“พิมพ์ภัทรา”ตั้ง"กรมอุตสาหกรรมฮาลาล"สนองนายกฯ รุกตลาดโลก

07 พ.ย. 2566 | 18:38 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ย. 2566 | 18:38 น.

“พิมพ์ภัทรา”ตั้ง"กรมอุตสาหกรรมฮาลาล"สนองนายกฯ รุกตลาดโลก หลังหารือร่วมกัน มุ่งให้ความสำคัญของกลุ่มงานอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างเป็นรูปธรรม และมีกระบวนการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการสั่งการ และหารือกับทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้เร่งดูขั้นตอนของกฎหมายเพื่อยกอุตสาหกรรมฮาลาล โดยการจัดตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาล ให้เป็นหน่วยงานระดับกรมที่สังกัดอยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการให้ความสำคัญของกลุ่มงานอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างเป็นรูปธรรม และมีกระบวนการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีความรับผิดชอบอย่างชัดเจนในรูปของกรม 

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวมาจากการหารือร่วมกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง การเร่งยกระดับอุตสาหกรรม “ฮาลาล” ซึ่งมองว่าจะเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทย 

โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวคิดเพื่อความรวดเร็วและเห็นผลการปฏิบัติว่า จะต้องมีหน่วยงานหลักระดับ “กรม” ซึ่งจะต้องเป็นอีกกรมหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรมทำงานรองรับอุตสาหกรรมนี้โดยเฉพาะจากความละเอียดอ่อนในแง่มุมต่าง ๆ และการควบคุมมาตรฐานให้เป็นไปตามหลักการฮาลาลสากล

"รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล มองเห็นโอกาสการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในระดับโลก เพราะมีผู้บริโภคที่กว้างขวางมากในประเทศกลุ่มมุสลิมหลายภูมิภาคของโลก ทั้งตะวันออกกลาง แอฟริกา หรือแม้แต่ในภูมิภาคเอเชีย"

“พิมพ์ภัทรา”ตั้ง"กรมอุตสาหกรรมฮาลาล"สนองนายกฯ รุกตลาดโลก

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับอุตสาหกรรมฮาลาลพบว่า 

ข้อมูลสถิติประชากรโลกของ Pew Research Center พบว่า ปี 2565 มีประชากรนับถือศาสนาอิสลาม 1.9 พันล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 23.54% ของประชากรโลก ประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมมากที่สุด คือ อินโดนีเซีย 229 ล้านคน รองลงมา ได้แก่ ปากีสถาน 200 ล้านคน อินเดีย 195 ล้านคน บังกลาเทศ 154 ล้านคน และไนจีเรีย 99 ล้านคน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า สนค. ได้ศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์สินค้าอาหารฮาลาล พบว่า ปัจจุบันตลาดอาหารฮาลาล (Halal Food) กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากประชากรในกลุ่มประเทศมุสลิมมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องและมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันไทยมีการผลิตอาหารฮาลาลเพื่อจำหน่ายแก่มุสลิมในประเทศ และส่งออกไปในต่างประเทศ

โดยไทยมีจุดแข็งด้านคุณภาพวัตถุดิบ อีกทั้งอุตสาหกรรมอาหารของไทยยังมีความเข้มแข็ง มีชื่อเสียงที่ดีในตลาดโลก ทั้งในด้านมาตรฐาน คุณภาพ และรสชาติอาหารไทย

ประเภทสินค้าอาหารฮาลาลที่ไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ OIC ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรกของปี 2564 ได้แก่ ธัญพืช มูลค่าการส่งออก 1,063.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ   ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลา สัตว์น้ำฯ มูลค่า619.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  น้ำตาลและขนมทำจากน้ำตาล มูลค่า522.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง สตาร์ช หรือนม ผลิตภัณฑ์อาหารจำพวกพาย มูลค่า330.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ มูลค่า260.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“พิมพ์ภัทรา”ตั้ง"กรมอุตสาหกรรมฮาลาล"สนองนายกฯ รุกตลาดโลก

ส่วนตลาดส่งออกอาหารฮาลาลของไทย (เฉพาะกลุ่มประเทศ OIC) ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรกของปี 2564 ได้แก่  มาเลเซีย มูลค่าส่งออก 1,193.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  อินโดนีเซีย 885.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 228.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  อียิปต์ 225.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ) เยเมน 165.00 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากการส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยังตลาดต่างประเทศแล้ว ตลาดอาหารฮาลาลในประเทศก็เป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศชาวมุสลิม ดัชนีการท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลก (Global Muslim Travel Index: GMTI) ปี 2022  จัดทำโดย Mastercard-CrescentRating รายงานว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ของจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับชาวมุสลิม เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม (Non-OIC) รองจากสิงคโปร์ และไต้หวัน ซึ่งอันดับสูงขึ้นจากปี 2021 ที่อยู่ในอันดับที่ 4

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในปัจจุบันระบบฮาลาลของไทยจะเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศของกลุ่มประเทศมุสลิม แต่ไทยยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาลให้ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน โดยต้องศึกษาข้อมูลและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง ศึกษาความแตกต่างด้านมาตรฐานฮาลาลของแต่ละประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เครื่องหมายฮาลาลของไทยได้รับการยอมรับและน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น ทั้งผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศชาวมุสลิม โดยผู้ประกอบการจะต้องพัฒนาสินค้าอาหารฮาลาล รวมทั้งสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมไปพร้อม ๆ กัน อาทิ ร้านอาหาร โรงแรม และสปา

“หากไทยสามารถผลักดันการส่งออกอาหารฮาลาลได้เพิ่มขึ้น ขยายตลาดส่งออกเดิมและเพิ่มโอกาสในตลาดใหม่ ๆ ก็จะเป็นการช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมอาหารของไทย รวมทั้งกระจายรายได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตรซึ่งเป็นผู้ป้อนวัตถุดิบเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารอีกด้วย”