กพท.เปิด 9 สายการบินใหม่ของไทย เปิดบินปี67 ชิงตลาดการบิน 3.2 แสนล้าน

20 พ.ย. 2566 | 10:22 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2566 | 15:59 น.
3.2 k

กพท. เปิดชื่อ 9 สายการบินใหม่สัญชาติไทย ยื่นขอจัดตั้งสายการบิน พร้อมสยายปีกบิน ปี 2567 ชิงตลาดธุรกิจการบิน 3.2 แสนล้านบาท รับปีแห่งการฟื้นตัว

การยื่นขอจัดตั้งสายการบินสัญชาติไทยรายใหม่ของไทย ล่าสุดสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท.ได้อนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ (Air Operating Licence) หรือ AOL ให้แก่ สายการบินรายใหม่ของไทย จำนวน 9 สายการบินแล้ว ได้แก่

  • เรียลลี คูล แอร์ไลนส์ ของ นายพาที สารสิน 
  •  P 80 air ของตระกูลมหากิจศิริ
  • พัทยา แอร์เวย์
  • สยามซีเพลน
  •  แลนดาร์ช แอร์ไลน์
  •  เอเชีย แอทแลนติก แอร์ไลน์
  •  กรุงเทพ เฮลิคอปเตอร์ เซอร์วิสเซส ของเจ้าสัวปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ไลเซ้นท์เดิมหมดอายุเพิ่งจะมาต่อใหม่
  •  อวานติ แอร์ ซาร์เตอร์
  •  เอเชี่ยน แอร์โรสเปซ เซอร์วิส

โดยทั้ง 9 สายการบินในขณะนี้ ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างรอการพิจารณาการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate) หรือ AOC เพื่อให้สามารถปฏิบัติการบินได้ โดยคาดว่าจะเริ่มทำการบินได้ ภายในปีหน้า ภายใต้การลงทุนไม่ต่ำกว่า 3,850 ล้านบาท เพื่อชิงตลาดอุตสาหกรรมธุรกิจการบินสัญชาติไทยที่มีมูลค่าตลาดราว 3.2 แสนล้านบาทก่อนเกิดโควิด แต่จากโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจหดตัว โดยในปี 2565 พบว่ามีมูลค่าราว 1.2-1.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 40% ของมูลค่าอุตสาหกรรมโดยรวมในปี 2562 และในปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ในขณะนี้มีผู้ประกอบการยื่นคำขอรับใบอนุญาตกิจการการบินพลเรือน เป็นผู้ประกอบการรายใหม่รวมจำนวน 9 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมยื่นขอใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate : AOC) เพื่อให้สามารถให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป สอดรับกับปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการบินในไทยตอนนี้อยู่ในช่วงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง  

สุทธิพงษ์ คงพูล

สำหรับ 9 สายการบินสัญชาติไทย ที่ยื่นขอจดทะเบียนใหม่ ประกอบด้วย

  • บริษัท เอเชี่ยน แอร์โรสเปซ เซอร์วิส จำกัด โดยได้รับอนุญาตให้ทำการบินตั้งแต่ 16 ต.ค.2564-15 ต.ค.2569 ประเภทการบินแบบไม่ประจำ
  • บริษัท สยาม ซีเพลน จำกัด ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 3 พ.ค.2566-2 พ.ค.2571 ประเภทคำขอทำการบินแบบไม่ประจำ

สยามซีเพลน

  • บริษัท อาร์ ซี แอร์ไลนส์ จำกัด (Really Cool Airlines)) ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 18 ก.ค.2566-17 ก.ค.2571 ประเภทคำขอทำการบินแบบประจำมีกำหนด และแบบไม่ประจำ

เรียลลี คูล แอร์ไลนส์

  • บริษัท อวานติ แอร์ ซาร์เตอร์ จำกัด ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 27 ก.ค.2566-26 ก.ค.2571 ประเภทคำขอทำการบินแบบไม่ประจำ
  • บริษัท เอ็ม-แลนดาร์ซ จำกัด ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 27 ก.ค.2566-26 ก.ค.2571 ลักษณะคำขอทำการบินแบบประจำมีกำหนด และแบบไม่ประจำ

แลนดาร์ช แอร์ไลน์

  • บริษัท กรุงเทพเฮลิคอปเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัด ปัจจุบันได้รับ AOC แล้ว โดยมีระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 23 ส.ค.2566-22 ส.ค.2571 โดยทำคำขอทำการบินแบบไม่ประจำ
  • บริษัท พัทยา แอร์เวย์ จำกัด ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 28 ส.ค.2566-27 ส.ค.2571 ลักษณะคำขอทำการบินแบบไม่ประจำ โดยเป็นคำขอทำการบินสำหรับการขนส่งเฉพาะสินค้าเท่านั้น

