เปิด 5 สายการบินใหม่ของไทยทุ่ม 4 พันล้าน เปิดบินปี67 ชิงตลาด 3.2 แสนล้าน

25 ต.ค. 2566 | 12:48 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2566 | 08:49 น.
17.6 k

เปิด 5 สายการบินใหม่สัญชาติไทย ลงทุนเฉียด 4 พันล้านบาท พร้อมสยายปีกบิน ปี 2567 ชิงตลาดธุรกิจการบิน 3.2 แสนล้านบาท หลังกพท.ไฟเขียวออกใบอนุญาตประกอบกิจการแล้ว เหลือขั้นตอนทำแผนธุรกิจ แผนปฏิบัติการบิน เพื่อให้ได้ไลเซ้นท์บิน

การยื่นขอจัดตั้งสายการบินสัญชาติไทยรายใหม่ของไทย ล่าสุดสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือกพท.ได้อนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ (Air Operating Licence) หรือ AOL ให้แก่สายการบินรายใหม่ของไทย จำนวน 5 สายการบินแล้ว

ได้แก่ เรียลลี คูล แอร์ไลนส์ , P 80 air,พัทยา แอร์เวย์,สยามซีเพลน และ แลนดาร์ช แอร์ไลน์(เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "อีซี่ แอร์ไลน์" (Ezy Airlines)  และทั้ง 5 สายการบินในขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate) หรือ AOC เพื่อให้สามารถปฏิบัติการบินได้

5 สายการบินใหม่ของไทยลงทุนเฉียด 4 พันล้าน

โดยทั้ง 5 สายการบินนี้ ได้แก่ เรียลลี คูล แอร์ไลนส์ , P 80 air,พัทยา แอร์เวย์,สยามซีเพลน และ แลนดาร์ช แอร์ไลน์ จะเริ่มทำการบินได้ ภายในปีหน้า ภายใต้การลงทุนไม่ต่ำกว่า 3,850 ล้านบาท เพื่อชิงตลาดอุตสาหกรรมธุรกิจการบินสัญชาติไทยที่มีมูลค่าตลาดราว 3.2 แสนล้านบาทก่อนเกิดโควิด แต่จากโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจหดตัว โดยในปี 2565 พบว่ามีมูลค่าราว 1.2-1.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 40% ของมูลค่าอุตสาหกรรมโดยรวมในปี 2562 และในปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง

สายการบินของไทยที่จะเปิดทำการบินในปี 2567

 

Really Cool Airlines สยายปีก Q2 ปีหน้า

นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบิน Really Cool Airlines (เรียลลี คูล แอร์ไลนส์) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หลังจากสายการบินได้รับ AOL ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ปัจจุบันสายการบินอยู่ระหว่างขอ AOC ซึ่งขณะนี้อยู่ในระยะ 3 แล้ว คาดว่าจะได้รับ AOC ภายในเดือนม.ค.ปี 2567 จากนั้นสายการบินจะเริ่มทำการบินได้ในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า

ช่วง 2 ปีแรกจะทำการบินในเส้นทางเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น,ฮ่องกง,สิงคโปร์,จอร์เจีย,เซี่ยงไฮ้ ด้วยเครื่องบินแอร์บัส A330-300 จำนวน 4 ลำ เริ่มจาก 2 ลำก่อน เริ่มจากเส้นทางบินสู่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเป็นเส้นทางบินแรก และจะรับมอบเพิ่มอีก 2 ลำในสิ้นปี จากนั้นในปี 2568 จะทำการบินสู่ยุโรป ด้วยเครื่องบินแอร์บัส A350 ที่จะเริ่มต้นที่ 1-2 ลำ โดยทั้งหมดเป็นเครื่องบินเช่า

พาที สารสิน

ขณะนี้สายการบินอยู่ระหว่างรับลูกเรือราว 130 คน เพื่อรองรับการเปิดบินในระยะแรกที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหลังได้รับ AOC จะเริ่มบินในลักษณะเที่ยวบินเช่าเหมาลำก่อน (ชาร์เตอร์ไฟล์ต) ในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.ปีหน้า จากนั้นก็จะทำการบินแบบประจำ จุดโฟกัสหลัก เราจะมองไปถึงการบินในยุโรปเป็นหลัก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

“เราจะไม่แข่งขันในเส้นทางบินที่การบินไทยทำอยู่แล้ว แต่จะเน้นบินในเมืองที่การบินไทยไม่ได้ทำการบิน ไม่ว่าจะเป็นเมืองรอง หรือเมืองต่างๆในยุโรป เพื่อเสริมกันและช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย เพราะเรามองลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 70% คนไทยอยู่ที่ 30% และเรียลลี คูล แอร์ไลน์ส จะเป็นสายการบินแรกของโลกที่จะเป็นอินโนเวทีฟ แอร์ไลน์ส เช่น บริการการส่งกระเป๋าถึงประตูบ้าน”

