ป.ป.ช. สั่งไต่สวน 'ศักดิ์สยาม' ปมยื้อเวลาออกไลเซนส์ธุรกิจการบินล่าช้า

07 มี.ค. 2566 | 07:26 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2566 | 08:06 น.
2.9 k

ป.ป.ช. สั่งตั้งกรรมการ ไต่สวน 'ศักดิ์สยาม ชิดชอบ' และพวก ปมยื้อเวลาออกใบอนุญาตให้ธุรกิจการบิน ล่าช้า ทำบริษัท สกาย เอกซ์ทรีม เสียหายหนักกว่า 50 ล้านบาท

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และพวก ฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีประวิงเวลา และมีเจตนาที่จะไม่ให้ บริษัท สกาย เอกซ์ทรีม จำกัด ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน ประเภทการทำงานทางอากาศ (เพื่อการทิ้งร่มอากาศ-โดดพสุธา) ทำให้บริษัทฯได้รับความเสียหาย

 

จากกรณีบริษัท สกาย เอกซ์ทรีม จำกัด ได้ยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทการทำงานทางอากาศ (เพื่อการทิ้งร่มอากาศ-โดดพสุธา) หรือ ไลเซนส์ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และตามขั้นตอนแล้ว จะต้องได้รับใบอนุญาตฯ ที่ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่ปัญหาการติดขัดของการตีความอายุเครื่องบิน คือประเด็นหลัก ที่บริษัทไม่สามารถมีใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจได้ ยืดเยื้อมานานหลายปี

ป.ป.ช. สั่งไต่สวน \'ศักดิ์สยาม\' ปมยื้อเวลาออกไลเซนส์ธุรกิจการบินล่าช้า

อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัจจุบันคดีนี้อยู่ในขั้นตอนการไต่สวนคดีของ ป.ป.ช. และยังไม่ได้มีการชี้มูลความผิดแต่อย่างใด นายศักดิ์สยาม กับพวก จึงถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่

ต้นตอปมคดียื้อเวลาออกใบอนุญาตให้ธุรกิจการบินล่าช้า

สำหรับคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อเดือน ธ.ค.2562 บริษัท สกาย เอกซ์ทรีม จำกัด ได้ยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทการทำงานทางอากาศ (เพื่อการทิ้งร่มอากาศ-โดดพสุธา) จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT และตามขั้นตอนแล้ว จะต้องได้รับใบอนุญาตฯ ที่ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยเครื่องบินที่ บริษัท สกาย เอกซ์ทรีม จำกัด ยื่น เพื่อนำมาใช้ในการประกอบการกิจการฯ มีอายุ 15 ปี 3 เดือน ซึ่งยังไม่ครบ 16 ปี

แต่ปรากฏว่า ในระหว่างที่กระทรวงคมนาคม โดยคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กำลังพิจารณาเรื่อง เพื่อเสนอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกใบอนุญาตฯ นั้น กระทรวงฯ มีข้อสังเกตว่า ในการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทการทำงานทางอากาศฯ เครื่องบินที่ใช้ในการประกอบกิจการต้องมีอายุไม่เกิน 16 ปี นับตั้งแต่วันที่ผลิต และหากผู้ขอรับใบอนุญาตฯได้ใบอนุญาตฯ ที่มีกำหนดอายุ 3 ปีไปแล้ว จะทำให้เครื่องบินมีอายุเกิน 16 ปี ซึ่งอาจผิดเงื่อนไขหรือไม่

กระทรวงคมนาคม จึงขอให้ กพท. นำเรื่องดังกล่าวไปทบทวนใหม่อีกครั้ง ซึ่งต่อมา กพท. ได้ทำหนังสือขอหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นเรื่องเสร็จที่ 1611/2563 เมื่อเดือน ธ.ค.2563 ว่า หลักเกณฑ์เรื่องอายุเครื่องบินที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อขอรับใบอนุญาตฯนั้น ให้พิจารณา ณ วันเวลาที่ยื่นขอใบอนุญาตเท่านั้น ไม่ใช่เวลาที่ออกใบอนุญาต

เช่นเดียวกับฝ่ายกฎหมายของ กพท. ที่มีความเห็นเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า หลักเกณฑ์เกี่ยวกับอายุเครื่องบิน ตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 97 ว่าด้วยการอนุญาตประเภทกิจการการบินพลเรือน ประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์ และประเภทการทำงานทางอากาศ ที่ระบุว่า เครื่องบินจะต้องมีอายุไม่เกิน 16 ปีนับแต่วันผลิตนั้น ไม่ใช่หลักเกณฑ์คุณสมบัติด้านอายุสูงสุดของเครื่องบินที่ผู้รับใบอนุญาตต้องดำรงไว้ตลอดอายุใบอนุญาตฯ