พัทยา แอร์เวย์

  • บริษัท เอเชีย แอทแลนติก แอร์ไลน์ส จำกัด ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 29 ส.ค.2566-28 ส.ค.2571 โดยทำคำขอประเภทการบินแบบประจำมีกำหนด
  • บริษัท พี 80 แอร์ จำกัด ( P80 Air)  ยื่นทำคำขอจดทะเบียน 2 รายการ ได้รับระยะเวลาอนุญาตทำการบิน 31 ส.ค.2566-30 ส.ค.2571 โดยจะทำการบินแบบประจำมีกำหนด และแบบไม่ประจำ

P 80 Air

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ประกอบการธุรกิจการบินที่ต้องการยื่นคำขอจดทะเบียนในไทยจำนวนมาก ซึ่งตามกระบวนการต้องยื่นคำขอพิจารณาเพื่อจัดทำใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (AOL) และทำใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ โดยทั้ง 2 ส่วน กพท.จะพิจารณาทั้งแผนธุรกิจ สถานะทางการเงิน รวมไปถึงหลักเกณฑ์มาตรฐานบริการที่จะมีผลต่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด เพื่อไม่ให้เกิดกรณีลอยแพผู้โดยสาร

ขณะที่ภาพรวมของผู้ประกอบการสายการบินที่จดทะเบียนในไทย กพท. ยืนยันว่าขณะนี้ไม่มีสายการบินใดที่เข้าข่ายธุรกิจ หรือสถานะทางการเงินที่จะส่งผลต่อการปิดกิจการ และส่งผลต่อผู้โดยสาร แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาหลายสายการบินจะปรับลดต้นทุนดำเนินธุรกิจ ขายและคืนเครื่องบินจำนวนมาก แต่ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณบวก หลายสายการบินทยอยรับมอบเครื่องกลับมาให้บริการ และมีฐานะทางการเงินดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้กพท.ประเมินว่าการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินที่เกิดขึ้นในขณะนี้ใกล้เคียงกลับสู่สถานการณ์ปกติก่อนเกิดโควิด 19 โดยพบว่าปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารฟื้นตัว 90% จากปี 2562 ที่มีจำนวนประมาณ 160 ล้านคน ขณะที่ตลอดทั้งปี 2566 กพท.คาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารรวม 127 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ ประมาณ 63.03 ล้านคน และผู้โดยสารในประเทศ ประมาณ 64.43 ล้านคน

ส่วนแนวโน้มในปี 2567 คาดการณ์ว่าจะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน จะมีปริมาณผู้โดยสารกลับสู่สภาวะปกติ โดยประเมินตัวเลขอยู่ที่ 162 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ ประมาณ 88.62 ล้านคน และผู้โดยสารในประเทศ ประมาณ 74.05 ล้านคน

ทำความรู้จัก 9 สายการบินใหม่ของไทย

  • บริษัท เอเชี่ยน แอร์โรสเปซ เซอร์วิส จำกัด

ได้รับอนุญาตให้ทำการบินตั้งแต่ 16 ต.ค. 2564 – 15 ต.ค.2569 ประเภทการบินแบบไม่ประจำ ทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท มีกรรมการ 3 คน คือ นายประทีป บุญประสม , นายฮิวเบอร์ท โจเซฟ ทรันเซอร์ และร้อยเอกธรรมนูญ ใจทัน

  • บริษัท สยาม ซีเพลน จำกัด

ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 3 พ.ค.2566 – 2 พ.ค.2571 ประเภทคำขอทำการบินแบบไม่ประจำ ทุนจดทะเบียน 32 ล้านบาท มีกรรมการ 4 คน คือ นายเดนนิส อิมมานูเอล เคลเลอร์ , นายไมเคิล เบลนีย์ เดวิดสัน , น.ส.วรกัญญา สิริพิเดช และนายโทมาส บอมบ์การ์ดเนอร์

  • บริษัท อาร์ ซี แอร์ไลนส์ จำกัด (สายการบิน Really Cool)

ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 18 ก.ค.2566 – 17 ก.ค.2571 ประเภทคำขอทำการบินแบบประจำมีกำหนด และแบบไม่ประจำ ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท มีกรรมการ 2 คน คือ นายพาที สารสิน และนายมาส ตันหยงมาศ

สายการบิน Really Cool จะเริ่มให้บริการปี 2567 ด้วยเครื่องบินแอร์บัส A330-300 ลำแรกเข้าประจำการเดือน ม.ค. ส่วนลำที่ 2 เข้าประจำการเดือน มี.ค. และอีก 2 ลำในครึ่งปีหลัง รวมปี 2567 มีเครื่องบินรวม 4 ลำรองรับเส้นทางบินระยะกลาง

