700 ไร่ 
  • ปริมาณแร่สำรองประมาณ : 17.3 ล้านตัน 
  • ผู้ได้รับอนุญาติประทานบัตร : บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ได้รับอนุญาติตั้งแต่ปี 2558
  • ความคืบหน้าล่าสุด : ปัจจุบันบริษัทดังกล่าวประสบปัญหาเรื่องหนี้ และเงินผลประโยชน์ของรัฐมูลค่าหลายพันล้าน โดยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้ หรือพักชำระหนี้ ประนีประนอมไกล่เกลี่ย ซึ่ง กพร. ได้มีฟ้องร้องคดีไปที่ศาล ซึ่งจะต้องรอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมบัญชีกลาง อัยการเจ้าของคดี หากสามามารถไกล่เกลี่ยได้ บริษัทก็อาจจะหาผู้ร่วมลงทุนต่อได้

โครงการที่จังหวัดอุดรธานี 

  • เนื้อที่ : 26,000 ไร่
  • ปริมาณแร่สำรอง : 23.7 ล้านตัน 
  • ผู้ได้รับอนุญาติประทานบัตร : บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ได้รับใบอนุญาติตั้งแต่ปี 2565
  • ความคืบหน้าล่าสุด : อยู่ระหว่างการหาผู้ร่วมลงทุน ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังได้ประมาณเดือนมิ.ย.-ก.ค. 67 โดย APPC ยืนยันว่าจะมีผู้เข้ามาร่วมลงทุนด้วยอย่างแน่นอน