นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดใจถึงการจัดหาฝูงบินใหม่ของการบินไทยรวมกว่า 80 ลำ ในปี 2570-2576 โดยจะเป็นการจัดหาเครื่องบินโบอิ้ง 787 Dreamliner จำนวน 45 ลำ ซึ่งจะทำให้จำนวนฝูงบินรวมจะอยู่ที่ 134 ลำในสิ้นปี 2577 ขณะเดียวกันมีทางเลือกในการจัดหาเพิ่มเติมอีก 35 ลำนั้น จะช่วยทำให้สายการบินมีเครื่องบินในการปฏิบัติการบิน และเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้เพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ เป็น 30-35% จากปัจจุบันอยู่ที่ 21%
หากเทียบอุตสาหกรรมในฐานะสายการบินเจ้าบ้าน การบินไทยมีฝูงบินแทบจะต่ำที่สุดในโลก ถ้าเราไม่สร้างส่วนแบ่งการตลาดขึ้นมา ก็จะไม่สามารถพลิกฟื้นองค์กรได้ และหากสายการบินเจ้าบ้านไม่มีความแข็งแกร่งเพียงพอ การจะเป็นศูนย์กลางการบินของประเทศไทย ก็จะยากขึ้น เพราะการจะไปพึ่งพาสายการบินต่างชาติ ก็จะมีปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อเครื่องบินที่ไม่มีความสะดวก
นายชาย กล่าวต่อว่า ก่อนการพิจารณาจัดหาฝูงบินใหม่ การบินไทยได้พิจารณาความต้องการของธุรกิจที่แท้จริง เรามีการทำแผนเครื่องบิน เครือข่ายการบิน ที่ทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เขาศึกษาและเราเองก็ศึกษาเอามาประเมินความต้องการที่เราพอมีกำลังจะจัดหาเครื่องบินใหม่ได้ การจัดหาเครื่องบินในครั้งนี้มีพื้นฐานการดำเนินธุรกิจโดยแท้จริง มีความโปร่งใสชัดเจน เราจัดหาจากความต้องการในการเติบโตของธุรกิจ เพราะวันนี้การบินไทยเป็นบริษัทเอกชน ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจเหมือนในอดีต
การเจรจาจัดหาเครื่องบินใหม่ผมจะเชิญเฉพาะผู้ผลิตเครื่องบิน และผู้ผลิตเครื่องยนต์มาเจรจา เพื่อให้การจัดหาเครื่องบินได้รุ่นที่ตรงกับความต้องการของการบินไทยในการดำเนินธุรกิจที่แท้จริง ซึ่งผมคุยกับ 5 รายเท่านั้น คือ โบอิ้ง, แอร์บัส, จีอี,โรลส์-รอยซ์ ,แพรตต์ แอนด์ วิทนีย์ ซึ่งการบินไทยจะติดต่อตรงกับเฉพาะผู้ผลิตเครื่องบินและเครื่องยนต์โดยตรงเท่านั้น จะไม่มีการดีลผ่านตัวแทนโปรเกอร์ ล็อบบี้ยีสต์ ซึ่งผมคอนเฟริมได้ว่าไม่มีเรื่องคอมมิชั่น ขณะที่ส่วนลดที่ได้รับก็จะเข้าการบินไทยทั้งหมด
การจัดหาเครื่องบินใหม่เป็นข้อตกลงแบบการจองสล็อตในการผลิต บริษัทยังไม่ได้ตัดสินใจว่าวิธีได้มาซึ่งเครื่องบินทั้งหมดนั้นจะเป็นวิธีใด จะเป็นการเช่า หรือ เช่าซื้อ โดยต้องประเมินสถานการณ์สถานะของการบินไทยอีกครั้ง ซึ่งเงื่อนไขการพิจารณามีความยืดหยุ่น บริษัทยังมีเวลาประเมินความสามารถ ในการจัดหาแหล่งเงินทุน ยังไม่ต้องรีบตัดสินใจ เพราะในช่วงแรกแค่การวางมัดจำ แต่การจะจัดหาเครื่องบินโดยวิธีไหน เรายังมีเวลาตัดสินใจ 3 ปีก่อนเครื่องบินส่งมอบ ซึ่งเครื่องบินก็จะทยอยมา ไม่ได้มาพร้อมกันในครั้งเดียว
ขณะที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเพิ่มฝูงบินนั้น ไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่อง บริษัทมีความสามารถเพียงพอที่จัดหาเครื่องบินได้ และหากดูจากฐานะการเงินปัจจุบัน และประมาณการผลประกอบการ สำหรับแผนการจัดหาเครื่องบิน 45 ลำนั้น เราซื้อเป็นเงินสดได้เลย เพราะส่วนใหญ่เป็นการทยอย และจ่ายก่อนการรับเครื่องบิน
ปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบินรวม 70 ลำและจะทยอยส่งมอบในปีนี้อีก 9 ลำ และจะมีเครื่องบินบางส่วนที่ หมดสัญญาเช่า จะทำให้สายการบินมีเครื่องบินเหลือเพียง 51 ลำ ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของการบินไทยลดลงตามไปด้วย
การบินไทยจึงจำเป็นจะต้องจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติม เป็นเครื่องบิน แบบโบอิ้ง 787 ดรีมไลน์เนอร์ อีก 45 ลำ และในระยะถัดไป จะมีการจัดหาอีก 35 ลำ ซึ่งอาจจะเป็นเครื่องบินในตระกูลโบอิ้ง 787 หรืออาจจะเป็นเครื่องบิน 777-9 ยังเป็นตัวเลือกที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จะทำให้สายการบินมีเครื่องบินรวม 134 ลำ ภายในปี 2576 ซึ่งแม้จะเพิ่มจำนวนเครื่องบิน แต่การเติบโตของฝูงบินยังถือว่าต่ำกว่าตลาด