เรียลลี คูล แอร์ไลนส์

ต่อยอดแบรนด์สายการบินสร้างโปรดักซ์ใหม่

นายพาที ยังกล่าวต่อว่า การจัดตั้งสายการบินเรียลลี คูล แอร์ไลน์ส เป็นเพียงหนึ่งในกลุ่มธุรกิจภายใต้บริษัท อาร์ ซี แอร์ไลนส์ จำกัด ซึ่งเป็นการลงทุนของตนเองและกลุ่มเพื่อน แต่สิ่งที่เรามองต่อไป คือ การใช้แบรนด์เรียลลี คูล ที่มีความเข้มแข็งและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยขยายการสร้างโปรดักซ์ใหม่ ที่จะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจสายการบิน ซึ่งโปรดักซ์ใหม่จะมีทั้งการเชื่อมโยงกับธุรกิจสายการบิน หรือไม่เกี่ยวกับสายการบินก็ได้

ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่งที่จะทำรายได้ที่พอๆกับธุรกิจสายการบิน ไม่ใช่แค่ขายน้ำหนักกระเป๋า หรือขายสินค้าบนเครื่องบินทั่วๆไปที่ทุกสายการบินทำกัน แต่เราจะสร้างโปรดักซ์ที่ทำรายได้มากกว่านั้นมาก เช่น การร่วมกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านทั่วโลก เปิดให้บริการ เรียลลี คูล แท็กซี่,เรียลลีคูล เมดิคัล,เรียลลีคูล คาร์โก้ เป็นต้น

โดยการลงทุนในสายการบินและโปรดักซ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นภายใต้แบรนด์เรียลลี คูล จะใช้งบลงทุนทั้งหมดราว 1,000 ล้านบาท แต่ที่เราเปิดตัวสายการบินก่อน เพราะคนทั่วโลกจะสนใจ และกระจายแบรนด์ที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักได้เร็วที่สุด

"การสร้างโปรดักซ์ใหม่ๆเหล่านี้ขึ้นมา เพราะเรามองว่าจะพึ่งรายได้จากตระกร้าเดียวไม่ได้ เพราะธุรกิจการบินมีความผันผวนสูง ถ้าบินไม่ได้ก็จบ ผมมีประสบการณ์จากที่ทำธุรกิจสายการบินมานาน และจากวิกฤตโควิด -19 ทำให้เราต้องกระจายธุรกิจออกไปเพื่อทำให้เกิดอีโคซิสเต็ม ทำให้เกิดรายได้ในหลายตระกร้า ทำธุรกิจให้ทำกำไร มั่นใจว่าการกลับมาทำธุรกิจการบินในครั้งนี้จะไม่เจ๊งแน่นอน ไม่งั้นผมไม่กลับมาทำแน่นอน” นายพาที กล่าวทิ้งท้าย

P80 AIR เปิดบินไตรมาสสุดท้ายของปีหน้า

ขณะที่นายสรกฤช วรรณลักษณ์ ที่ปรึกษาอาวุโสและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กรบริษัท P80 แอร์ ( P80 AIR) กล่าวว่า สายการบิน “P80 AIR” ได้รับ AOL แล้ว จากนี้อีกราว 8-9 เดือนจากนี้จะใช้เวลาในกระบวนการขอ AOC หากได้รับ AOC ก็คาดว่าจะเริ่มบินได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีหน้า โดยในช่วง 2 ปีแรกจะทำการบินด้วยเครื่องบินโบอิ้ง B737-800 NG จำนวน 4 ลำ โดยจะเริ่มบินในเส้นทางบินสู่เมืองรองในจีนก่อน

P 80 air

แหล่งข่าวจากบริษัทโทรีเซนไทยเอเยนต์ซีสจำกัด(มหาชน)” หรือ“TTA” กล่าวว่า สายการบิน P80 แอร์ จดทะเบียนอยู่ภายใต้ TTA ของตระกูลมหากิจศิริ ซึ่งนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)ของสายการบิน ซึ่งการจัดตั้งสายการบินนี้ขึ้นเพื่อ เพื่อให้ TTA ขยายการให้บริการด้านโลจิสติก จากปัจจุบันดำเนินธุรกิจขนส่งทางเรือ โดยการลงทุนในธุรกิจสายการบินคาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 2,000 ล้านบาท แต่ในเบื้องต้นในช่วงจัดตั้งสายการบินใช้งบลงทุนราว 500 ล้านบาท

