“สยามซีเพลน” ทุ่ม 1.7 พันล้าน เปิดธุรกิจเครื่องบินทะเลในไทย

04 มี.ค. 2567 | 15:54 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2567 | 15:55 น.
1.2 k

ประเทศไทยกำลังจะมีธุรกิจเครื่องบินสะเทิ้นนํ้าสะเทิ้นบก หรือ เครื่องบินทะเล หรือ ซีเพลน (Seaplane) เหมือนที่มัลดีฟส์แล้ว ซึ่งรูปแบบการดำเนินธุรกิจในไทยจะเป็นเช่นไร “วรกัญญา สิริพิเดช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามซีเพลน จำกัด มีคำตอบ

KEY

POINTS

  • ไทยกำลังจะมีธุรกิจเครื่องบินสะเทิ้นนํ้าสะเทิ้นบก หรือ เครื่องบินทะเล  (Seaplane) เหมือนที่มัลดีฟส์แล้ว รอกพท.ประกาศจุดขึ้นลงชั่วคราวในทะเล
  • สยามซีเพลน ประกาศเดินหน้าลงทุน 1.7 พันล้านบาท เปิดธุรกิจเครื่องบินทะเล หรือ ซีเพลนในไทย นำร่อง 10 เส้นทางบิน
  • เน้นตลาดพรีเมี่ยม ตั้งราคาขาย 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ชั่วโมง (ไม่รวมภาษีสนามบิน) หรือราว 80,000 บาทต่อ 1 ชั่วโมง

"วรกัญญา สิริพิเดช" ซีอีโอ สยามซีเพลน เปิดใจว่า สยามซีเพลน ก่อตั้งโดยกลุ่มคนที่อยู่ในแวดวงการบิน ที่มองเห็นโอกาสการเปิดธุรกิจเครื่องบินทะเล ระดับพรีเมี่ยม เป็นการให้บริการรูปแบบใหม่ในไทย ที่สามารถขึ้นและลงจอดได้ทั้งบนบกและบนนํ้า หรือ Seaplane ในไทย ซึ่งตนเองเคยเป็นแอร์โฮสเตทมาก่อน ขณะที่นักบิน คือ “โทมัส บอมบ์การ์ดเนอร์” ก็เป็นนักบินที่มีประสบการณ์บินเครื่องบินทะเลอยู่แล้ว เราจึงได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ คือ บริษัท ซีเพลน เอเชีย ที่จดทะเบียนอยู่ที่ฮ่องกง ร่วมกันลงทุนเปิดธุรกิจซีเพลนในไทย ภายใต้ชื่อ “สยามซีเพลน”

วรกัญญา สิริพิเดช

ที่ผ่านมาสยามซีเพลนได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ (Air Operating Licence) หรือ AOL จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการขอใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) จากกพท. ซึ่งเราก็คาดหวังว่าจะได้รับ AOC ภายในไตรมาสแรกปี 2567 นี้ เพื่อเริ่มดำเนินธุรกิจได้

แผนการดำเนินธุรกิจในช่วง 3 ปีแรกของการเปิดให้บริการ จะใช้เครื่องบิน Cessna Grand Caravan EX 208 B  จำนวน 3 ลำ จุผู้โดยสาร 8 ที่นั่ง มี 3 เครื่องยนต์ ศักยภาพในการบิน 2 ชั่วโมงครึ่ง ใช้งบลงทุนราว 350-400 ล้านบาท คาดว่าจะคืนทุนในช่วง 5-10 ปี

สยามซีเพลน

ทั้งนี้หากสยามซีเพลนได้รับ AOC ก็จะเริ่มปฏิบัติการบินจากสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ไปยังฝั่งอ่าวไทย และภาคตะวันออก  และเส้นทางจากภูเก็ต หรือกระบี่ ไปยังเกาะต่างๆ ในภาคใต้ ที่จะเปิดให้บริการระยะแรก 10 เส้นทาง อาทิ  พัทยา (โอเชียน มารีน่า) ระยอง ตราด หัวหิน กระบี่ พังงา เกาะยาวน้อย หลีเป๊ะ เกาะพีพี เขาหลัก ซึ่งเครื่องบินจะสามารถลดจอดได้ทั้งบนบกและทะเล