ขณะที่ทาง กพท. เอง ได้มีกระบวนการกำกับดูแลความปลอดภัยของเครื่องบินในเรื่องใบสำคัญสมควรเดินอากาศ (Certificate of Airworthiness) ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อยู่แล้ว

กระทั่งต่อมา กพท.ได้รายงานเรื่องกลับไปให้กระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น พิจารณาเรื่องการออกใบอนุญาตฯอีกครั้ง ก่อนที่นายศักดิ์สยาม ได้ออกใบอนุญาตฯเลขที่ 3/2564 ลงวันที่ 2 ก.ค.2564 ให้แก่ บริษัท สกาย เอกซ์ทรีม จำกัด

อย่างไรก็ตาม บริษัท สกาย เอกซ์ทรีม จำกัด เห็นว่า การพิจารณาออกใบอนุญาตฯให้กับบริษัทฯ ที่ต้องใช้เวลานานถึง 1 ปี 6 เดือน นั้น เกินกว่ากรอบเวลาที่กำหนดไว้ในคู่มือประชาชนว่า การดำเนินการรวมทุกขั้นตอนให้ใช้เวลา 80 วันทำการ และในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น นายศักดิ์สยาม กับพวก ได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทการทำงานทางอากาศ (เพื่อการทิ้งร่มอากาศ) ให้กับเอกชนรายอื่นๆ

บริษัท สกาย เอกซ์ทรีม จำกัด จึงได้มายื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ดำเนินการเอาผิด นายศักดิ์สยาม ในฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และพวก ที่มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ บริษัท สกาย เอกซ์ทรีม จำกัด ได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ เมื่อปี 2563 น.ท.วีระพจน์ พรหมโชติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สกายเอกซ์ทรีม จำกัด ในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์ ว่า ตั้งแต่เริ่มเรื่อง บริษัทเสียหายไปแล้วกว่า 50 ล้านบาท (ค่าเครื่องบิน 33 ล้านบาท + ค่าบำรุงรักษาและค่าเช่า 17 ล้านบาท)​ และเสียโอกาสในการทำธุรกิจ ซึ่งควรจะดำเนินกิจการไปได้แล้ว ทั้งๆ ที่เครื่องบินที่นำมาใช้ประกอบกิจการฯมีอายุไม่เกิน 16 ปี

ป.ป.ช. สั่งไต่สวน \'ศักดิ์สยาม\' ปมยื้อเวลาออกไลเซนส์ธุรกิจการบินล่าช้า

เส้นทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท สกายเอกซ์ทรีม จำกัด

บริษัท สกายเอกซ์ทรีม จำกัด นำโดย น.ท.วีระพจน์ พรหมโชติ ประธานกรรมการบริหาร และพรรคพวกซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักบินกองทัพอากาศ มีความฝันอยากทำธุรกิจกีฬา Extream อย่าง “ดิ่งพสุธา” มาประกอบธุรกิจการบิน

ป.ป.ช. สั่งไต่สวน \'ศักดิ์สยาม\' ปมยื้อเวลาออกไลเซนส์ธุรกิจการบินล่าช้า

โดยได้ศึกษาเงื่อนไขต่างๆในการทำธุรกิจ และได้หารือกับกพท. ในเรื่องของการขอใบอนุญาต โดยปกติจะใช้เวลาดำเนินการราวๆ 4-6 เดือน โดยเครื่องบินที่จะขอใบอนุญาตนั้น ต้องมีอายุไม่เกิน 16 ปี นับจากวันผลิต หลังจากได้รับอนุญาตแล้ว ใบอนุญาตจะมีอายุ 3 ปี และต่อได้ครั้งละ 3 ปี

เมื่อได้ศึกษาอย่างถ้วนถี่แล้ว บริษัท สกายเอกซ์ทรีม ได้ทำการสั่งซื้อเครื่องบินรุ่น PAC 750 XL ที่มีอายุ 15 ปี ขนาด 18 ที่นั่ง ราคา 33 ล้านบาท จากบริษัทให้บริการกีฬาดิ่งพสุธาในออสเตรเลีย เมื่อปลายปี 2562 โดยแต่ละเดือนจะมีค่าบำรุงรักษาอยู่ที่ราวๆ 4 แสนบาท (ค่าบำรุงรักษา, ค่าบินขึ้นเพื่อรักษาระบบทุกสัปดาห์, ค่าเช่าโรงจอด ฯลฯ)

