"OR" ทุ่ม 2.3 หมื่นล้านรุกธุรกิจใหม่ “Non-Oil” เต็มสูบ

07 มี.ค. 2567 | 07:39 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มี.ค. 2567 | 11:51 น.
956

โออาร์ ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ รุก “Non-Oil” เต็มสูบ หลังหมดยุคเฟื่องฟูของน้ำมัน สร้างความแข็งแกร่งให้กับ Ecosystem ผ่านสถานีบริการ PTT Station ทั้งอาหารและเครื่องดื่ม สู่ธุรกิจ Health & Wellness ปั้นโรงแรมขนาดเล็ก Budget Hotel และสร้างแบรนด์ของ OR ในธุรกิจ Beauty

ธุรกิจพลังงานมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หลังจากเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด โดยเฉพาะการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับนํ้ามันต่างต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ เมื่อรายได้หลักจากการจำหน่ายนํ้ามันหดหายไป

บริษัท ปตท.นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR คือหนึ่งในองค์กรที่มีการปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจ เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

รุก Non-oil ผ่านสถานีบริการ  
 

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR ระบุว่า กลยุทธ์สำคัญของ OR คือการสร้างความแข็งแกร่งให้กับ Ecosystem กลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ หรือ Non-oil ผ่านเครือข่ายสถานีบริการ PTT Station ที่มีกว่า 2,183 แห่งทั่วประเทศ ที่สามารถต่อยอดธุรกิจได้อีกมหาศาล ผลักดันการเติบโตทั้ง Organic Growth และ Inorganic Growth ด้วยการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ

ภายใต้ธุรกิจไลฟ์สไตล์ของ OR ได้พัฒนาพื้นที่รีเทลในสถานีนํ้ามันให้เป็น Living Community ศูนย์กลางการใช้ชีวิตและเติบโตไปกับชุมชน ตอบสนองพฤติกรรมลูกค้าที่ใช้จ่ายในกลุ่ม Non-Oil มากขึ้น ด้วยการขยายธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) เริ่มต้น ที่ Cafe Amazon, เท็กซัส ชิคเก้น

รวมทั้งการเข้าไปร่วมลงทุนในธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มอีกหลากหลายแบรนด์ เช่น โอ้กะจู๋, พาคามาร่า นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม Non Food อย่างบริการร้านสะดวกซัก Otteri การลงทุนในสตาร์ทอัพ
 
“OR ไม่เพียงการขยายการลงทุนในกลุ่ม F&B เท่านั้น แต่ OR จะขยายให้ครอบคลุมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ต่างๆ ของผู้บริโภค โดยธุรกิจที่เป็นเมกะเทรนด์ และ OR กำลังศึกษาบิสซิเนส โมเดลที่เหมาะสมในขณะนี้ คือ ธุรกิจ Health & Wellness”

เปิดโครงสร้างธุรกิจใหม่ "OR" ทุ่ม 2.3 หมื่นล้านรุก “Non-Oil” เต็มสูบ

รุกธุรกิจความงาม-โรงแรม

รวมทั้งจะเข้าสู่ธุรกิจ Beauty ในช่วงไตรมาสแรกถึงไตรมาสสองปี 2567 กำลังวางกลยุทธ์และเลือกพาร์ทเนอร์ที่เหมาะสม ในการพัฒนาสินค้าและแบรนด์ของ OR ขึ้นมาทำตลาดเอง โดยใช้ Sourcing จากเกาหลี และญี่ปุ่น
 
นอกจากนี้ กำลังศึกษาเพื่อขยายธุรกิจโรงแรม ในสถานีบริการนํ้ามัน PTT Station คาดว่าจะใช้เวลา 4-5 เดือน สรุปรูปแบบการลงทุน โดยขนาดโรงแรมที่เหมาะสม คาดว่าจะเป็นโรงแรมขนาดเล็ก รูปแบบ Budget Hotel หรือ Capsule Hotel ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจ รวมทั้งหาพาร์ทเนอร์มาดีไซน์โรงแรมที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้เดินทาง

อย่างไรก็ดี เมื่อสรุปรูปแบบแล้วจะลงทุนโรงแรมต้นแบบที่เหมาะสม 10 แห่ง เพื่อเป็นการทดสอบตลาดและกลุ่มลูกค้า การลงทุนโรงแรมเป็นอีกรูปแบบขยายธุรกิจช่วยสนับสนุนการใช้พื้นที่ในสถานีบริการให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเอื้อประโยชน์กับคู่ค้าในพื้นที่รีเทล

นอกจากนี้ยังได้เซ็น MOU กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อใช้พื้นที่ปลูกกาแฟ รูปแบบ Contract Farming เพื่อให้โอกาสกับเกษตรกรในพื้นที่ปลูกกาแฟเพื่อส่งขายให้กับ OR ในราคายุติธรรมและเหมาะสม โดย OR จะให้ความรู้เรื่องการปลูก ต้นกล้าพันธุ์กาแฟ และรับซื้อ เป็นการสร้าง Ecosystem ตั้งแต่ต้นนํ้าของการผลิตเมล็ดกาแฟไปถึงร้านขายกาแฟ Cafe Amazon
 