การจัดหาเครื่องบินถ้าซื้อเครื่องบินถูกก็ไม่มีปัญหาซื้อก็มีปัญหา ผมยืนยันว่ากระบวนการจัดหา หรือซื้อเครื่องบิน การบินไทยได้เงื่อนไขที่ดีมากจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน การซื้อครั้งนี้เราดูเรื่องการตลาด สอดคล้องกับการผลักดันให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นฮับการบิน การจัดหาเครื่องบินใหม่ โปร่งใส่ และไม่ได้เป็นภาระที่ภาครัฐจะต้องมารับผิดชอบในการจัดหาเครื่องบินครั้งนี้ และไม่ได้ใช้เงินภาษีประชาชน และไม่ต้องค้ำประกันด้วย
นายปิยสวัสดิ์ ยังกล่าวต่อว่าจากทิศทางผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่อง บริษัทมีแผนทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นเป็นบวกภายในปลายปี 2567 เพื่อนำบริษัทออกจากแผนฟื้นฟู โดยอยู่ระหว่างจัดทำไฟลิ่งเพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่าบริษัทจะสามารถดำเนินออกจากแผนครึ่งแรกปี 2568 และนำหุ้น THAI กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ต่อไป
ขณะเดียวกันบริษัทอยู่ระหว่างทำแผนธุรกิจที่ชัดเจนเพื่อเสนอต่อเจ้าหนี้ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งแนวโน้มผลประกอบการในปี 2567 คาดว่าจะยังออกมาเป็นที่น่าพอใจ โดยคาดว่ารายได้รวมปีนี้จะใกล้เคียงกับ 2562 ก่อนช่วงโควิด-19 จากแผนการเพิ่มจำนวนเครื่องบินเป็น 79 ลำในปีนี้ จากปัจจุบัน 70 ลำ ปัจจุบันบริษัทยังคงมีกระแสเงินสดอยู่ที่ระดับ 6.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่า ณ สิ้นปี 2567 จะมีระดับที่มากกว่านี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทเริ่มจ่ายคืนหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ในปีนี้ เฉลี่ยปีละราว 1 หมื่นล้านบาท รวม 12 ปี เป็นมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท รวมดอกเบี้ย ได้แก่ หนี้บัตรโดยสาร เงินกู้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้การค้า
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวอีกว่า เหตุผลของการต้องมีการจัดหาเครื่องบินใหม่ จากเครื่องบินหลายลำเริ่มมีอายุมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อรองรับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว จากปัจจุบันมีจำนวน 70 ลำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นยังถือเป็นฝูงบินที่เล็กมาก คืออยู่ที่ 70 ลำ
สิงคโปร์ แอร์ไลน์อยู่ที่ 154 ลำ เอเอ็นเอ 200 ลำ แต่มีลูกค้าที่ต้องการมาประเทศไทยเยอะมาก การมีเครื่องบินเพิ่มก็จะทำให้การบินไทยหารายได้ได้เพิ่มขึ้น ขยายเครือข่ายเส้นทางบินได้มากขึ้น
การพิจารณาการจัดหาเครื่องบิน การบินไทยดูละเอียดมาก ดูว่าเครื่องบินแบบไหนที่เหมาะสม เครื่องยนต์ การซ่อมบำรุง และมีกระบวนการจัดหาที่โปร่งใส เป็นการลงทุนที่มีรีเทิร์น ไม่เช่นนั้นทางเจ้าหนี้ก็คงไม่อนุญาติให้ลงทุนจัดหา เรามีผู้เชี่ยวชาญในการทำทั้งหมด ดูทั้งเรื่องสถานะการเงิน ซึ่งการจัดหาที่เกิดขึ้น เราก็ไม่ได้มีเงินไปซื้อทั้งล็อตใหญ่ได้ขนาดนั้น
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2566 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจำนวน 161,067 ล้านบาท และคิดเป็นสัดส่วน 87% ของปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19
โดยเป็นรายได้จากการขนส่งผู้โดยสาร 79.3% มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว (EBIT) เป็นเงิน 40,211 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 32,414 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 28,123 ล้านบาท