แต่การดำเนินการขอใบอนุญาตนั้นติดขัดปัญหาเรื่องการตีความอายุของเครื่องบิน
บริษัทได้ยื่นขอใบอนุญาตต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เมื่อ 25 ธันวาคม 2562 โดยจะมีคณะกรรมการ 3 คณะ เป็นผู้พิจารณาคำขอ ดังนี้

คณะกรรมการกลั่นกรองการออกใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน เห็นสมควรออกใบอนุญาต เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563

คณะอนุกรรมการหลักเกณฑ์การอนุญาต อัตราค่าธรรมเนียม ค่าบริการ ค่าภาระ หรือเงินตอบแทนอื่นใด เห็นสมควรออกใบอนุญาต เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563

คณะกรรมการการบินพลเรือน ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกใบอนุญาต (การลงนามของรัฐมนตรีถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย)

ป.ป.ช. สั่งไต่สวน \'ศักดิ์สยาม\' ปมยื้อเวลาออกไลเซนส์ธุรกิจการบินล่าช้า

ส่วนปัญหาการติดขัดของการตีความอายุเครื่องบิน คือประเด็นหลักที่บริษัทไม่สามารถมีใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจได้

  • ตามหลักคือ เครื่องบินที่จะขอใบอนุญาตต้องมีอายุไม่เกิน 16 ปีนับจากวันผลิต ซึ่งผู้ที่จะให้ใบอนุญาตได้ตีความไว้ว่า หากบริษัทได้รับใบอนุญาตซึ่งมีอายุ 3 ปี ในระหว่างการให้บริการในช่วง 3 ปีนั้น เครื่องบินจะมีอายุเกิน 16 ปี ซึ่งอาจผิดหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการบินพลเรือน

กพท. หรือ CAAT ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความข้อกฎหมายใน 2 ประเด็น คือ การจัดหาเครื่องบินที่อายุยังไม่เกิน 16 ปี แต่เมื่อได้ใบอนุญาตแล้ว เครื่องบินจะมีอายุเกิน 16 ปี ถือว่าทำผิดหลักเกณฑ์หรือไม่และอีกประเด็นคือ ตอนที่ยื่นเรื่องขอใบอนุญาต เครื่องบินมีอายุยังไม่เกิน 16 ปี แต่พอได้รับใบอนุญาตแล้ว เครื่องบินจะมีอายุเกิน 16 ปี ถือว่าทำผิดหลักเกณฑ์หรือไม่

ดังนั้นที่ผ่านมาบริษัทต้องทำการยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้คุ้มครองอายุของเครื่องบินระหว่างการพิจารณาให้ใบอนุญาตของกระทรวงคมนาคมให้หยุดนิ่งไว้ก่อน

จนในที่สุด คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความข้อกฎหมาย 2 ประเด็นที่ กพท. ขอให้ช่วยตีความ คือ การนับอายุเครื่องบินที่ไม่เกิน 16 ปี นับถึงวันยื่นขออนุญาต (กรณีนี้คือ บริษัทยื่นขอไปเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562 ซึ่งเครื่องบินยังมีอายุ 15 ปี) เมื่อได้ใบอนุญาตแล้ว จะไม่ได้นับเรื่องอายุเครื่องบินอีกต่อไป และอีกประเด็นคือ ตอนที่ยื่นขอใบอนุญาต เครื่องบินมีอายุยังไม่เกิน 16 ปี แต่วันที่ได้รับใบอนุญาต แม้อายุเครื่องบินเกิน 16 ปีไปแล้ว จะไม่ถือว่าผู้ขอใบอนุญาตทำผิดเงื่อนไข

ทำให้บริษัท สกาย เอกซ์ทรีม จำกัด ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน ประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์และประเภทการทำงานทางอากาศ ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. 2564 และจากข้อมูล ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565
บริษัท สกาย เอกซ์ทรีม จำกัด ยังคงมีไลเซนส์ในการประกอบธุรกิจตั้งแต่ 2 ก.ค. 2564 – 1 ก.ค. 2567 ประเภทการทำงานทางอากาศ(เพื่อการทิ้งร่มอากาศ)