"พิมพ์ภัทรา"รุกดึงซาอุดิอาระเบียปักหมุดลงทุนผลิตปุ๋ย"โปแตซ"ในไทย

12 ม.ค. 2567 | 12:39 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2567 | 12:39 น.

"พิมพ์ภัทรา"รุกดึงซาอุดิอาระเบียปักหมุดลงทุนผลิตปุ๋ย"โปแตซ"ในไทย หลังมีโอกาสหารือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรธรณีของซาอุฯ ชี้ไทยมีแหล่งแร่ขนาดใหญ่ มีปริมาณสำรองจำนวนมาก 

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มีการหารือกับนายบันดาร์ อัลกอราเยฟ (H.E. Mr. Bandar bin Ibrahim Alkhorayef) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรธรณีของซาอุดิอาระเบีย ภายหลังการเข้าร่วมประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีในงาน Future Minerals Forum 2024 ที่กรุงริยาด โดยเสนอว่าทั้งสองประเทศสามารถร่วมมือกันในเรื่องปุ๋ยได้ 

ซึ่งซาอุดิอาระเบียผลิตและส่งออกปุ๋ยยูเรีย (N) และฟอสฟอรัส (P) ในขณะที่ไทยเป็นแหล่งแร่โปแตช (K) ที่สำคัญแหล่งใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย หากร่วมมือกันจะต่อภาพอุตสาหกรรมปุ๋ยได้ครบถ้วน 

ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียมองว่าประเทศไทยเป็นแหล่งความมั่นคงด้านอาหารและยาเวชภัณฑ์ ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างความมั่นคงในด้านนี้ร่วมกันได้เช่นกัน พร้อมทั้งรับจะนำเรื่องโปแตชไปเชิญชวนภาคเอกชนของซาอุดิอาระเบียที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนต่อไป เช่น MA’ADEN Manara Minerals 

นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า ประเด็นที่ไทยหยิบยกมาหารือ ได้แก่ การส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่และการลงทุนเกี่ยวกับแร่โปแตชและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ปุ๋ย โดยประเทศไทยมีแหล่งแร่โปแตชขนาดใหญ่ มีปริมาณสำรองจำนวนมาก 

"พิมพ์ภัทรา"รุกดึงซาอุดิอาระเบียปักหมุดลงทุนผลิตปุ๋ย"โปแตซ"ในไทย

ปัจจุบันได้มีการอนุญาตประทานบัตรให้ทำเหมืองไปแล้วจำนวน 3 ราย คาดการณ์ว่าจะเริ่มผลิตได้ในอีก 3-4 ปี มีกำลังการผลิตโปแตชประมาณรวมกว่า 3 ล้านตันต่อปี ตลอดอายุโครงการจะสามารถผลิตแร่โปแตชได้มากถึง 100 ล้านตัน 

ขณะที่ซาอุดิอาระเบียเป็นผู้ผลิตหลักของปุ๋ยยูเรีย และฟอสเฟต จึงมีความเป็นไปได้ในความร่วมมือเพื่อการลงทุนผลิตปุ๋ยร่วมกัน นอกจากนี้ ไทยพร้อมต่อยอดความร่วมมือทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแร่ในสิ่งที่ริเริ่มในเวที Future Minerals Forum (FMF2024) ในการพัฒนากรอบยุทธศาสตร์แร่ที่สำคัญในพหุภูมิภาคสร้างศูนย์กลางโลหะสีเขียวด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศในพหุภูมิภาค โดยไทยพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือดังกล่าว
 

นายอดิทัต กล่าวอีกว่า นายดามพ์ บุญธรรม เอกอัครราชทูตกรุงริยาด มีแผนงานในการพานักธุรกิจและผู้ประกอบการของซาอุดีอาระเบียไปศึกษาดูงานในกลุ่มธุรกิจที่สนใจในประเทศไทยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองประเทศจะได้ต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมการค้า และการลงทุนระหว่างกัน

นายบันดาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรธรณีของซาอุดิอาระเบีย ยืนยันว่าพร้อมจะขยายความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในทุกมิติที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้