4 กลุ่มขอไลเซนส์ตั้งสายการบินใหม่ เจ้าสัวประยุทธ-พาที สารสิน ลุย

13 มี.ค. 2566 | 12:45 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มี.ค. 2566 | 09:27 น.
10.0 k

4 กลุ่มทุนขอไลเซนส์ตั้งสายการบินใหม่ เจ้าสัวประยุทธ มหากิจศิริ ทุ่ม 2 พันล้านบาท ตั้ง P80 Air ต่อจิ๊กซอว์โลจิสติกส์ พาที สารสิน ไม่เข็ดหาผู้ร่วมทุนตั้ง เรียลลี คูลแอร์ไลน์ ตัวแทนขายเครื่องบินเซสน่าในไทย เปิดแลนดาร์ช แอร์ไลน์ สยามซีเพลน ลุยเครื่องบินสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก

ธุรกิจการบินคึกคัก 4 กลุ่มทุนขอไลเซนส์ตั้งสายการบินใหม่ เจ้าสัวประยุทธ มหากิจศิริ ทุ่ม 2 พันล้านบาท ตั้ง P80 Air ต่อจิกซอร์ธุรกิจโลจิสติกส์  ด้าน พาที สารสิน ไม่เข็ดหาผู้ร่วมทุนตั้ง เรียลลี คูลแอร์ไลน์ ชูจุดขายสายการบินแห่งนวัตกรรม ขณะที่ตัวแทนขายเครื่องบินเซสน่าในไทย พร้อมเปิดแลนดาร์ช แอร์ไลน์ ส่วนสยามซีเพลน ลุยเครื่องบินสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก

สายการบินใหม่

จากสถานการณ์ของการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวและอยู่ในช่วงขาขึ้น หลังการเปิดประเทศของประเทศต่างๆทั่วโลก ส่งผลให้ธุรกิจการบินกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งในสภาวะที่สายการบินต่างๆที่ประกอบการอยู่เดิมล้วนได้รับบาดเจ็บจากผลกระทบของโควิด-19 และอยู่ในช่วงฟื้นตัว นักบินและลูกเรือก็ยังว่างงานอยู่พอสมควร

เพราะสายการบินยังไม่กลับมาทำการบินได้เต็ม100% เหมือนก่อนเกิดโควิด จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ ที่ต้องการลงสนาม แม้สายการบินจะจัดว่าเป็นธุรกิจปราบเซียนก็ตาม และยังเป็นที่น่าสังเกตว่าส่วนใหญ่มองการจัดตั้งสายการบินของไทยจะเน้นเพื่อต่อยอดธุรกิจเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากในอดีต และในขณะนี้จะเริ่มเห็นการจัดตั้งสายการบินใหม่ทั้งของไทยและต่างประเทศเพิ่มขึ้น

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าในขณะนี้มีภาคเอกชนของไทย จำนวน 4 รายติดต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท.เพื่อเตรียมขอประกอบการธุรกิจการบิน ได้แก่ 1. สายการบิน พี80 แอร์ (P80 AIR) ของตระกูลมหากิจศิริ 2.สายการบินเรียลลี คูล แอร์ (Really Cool Airlines) ของนายพาที สารสิน 3.สายการบินแลนดาร์ช แอร์ไลน์ (Landarch Airline) ของบริษัทเอ็ม-แลนดาร์ช จำกัด และ 4.สายการบินสยาม ซีเพลน (Siam Seaplane) ของบริษัทสยาม ซีเพลน จำกัด

ทั้ง 4 สายการบินอยู่ระหว่างทยอยทำเรื่องมายังกพท.เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ (Air Operating Licence หรือ AOL) ซึ่งต้องผ่านการอนุมัติก่อน จึงจะสามารถเข้าสู่กระบวนการ ขอใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operating Certificate หรือ AOC) โดยคาดว่ากว่ากระบวนการเหล่านี้ดำเนินการแล้วเสร็จ สายการบินน่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปี 2567

