"พิมพ์ภัทรา"สั่ง 3 เอกชนแจงแผนผลิต"โปแตช"ใน 3 เดือน

09 พ.ย. 2566 | 08:19 น.

"พิมพ์ภัทรา"สั่ง 3 เอกชนแจงแผนผลิต"โปแตช"ใน 3 เดือน เผยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบผู้ประกอบการทั้ง 3 รายมีสถานะการดำเนินการที่แตกต่างกัน ย้ำเป้าหมายหลักช่วยเหลือเกษตรกรไทยให้ได้ใช้ปุ๋ยราคาถูก

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการสั่งการให้กรมพื้นฐานอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ (กพร.) แจ้งผู้ผลิตเหมืองแร่โปรแตชทั้ง 3 รายที่ได้รับสัมปทาน ประกอบด้วย 

  • บริษัท อาเซียน โปแตซ ชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) หรือ APOT ตั้งอยู่ที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ 
  • บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา 
  • บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ APPC ตั้งอยู่ที่ อ.ประจักษ์ศิลปาคม และอ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี 

ทั้งนี้ เพื่อให้ทั้ง 3 รายชี้แจงแผนการลงทุนทั้งระบบ กรอบเวลาต่างๆ รวมถึงข้อติดขัด อุปสรรค ที่ทำให้โครงการมีความล่าช้า โดยให้ทั้ง 3 รายส่งข้อมูลมายังกระทรวงอุตสาหกรรมภายใน 3 เดือนนับจากนี้ ดังนั้นจะมีความชัดเจนของทั้ง 3 รายช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายมีสถานะการดำเนินการที่แตกต่างกันไป โดยบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด จ.ชัยภูมิ ได้รับประทานบัตร เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 มีอายุ 25 ปี ขณะนี้โครงการยังไม่คืบหน้ามากนัก เนื่องจากอยู่ระหว่างระดมเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงการ 

"พิมพ์ภัทรา"สั่ง 3 เอกชนแจงแผนผลิต"โปแตช"ใน 3 เดือน

ด้านบริษัท ไทยคาลิ จำกัด จ.นครราชสีมา ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 มีอายุ 25 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาน้ำรั่วในอุโมงค์ใต้ดินก่อนถึงชั้นแร่ 

ขณะที่บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด จ.อุดรธานี ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 มีอายุ 25 ปี ล่าสุดได้เริ่มมีการเข้าพื้นที่และกำลังจะเริ่มเจาะอุโมงค์ โดยจะพบว่า 2 บริษัทแรกได้รับประทานบัตรมานาน 8 ปีแต่ยังไม่มีความคืบหน้า ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมต้องเข้าไปจัดการให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า เป้าหมายสำคัญที่สุดในการสนับสนุนการทำเหมืองแร่โปรแตช คือ การช่วยเหลือเกษตรกรไทยให้ได้ใช้ปุ๋ยราคาถูก ปุ๋ยที่ผลิตในประเทศ เพราะไทยมีแร่โปรแตชซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตปุ๋ยแต่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ 

อย่างไรก็ดีการนำแร่ขึ้นมาต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานการทำเหมืองที่ปลอดภัย มาตรฐานสากล ชุมชนรอบพื้นที่ยอมรับ ไม่กระทบชุมชนและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงทำให้บางโครงการ อาทิ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จ.นครราชสีมา อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาน้ำรั่วในอุโมงค์ใต้ดินก่อนถึงชั้นแร่ ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบและได้มาตรฐานสูงสุด

"การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการกระทรวงอุตสาหกรรมให้เร่งรัดผู้รับสัมปทานเหมืองแร่โปรแตช 3 ราย ใน 3 จังหวัด ให้เร่งผลิตเพื่อนำวัตถุดิบเข้าระบบ"  

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) รักษาการอธิบดีกพร. กล่าวว่า กพร.จะประสานให้เอกชนทั้ง 3 รายเร่งส่งแผนดำเนินการมาภายใน 3 เดือน โดยจากข้อมูลการทำเหมืองของแต่ละรายพบว่าต่างมีอุปสรรคต่างกันไป โดยเฉพาะ บริษัท อาเซียน โปแตซ ชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ต้องดูว่าจะเดินหน้าระดมทุนอย่างไรให้สำเร็จ 

และ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จ.นครราชสีมา ที่มี 2 ประเด็นสำคัญคือ บริษัทแจ้งเปลี่ยนผังจากอุโมงค์เอียงเป็นอุโมงค์ตั้ง 3 อุโมงค์ ทางกพร.จึงให้ทำแผนชี้แจงอย่างละเอียดส่งมาให้พิจารณาก่อนเพื่อความปลอดภัย อีกทั้งยังมีประเด็นชาวบ้านร้องเรียนค่าความเค็ม ล่าสุดได้มอบหมายให้ นายเศรษฐรัชต์ เลือดสกุล รองอธิบดีกพร. เป็นประธานคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้ กำหนดกรอบเวลาทั้งหมดต้องชัดเจนภายใน 3 เดือน