สำหรับเส้นทางบินเริ่มที่ 2 เส้นทางแรกจากกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สู่ โตเกียว (นาริตะ) และ นาโกยา เริ่มด้วยบริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) ในเดือน มี.ค.-พ.ค. 2567 ก่อนจะเริ่มให้บริการเที่ยวบินประจำตั้งแต่เดือน มิ.ย. หรือ ก.ค.2567 จากนั้นจะเพิ่มเส้นทาง กรุงเทพฯ – ฮอกไกโด ในช่วงไฮซีซันปลายปีหน้า รวมทั้งเตรียมเปิดเส้นทางบินสู่ ฮ่องกง, สิงคโปร์, เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และจอร์เจีย ส่วนต้นปี 2568 จะจัดหาเครื่องบินทางเดินคู่ แอร์บัส A350 และโบอิ้ง B787 เข้าประจำการ เพื่อทำการบินสู่เส้นทางยุโรป

  • บริษัท อวานติ แอร์ ชาร์เตอร์ จำกัด

ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 27 ก.ค.2566 – 26 ก.ค.2571 ประเภทคำขอทำการบินแบบไม่ประจำ ทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2561 โดยมีกรรมการ 1 คน คือ นายกสิณพจน์ รอดโค

  • บริษัท เอ็ม - แลนดาร์ช จำกัด

ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 27 ก.ค.2566 – 26 ก.ค.2571 ลักษณะคำขอทำการบินแบบประจำมีกำหนด และแบบไม่ประจำ ทุนจดทะเบียน 92.7 ล้านบาท มีกรรมการ 3 คน คือ นายธานี ธราภาค , นายธนา ธราภาค และนางทิพวัลย์ แก้วเงิน

บริษัท เอ็ม - แลนดาร์ซ จำกัด มีแผนที่จะนำเครื่องบินขนาดเล็ก 19 ที่นั่ง รุ่น C408 Sky courier มาใช้บินเส้นทาง เบตง-หาดใหญ่, เบตง-ภูเก็ต, เบตง-นราธิวาส รวมทั้งเคยชนะการประมูลของกองทัพบกหลายโครงการ เช่น การเสนอราคาซื้อเครื่องบินใช้งานทั่วไปขนาดเบา แบบที่ 2 แบบ CESSNA รุ่น Grand Caravan EX ติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐาน พร้อมชิ้นส่วนซ่อมและบริภัณฑ์ภาคพื้น 2 เครื่อง เป็นการประมูลแบบวิธีเฉพาะเจาะจง เสนอราคา 299.98 ล้านบาท

บริษัท กรุงเทพเฮลิคอปเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัด

ปัจจุบันได้รับ AOC แล้ว โดยมีระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 23 ส.ค.2566 – 22 ส.ค.2571 ซึ่งทำคำขอทำการบินแบบไม่ประจำ ทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท มีกรรมการ 7 คน เช่น นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ , นางสาวปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัท กรุงเทพเฮลิคอปเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัด ได้ให้บริการเฮลิคอปเตอร์การแพทย์ฉุกเฉิน Sky ICU (Rotor wings) 2 ลำ สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยของโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS

  • บริษัท พัทยา แอร์เวย์ จำกัด

ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 28 ส.ค.2566 – 27 ส.ค.2571 ลักษณะคำขอทำการบินแบบไม่ประจำ โดยเป็นคำขอทำการบินสำหรับการขนส่งเฉพาะสินค้าเท่านั้น มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท โดยมีกรรมการ 2 คน คือ นายทศพร อสุนีย์ และนายณัฏฐน์ บุณยวิชญ์กานนท์

นายทศพร เป็นประธานบริหารกลุ่มบริษัทพัทยา โดยดำเนินธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ ทั้งการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า และมีแผนเริ่มทำการบินในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 จะให้บริการการขนส่งสินค้าทางอากาศ โดยเน้นกลุ่มลูกค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก และจะขยายไปภูมิภาคอื่นต่อไป

  • บริษัท เอเชีย แอทแลนติก แอร์ไลน์ส จำกัด

ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 29 ส.ค.2566 – 28 ส.ค.2571 โดยทำคำขอประเภทการบินแบบประจำมีกำหนด ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 249 ล้านบาท มีกรรมการ 2 คน คือ นายภักดี มะแอ ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาเที่ยวบินพิเศษฮัจย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และกรรมการอีกคน คือ น.ส.พิมพ์ลภัส ธรรมรัตนางกูร

  • บริษัท พี 80 แอร์ จำกัด

ยื่นทำคำขอจดทะเบียน 2 รายการ ได้รับระยะเวลาอนุญาตทำการบิน 31 ส.ค. 2566 – 30 ส.ค. 2571 โดยจะทำการบินแบบประจำมีกำหนด และแบบไม่ประจำ ซึ่งทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท มีกรรมการ 8 คน เช่น นายประยุทธ มหากิจศิริ , นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ บริษัท พี 80 แอร์ จำกัด มีแผนจะเริ่มทำการบินได้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 โดยจะเริ่มทำการบินไปจีนด้วยเครื่องบิน 4 ลำ ในปีแรกจะใช้เครื่องบินแบบ B737-800 NG