“สยามซีเพลน” ทุ่ม 1.7 พันล้าน เปิดธุรกิจเครื่องบินทะเลในไทย

โดยจุดลงจอดในนํ้าหรือในทะเล จะมีจุดขึ้นลงชั่วคราวที่กพท.กำลังมีกฏระเบียบออกมา รูปแบบจะใช้โมเดลเหมือนมัลดีฟส์ ซึ่งบนเกาะอาจมีส่วนหนึ่งที่เป็นท่าเรือโป๊ะ หรือโป๊ะลอยในนํ้าเฉยๆ โดยยึดแต่ข้างล่างอย่างเดียว หรือเป็นโป๊ะลอยอยู่กลางทะเลไม่ได้ยึดติดกับอะไรก็ได้ และใช้เรือรับ-ส่งผู้โดยสาร รูปแบบเหมือนที่ทำกันในต่างประเทศ

สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเรามองไปที่กลุ่มพรีเมี่ยม ซึ่งจะมีมากกว่ากลุ่มลักชัวรี อารมณ์แบบไม่ถึงขั้นบิสิเนสคลาส แต่ฟิลแบบพรีเมี่ยม อีโคโนมี และเรายังมองกลุ่มท่องเที่ยวแบบ Experience Lifestyle หรือการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ ทั้งคนไทยและต่างชาติที่มีกำลังจ่าย เนื่องจากการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์เป็นตลาดการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่องหลังโควิด-19 ซึ่งการนั่งซีเพลนก็เป็นอีกหนึ่งในประสบการณ์ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตที่คนอยากลอง

“สยามซีเพลน” ทุ่ม 1.7 พันล้าน เปิดธุรกิจเครื่องบินทะเลในไทย

รวมถึงนักท่องเที่ยวหรือผู้โดยสารชาวต่างชาติ ก็ต้องการความสะดวกและยอมจ่ายเพื่อความสะดวก อย่างเขาบินมาจากต่างประเทศมาลงเครื่องบินที่สนามบินนานาชาติภูเก็ต ก็มาต่อซีเพลนไปเที่ยวหลีเป๊ะได้เลย ไม่ต้องนั่งรถหรือนั่งเรือต่อไปที่ต้องใช้เวลานาน หรือ ผู้โดยสารที่อาจอยู่บนเกาะแห่งหนึ่งในกระบี่ อยากเดินทางกลับมายังสนามบินบนฝั่ง การใช้ซีเพลน ก็ทรานเฟอร์ผู้โดยสารก็จะสะดวกรวดเร็วกว่าเช่นกัน

ขณะที่การตั้งราคาขายจะอยู่ที่ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ชั่วโมง (ไม่รวมภาษีสนามบิน) หรือราว 80,000 บาท ซึ่งในเว็บไซต์เราก็จะมีเส้นทางบินให้ลูกค้าดูเป็นไกด์ไลน์ เช่น จากภูเก็ตไปหลีเป๊ะ 40-45 นาที กรุงเทพ-พัทยา ประมาณ 25-35 นาที ถ้าบินตํ่ากว่า 1 ชั่วโมงก็คิดไปตามจริง อย่างพัทยา ก็อยู่ที่ราว 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลูกค้าจะได้วางแผนการเดินทาง หรือเช่าเหมาลำก็ได้ เป็นต้น

ด้วยความที่สยามซีเพลนจับตลาดพรีเมี่ยม จึงตั้งราคาขายอยู่ในระดับนี้ เครื่องบินที่เราให้บริการก็มีความสะดวกสบาย มีห้องนํ้าในตัว เป็นราคากลางๆ ที่ลูกค้าจ่ายได้ เมื่อหารกันอยู่ที่ 8 คน ก็ได้รับความสะดวกสบายไม่แพ้ไพเวทเจ็ทที่ปกติจะคิดราคาอยู่ที่ 3 แสนบาทที่แพงกว่ากันเกินเท่าตัว ซึ่งปัจจุบันเราทำเอ็มโอยูกับโรงแรมต่างๆ ในไทยรวมกว่า 40-50 แห่งระหว่างนี้ ส่วนมากเป็นโรงแรม ระดับพรีเมี่ยม เช่น โรงแรมเชนอินเตอร์คอนติเนนตัล เชนดับเบิ้ลยู เนื่องจากโรงแรมก็อยากมีซีเพลนไว้บริการรับส่งลูกค้า หรือการทำไปแพ็คเกจรวมไปกับของทางโรงแรม เป็นต้น