รวมทั้งจะเลือกโลเคชั่นจังหวัดที่ปลูกเมล็ดกาแฟ คือจังหวัดลำปางเพื่อพัฒนาเป็น Cafe Amazon Park ซึ่งจะมีศูนย์วิจัย ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์เพาะพันธุ์ต้นกล้า ครบ Value Chain ของธุรกิจกาแฟ ซึ่งจะทำให้ภาพของ OR ชัดเจนมากขึ้นในธุรกิจกาแฟ

เปิดโครงสร้างธุรกิจใหม่ "OR" ทุ่ม 2.3 หมื่นล้านรุก “Non-Oil” เต็มสูบ

ทุ่มขยายธุรกิจ 2.3 หมื่นล้าน
 

นางสาววิไลวรรณ กาญจนกันติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านบริหารการเงิน OR ระบุว่า ปี 2567 บริษัท ตั้งงบลงทุนธุรกิจอยู่ที่ประมาณ 23,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจ Mobility อยู่ที่ 8,800 ล้านบาท ธุรกิจ Lifestyle อยู่ที่ 10,100 ล้านบาท ธุรกิจ Global อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท และธุรกิจ Innovation & Business อีก 2,100 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตของธุรกิจในปี 2567 จะมาจากการขยายตัวของยอดขายในธุรกิจเดิม ในส่วนของธุรกิจใหม่ก็จะเติบโตตามการขยายสาขาเพิ่มขึ้น ทั้งธุรกิจ Mobility และ ธุรกิจ Lifestyle
 
ทั้งนี้ OR มีดีลธุรกิจใหม่ที่อยู่ระหว่างการเจรจาหลายดีล แต่มีอยู่ 1 ธุรกิจคาดว่าจะสามารถปิดดีลได้ในเร็วๆนี้ คือ ธุรกิจอาหาร

นางสาวปิติรัตน์ รัตนโชติ ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ OR กล่าวว่า ปี 2567 บริษัทมีแผนจะขยายสถานีชาร์จ EV Station PluZ ที่มุ่งเน้นในสถานีบริการนํ้ามัน พีทีที สเตชั่น เพิ่มขึ้นประมาณ 550 แห่ง โดยมีเป้าหมายการติดตั้งหัวชาร์จ DC ให้ได้ 7,000 หัวในปี 2573 แต่หากในอนาคตจำนวน EV เพิ่มขึ้น OR ก็พร้อมปรับเป้าหมายการลงทุนให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
 
ส่วนแผนขยายสาขาร้านสะดวกซัก Otteri Wash & Dry ในปี 2566 มีอยู่ 1,004 สาขานั้น ทางพันธมิตรมีแผนจะขยายการลงทุนในปี 2567 นี้ประมาณ 340 สาขา จะเป็นการขยายในเครือข่ายของ OR ประมาณ 40 สาขา และพื้นที่นอกเครือข่ายของ OR อีก 300 สาขา

ธุรกิจ Non-oil โตต่อเนื่อง
 

สำหรับผลประกอบการของโออาร์ ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีรายได้จากการขายและบริการ 769,224 ล้านบาท เป็นส่วนของธุรกิจ Mobility สัดส่วน 9% ธุรกิจ Lifestyle สัดส่วน 3% และ ธุรกิจ Global สัดส่วน 6% มีกำไรสุทธิ 11,094 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 724 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7% โดยผลการดำเนินงาน กลุ่มธุรกิจ Mobility มีกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรเติบโตขึ้นเล็กน้อย ขณะที่กลุ่มธุรกิจ Lifestyle สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ OR มีกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.92 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ 7%
 
จากข้อมูลสิ้นเดือนธันวาคม 2566 พบว่า OR มีสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า “EV Station PluZ” ติดตั้งสะสมแล้วทั้งสิ้นจำนวน 859 แห่ง เป็น DC Fast Charge จำนวน 1,618 หัวชาร์จ แบ่งเป็นในสถานีบริการ จำนวน 681แห่ง (เปิดใช้งานแล้ว 545 แห่ง) และนอกสถานีบริการ จำนวน 178 แห่ง (เปิดใช้งานแล้ว 160 แห่ง) โดยจำนวนแห่งที่ติดตั้งเพิ่มเติมในปี 2566 นั้นมากกว่าแผนที่เคยตั้งเป้าไว้ และปัจจุบัน OR ได้ขยาย EV Station PluZ ครอบคลุมแล้ว 77 จังหวัดทั่วประเทศ ในส่วนของศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto มีจำนวนทั้งสิ้น 97 สาขา
 
ขณะที่กลุ่มธุรกิจ Lifestyle มีเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม 4,402 สาขา แบ่งเป็นร้าน Cafe Amazon ในประเทศไทย 4,159 สาขา จำแนกเป็นสาขาในสถานีบริการ 2,232 สาขา และนอกสถานีบริการ 1,927 สาขา คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 53.7% และ 46.3% ตามลำดับ รวมทั้งมี Cafe Amazonในต่างประเทศ จำนวน 22 สาขา ร้านเท็กซัส ชิคเก้น มีเครือข่าย 100 สาขา สำหรับร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่นมีเครือข่าย 121 สาขา ได้แก่ เพิร์ลลี่ทีและ Pacamara Coffee Roasters

สำหรับธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ ร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ 7-Eleven และภายใต้แบรนด์ จิฟฟี่ ในประเทศไทย 27 สาขา