"ขณะนี้สายการบิน พี80 จัดว่ามีความคืบหน้ามากที่สุดเนื่องจากมีการขอ AOL เข้ามาแล้วและกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกพท. สายการบิน เรียลลี คูล คาดว่าจะมีการเข้ามายื่นขอ AOL ในเร็วๆนี้”

สายการบิน P80 แอร์

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า สายการบิน “P80 AIR” จดทะเบียนจัดตั้งสายการบินในนามบริษัท พี80 แอร์ จำกัด มีเจ้าสัวประยุทธ มหากิจศิริ และนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ เป็นคณะกรรมการบริษัทฯ ซึ่งการที่ตระกูลมหากิจศิริ แตกไลน์มาดำเนินธุรกิจการบิน เนื่องจากบริษัทแม่ของ บริษัท พี80 แอร์ คือ “บริษัทโทรีเซนไทยเอเยนต์ซีส์จำกัด(มหาชน)” หรือ“TTA”มีพื้นฐานในธุรกิจโลจิสติกอยู่แล้ว อย่างธุรกิจขนส่งทางเรือ

โดยในช่วงโควิดที่ผ่านมา สายการบินต่างๆได้รับผลกระทบมีการยุบเส้นทางบินและลดขนาดของกิจการลงไปกว่า 35-40% จากปกติ ขณะที่จำนวนผู้ใช้การขนส่งทางอากาศยังเท่าเดิมและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้เรามองว่ายังมีส่วนแบ่งตลาดที่ธุรกิจนี้ได้

สายการบิน P80 แอร์ จะเป็นสายการบินราคาประหยัดที่ให้บริการเทียบเท่าฟูลเซอร์วิส ผู้โดยสารสามารถฝากสัมภาระได้ 20 กิโลกรัม เลือกที่นั่งเองได้ และมีอาหารหรือของว่างบริการในเที่ยวบิน

โดยมีแผนจะเปิดให้บริการทั้งเที่ยวบินประจำและเช่าเหมาลำ ทำการบินด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 787-800 รองรับผู้โดยสารได้ไม่เกิน 200 คนจะใช้ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองเป็นศูนย์ปฏิบัติการหลักของสายการบิน

ตามแผนจะเปิดเส้นทางบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เน้นเปิดบินจากไทยไปยังเมืองรองในต่างประเทศ เบื้องต้นมองจุดบินไว้ที่ จีน ฮ่องกง และตะวันออกกลาง เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจากเมืองรองเข้ามาเที่ยวไทย เพื่อสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศ

ประยุทธ มหากิจศิริ

ทั้งนี้ P80 แอร์ คาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 2,000 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นในช่วงจัดตั้งสายการบินใช้งบลงทุนราว 500 ล้านบาท และเมื่อถึงช่วงดำเนินธุรกิจแล้วจะมีการเพิ่มทุนเข้าไปอีก โดยเครื่องบิน 787-800 ที่จะนำมาให้บริการจะเป็นเครื่องบินใหม่ ปีแรกจะเช่าเครื่องบิน 4 ลำ และภายใน 4 ปีจะมี 20 ลำ และในขณะนี้มีการเปิดรับลูกเรือบ้างแล้ว นอกจากนี้บนเที่ยวบินของสายการบินก็จะมีการเสิร์ฟเครื่องดื่มของ P80 ด้วย

ขณะที่ เรียลลี คูล แอร์ไลน์ส (reallycoolairlines) ของนายพาที สารสิน ก็เป็นสายการบินฟูลเซอร์วิส ให้บริการเที่ยวบินระยะไกล อาทิ ออสเตรเลีย ยุโรป เน้นบินต่างประเทศ เพื่อต่อยอดธุรกิจ จากเดิมที่หลังออกจากนกแอร์ หันมาทำธุรกิจในนาม บริษัท เรียลลี เรียลลี คูล (Really Really  Cool) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวออนไลน์ เน้นนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผสมผสาน ซึ่งไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ซื้อได้ทั่วโลก

พาที สารสิน

การแตกไลน์มาทำสายการบินก็จะเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านบล็อกเชนและโทเคนมาใช้ด้วย และมีการทาบทามกลุ่มทุนต่างๆที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)เข้ามาร่วมลงทุนด้วย