ส่วนเป้าหมายปีแรกในการดำเนินธุรกิจ จากการเริ่มต้นด้วยเครื่องบิน 3 ลำ คาดหวังผู้โดยสาร 20,000-25,000 คนต่อปี เฉลี่ยค่าตั๋วเครื่องบินคนละ 10,000 บาท จากจำนวนผู้โดยสาร 8 คน ก็น่าจะทำให้เรามีรายได้อยู่ที่ราว 250-300 ล้านบาทต่อปี และหากธุรกิจไปได้ดี เราก็วางแผนจะเพิ่มจำนวนเครื่องบิน 15 ลำ ภายใน 5 ปี ใช้งบลงทุนราว 1,700 ล้านบาท

“สยามซีเพลน” ทุ่ม 1.7 พันล้าน เปิดธุรกิจเครื่องบินทะเลในไทย

ขณะเดียวกันเราก็อยากเสนอแนวคิดที่จะทำให้ธุรกิจซีเพลนในไทย สามารถเกิดและเติบโตได้ จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐพอสมควร เนื่องจากเป็นซีเพลนเป็นธุรกิจใหม่สำหรับประเทศไทย แต่นโยบายของรัฐที่ใช้อยู่ จะคิดบนพื้นฐานเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งไม่เอื้อต่อผู้ประกอบการรายย่อยหรือรายกลาง หรือธุรกิจการบินทั่วไป (General Aviation) จะสามารถเกิดและเติบโตได้เท่าที่ควร

เช่น การจ่ายค่าขึ้น-ลงสนามบินดอนเมือง เราต้องจ่าย 3.5 หมื่นบาทเท่ากับเครื่องบินขนาดใหญ่ที่จุผู้โดยสาร 300 กว่าที่นั่ง ทั้งๆ ที่เรามีผู้โดยสารแค่ 8 ที่นั่ง หรือ ค่าบริการภาคพื้นก็ต้องจ่ายเท่านั้น ทั้งๆ ที่เครื่องเล็กเช่นนี้เราสามารถดูแลเองได้

นี่เองทำให้เครื่องบินไพเวทเจ็ทต้องคิดค่าตั๋วเครื่องบินในราคาสูง และไม่สามารถมีทางเลือกให้ลูกค้าหรือประชาชนมากนัก เราจึงอยากเสนอว่า  1. การคิดค่าบริการภาคพื้น (Ground Handling) ให้พิจารณาตามความเหมาะสม ตามความเป็นจริง เพราะตอนนี้เครื่องบินเล็กใหญ่คิดราคาเท่ากัน และ 2. วุฒิสภามีแนวคิด ที่อยากให้เราบินในสนามบินที่ไม่ค่อยมีผู้โดยสารมากนัก เพื่อขยายเส้นทางบิน ซึ่งเขามีแนวคิดจะสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน เราก็หวังว่าถ้าเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นประโยชน์ที่จะทำให้สนามบินของกรมท่าอากาศยานหรือทย.ที่เขาอยากให้เราบิน เช่น เบตง, หัวหิน, เพชรบูรณ์ จะเกิดขึ้นได้

ส่วนที่มีบางคนกังวัลว่า การดำเนินธุรกิจซีเพลน จะทำให้เกิดมลพิษทางเสียงหรือประการังหรือไม่นั้น อยากจะบอกว่าไม่ต้องกังวล เพราะความดังของซีเพลน อยู่ที่ 75 เดซิเบล เทียบกับ เจ็ทสกี อยู่ที่ 110 เดซิเบล สปีดโบ๊ท อยู่ที่ 90 เดซิเบล และเครื่องบินของสยามซีเพลน ใบพัดจะอยู่ด้านหน้าคนนั่งก็จะไม่รู้สึกว่าเสียงดังด้วย รวมถึงจะไม่มีการเติมนํ้ามัน หรือล้างเครื่องบินในทะเล เพราะเราทำจากบนบกทั้งหมด หรือที่ขึ้นลงในทะเลก็เป็นแค่จุดขึ้นลงชั่วคราวเท่านั้น