โดยในช่วงแรก จะเช่าเครื่องบินโบอิ้ง B737-800 NG มาให้บริการ 4 ลำก่อนในปีแรก และภายใน 4 ปีจะเพิ่มเป็น 20 ลำ และในขณะนี้มีการเปิดรับลูกเรือรอไว้แล้ว เน้นเปิดบินจากไทยไปยังเมืองรองในต่างประเทศ เบื้องต้นมองจุดบินไว้ที่ จีน ฮ่องกง และตะวันออกกลาง เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจากเมืองรองเข้ามาเที่ยวไทย เพื่อสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศ สายการบินจะให้บริการแบบฟูลเซอร์วิส และบนเที่ยวบินของสายการบินก็จะมีการเสิร์ฟเครื่องดื่มของ P80 ด้วย

พัทยา แอร์เวย์ เปิดบริการแอร์คาร์โก้ปี67

นายทศพร อสุนีย์ ประธานบริหารกลุ่มบริษัทพัทยา กล่าวว่า ‘พัทยา แอร์เวย์’ ได้รับ AOL แล้ว และมีแผนจะเริ่มทำการบินในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 โดยให้บริการการขนส่งทางอากาศอย่างเต็มรูปแบบ

พัทยา แอร์เวย์

โดยจะให้บริการในเส้นทางบินระหว่างประเทศในลักษณะการจับมือกับคู่ค้าพันธมิตร B2B เน้นเพิ่มเส้นทางบินไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน ด้วยการใช้เครื่องบินในการบรรทุก ATR72 Series และมีแผนขยายฝูงบินในปีที่ 3-5 (พ.ศ. 2569-2571) อีกจำนวน 3 ลำ รองรับตลาดที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการเติบโตในตลาดธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

สยามซีเพลน เจาะลูกค้ากลุ่มพรีเมี่ยมใช้Seaplane

สำหรับสายการบิน “สยามซีเพลน” ได้รับ AOL แล้วตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการขอ AOC ซึ่งสายการบินจะนำเครื่องบินแบบซีเพลน (เครื่องบินสะเทิ้นน้ำ สะเทิ้นบก) รุ่น Cessna caravan 208 สามารถลงจอดได้ทั้งบนบกและในน้ำ รองรับผู้โดยสารได้ 8-10 ที่นั่ง มาให้บริการ เจาะกลุ่มเจนวาย ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ

รวมถึงกลุ่มผู้บริหารและนักเดินทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางทำให้ผู้โดยสารสามารถเข้าถึงรีสอร์ทริมน้ำชายหาดและท่าจอดเรือได้ง่ายสะดวกรวดเร็ว โดยสายการบินเล็งเห็นโอกาสตลาดในกลุ่มพรีเมียมและตลาดหรูหรา คิดค่าบริการระหว่าง เที่ยวละ 8,000-10,000 บาทต่อชั่วโมงต่อคน

สยามซีเพลน

ทั้งนี้ทางบริษัทสยามซีเพลน มีแผนจะเริ่มนำร่องประเดิมบินสู่ “เกาะหลีเป๊ะ” จ.สตูล เป็นที่แรกในไทย ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางไปยังเกาะหลีเป๊ะเหลือประมาณ 30-45 นาทีเท่านั้น คาดว่าจะเริ่มในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 หรือต้นปีหน้า และจะเน้นให้บริการไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงโดยเฉพาะในภาคใต้ และอาจจะขยายไปยังภาคตะวันออกของไทยต่อไป

แลนดาร์ช แอร์ไลน์ บินเชื่อมฮับหาดใหญ่เม.ย.67

ในส่วนของ “แลนดาร์ช แอร์ไลน์” จะเปิดให้บริการเที่ยวบินระยะสั้นเพื่อเชื่อมต่อเมืองต่างๆในภาคใต้ ซึ่งในขณะนี้สายการบินได้รับ AOL แล้ว สายการบินมีแผนการเปิดให้บริการประมาณ เดือนเมษายนปี 2567

แลนดาร์ช แอร์ไลน์

ในระยะแรกจะให้บริการในรูปแบบการเช่าเหมาลำและมีศูนย์กลางการบินที่หาดใหญ่ หลังจากนั้นจึงเพิ่มการให้บริการในรูปแบบเที่ยวบินประจำ เชื่อมโยงจากหาดใหญ่ไปยังเบตง นราธิวาส และสุราษฎร์ธานี โดยจะประเดิมเส้นทางหาดใหญ่-เบตง และหาดใหญ่-สุราษฎร์ธานี มีแผนเริ่มทำการบิน เม.ย. 67

โดยใช้เครื่องบินแบบ Cessna C208 B เป็นเครื่อง GRAND CARAVAN จุผู้โดยสาร 12 ที่นั่ง แผนธุรกิจ 5 ปีแรก เริ่มด้วยเครื่องบิน 2 ลำในปี 2567 และเพิ่มอีกปีละลำ จนครบ 5 ลำภายในสิ้นแผน และ 5 ปีถัดไปในเฟสสอง จะเพิ่มเป็น 10 ลำ เพื่อให้บริการครอบคลุมในภูมิภาค อื่นๆ ของประเทศไทยด้วย