สำหรับในส่วนของสายการบิน “แลนดาร์ช แอร์ไลน์” ของบริษัท เอ็ม-แลนคาร์ช จำกัด เป็นบริษัทผู้แทนจำหน่ายเครื่องบินเซสน่า (Cessna)ในไทยอยู่แล้ว ก็ต้องการขยายมาตั้งสายการบินเพื่อนำเครื่องบิน Cessna C208B มาใช้ทำการบิน

โดยสายการบินแลนดาร์ช จะใช้เครื่องบินเซสน่า ขนาด 10-12 ที่นั่ง เน้นทำการบินเมืองขนาดเล็กโดยใช้ภาคใต้(สนามบินหาดใหญ่)เ ป็นฮับ เส้นทางบินไม่เกิน 60 นาที โดยตามแผนจะบินไปยังเบตง-นราธิวาส-สุราษฏร์ธานี

4 กลุ่มขอไลเซนส์ตั้งสายการบินใหม่ เจ้าสัวประยุทธ-พาที สารสิน ลุย

ด้วยเครื่องขนาดเล็กจึงเหมาะที่จะทำการบินในสนามบินเหล่านี้ซึ่งมีผู้โดยสารน้อย ที่ในช่วงแรกจะเริ่มเปิดให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำก่อน ปีแรกจะใช้เครื่องบิน 2 ลำ และจะทยอยนำเข้ามาเพิ่มอีกปีละ 1 ลำ โดยจะใช้เครื่องบินทั้งหมด 5 ลำ ค่าซื้อเครื่องบินเฉลี่ยอยู่ที่ลำละ 150 ล้านบาท

ในส่วนของสยาม ซีเพลน เจ้าของดำเนินธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ก็จะขอดำเนินธุรกิจสายการบิน โดยใช้เครื่องบินสะเทิ้นนํ้าสะเทิ้นบก เน้นการขึ้น-ลงจอดบนพื้นผิวนํ้าได้ ทำให้สามารถเข้าถึงสถานที่ที่อยู่ริมนํ้าหรือริมทะเล

ทั้งนี้ในแง่ของกม.ยังต้องพิจารณาในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัย ที่ในเบื้องต้นอาจจะต้องขอทำการบินแบบแท็กซี่ หรือบินแบบไม่ประจำที่มีกำหนดเวลาที่แน่นอนไปก่อน จากที่สายการบินต้องการทำการบินแบบเที่ยวบินประจำ

แหล่งข่าวยังกล่าวต่อว่านอกจากการเตรียมจัดตั้งสายการบินของไทยแล้ว ในต่างประเทศก็มีการจัดตั้งสายการบินใหม่ที่แสดงความสนใจเข้ามาทำการบินในไทย คือ การบินมายแอร์ไลน์(MYAirline) สายการบินของมาเลเซีย ที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อเดือนม.ค.64 โดยวางตำแหน่งของตนเองเป็นสายการบินต้นทุนตํ่าแบบสุดขีด(Ultra-low-cost airline) และเคยประกาศว่าพร้อมจะเข้ามาเป็นคู่แข่งกับสายการบิน โลวคอสต์เจ้าตลาดทั้งในมาเลเซียและในภูมิภาคอย่างแอร์เอเชีย

โดยสายการบินนี้มีการเข้ามาเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าปฏิบัติงานในตำแหน่งต่างๆประจำสนามบินต่างๆในไทย เช่น ตำแหน่ง Airport Manager และ Duty Manager โดยจะปฏิบัติงานที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต และกระบี่ ซึ่งคาดได้ว่าสายการบินมายแอร์ไลน์นั้นเตรียมจะเปิดให้บริการเที่ยวบินสู่ประเทศไทยไปยังสนามบินต่างๆ เหล่านั้นในอนาคตอันใกล้นี้ยัง ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าสายการบินน่าจะอยู่ในขั้นตอนการเตรียมขออนุญาตทำการบินมายังประเทศไทย