การบินไทยกำไรพุ่ง 2.8 หมื่นล้าน ปี66 ปรับปรุงฝูงบิน ขายทรัพย์สินเพิ่ม

23 ก.พ. 2567 | 07:49 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.พ. 2567 | 11:35 น.
974

การบินไทยประกาศผลการดำเนินงานปี 2566 กำไรพุ่ง 2.8 หมื่นล้าน มีรายได้ 161,067 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานสูงถึง 40,211 ล้านบาท จากการกลับมาเปิดเส้นทางบินได้เพิ่มขึ้น การปรับปรุงฝูงบิน รวมถึงขายเครื่องบิน ขายอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ

วันนี้(วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567) นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้นำส่งงบการเงินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 พบว่า มีกำไรสุทธิ จำนวน 28,123 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 28,375 ล้านบาท

งบการเงินการบินไทยปี 2566

โดยเป็นกำไรส่วน ที่เป็นของบริษัทใหญ่ 28,096 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 12.87 บาท ในขณะที่ปีก่อนหน้าขาดทุนสุทธิ 272 ล้านบาท และขาดทุนต่อหุ้น 0.12 บาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน รวมค่าเช่าเครื่องบินที่คำนวณจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hour) เป็นกำไรจำนวน 42,875 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 25,634 ล้านบาท

สรุปสาระสำคัญของงบการเงินของการบินไทยสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 

  • ในปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 70 ลำ โดยมีอัตราการใช้ประโยชน์ ของเครื่องบิน 12.2 ชั่วโมง 
  • มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร(ASK)เพิ่มขึ้น 40.9% 
  • ปริมาณการขนส่ง ผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 65.4 % 
  • อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.7% สูงกว่า ปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 67.9% 
  • มีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 13.76 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน  52.7 % 
  •  มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 40,211 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 32,414 ล้านบาท (415.7%)
  • มีรายได้รวม 161,067 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 56,026 ล้านบาท (53.3%) สาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสาร เพิ่มขึ้น 58,701 ล้านบาท (79.3%) เป็นรายได้จากกิจกรรมขนส่งผู้โดยสารที่เติบโตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 79.3% โดยรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวของปี 2566 ดังกล่าว เพิ่มขึ้น 53.3% จากปี 2565 และคิดเป็นสัดส่วน 87% ของปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19
  • มีค่าใช้จ่ายไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 120,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% จากปี 2565 จากค่าใช้จ่ายผันแปรในส่วนค่าน้ำมันที่มีสัดส่วน 39.5% ของค่าใช้จ่ายรวมที่สูงขึ้นจากปริมาณการใช้ที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนการบริการในกิจกรรมขนส่งจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น
  • มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว (EBIT) เป็นเงิน 40,211 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน จำนวน 32,414 ล้านบาท
  • มี EBITDA จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน 42,875 ล้านบาท ดีกว่าประมาณการตามแผนฟื้นฟูกิจการ

ในปี 2566 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังคงดำเนินการตามแผนฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง

ผลประกอบการการบินไทย ปี 2567

สาระสำคัญการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ได้แก่

การดำเนินการตามแผนการปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบินและขยายเส้นทางบิน เพื่อรองรับการฟื้นตัว ของอุตสาหกรรมการบิน และเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ให้แก่บริษัทฯ

  • รับมอบเครื่องบิน A350-900 จำนวน 5 ลำ เพื่อเพิ่มเที่ยวบินไปยังเมืองสำคัญ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เป็นต้น
  • กลับมาให้บริการในเส้นทางปักกิ่ง เกิงๆ รวมถึงเพิ่มความที่เที่ยวบินในเส้นทางฮ่องกง โอซากา เปิดเส้นทางบินใหม่บินตรงสู่อิสตันบูล สาธารณรัฐทูร์เดีย ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ให้บริการ วันละ 1 เที่ยวบิน
  • ลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อพัฒนาความร่วมมือและศึกษาความเป็นไปได้ ในการให้บริการเที่ยวบินลักษณะ Joint Venture Operations ระหว่างบริษัทฯ และเตอร์กิชแอร์ไลน์ สำหรับนครอิสตันบูลนับเป็นจุดศูนย์กลางการเดินทางระหว่างทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ทำให้เพิ่มความได้เปรียบในการให้บริการเที่ยวบินเชื่อมต่อไปยังทวีปยุโรปและแอฟริกา

นอกจากนี้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากกิจการอื่น เพิ่มขึ้น 2,571 ล้านบาท (38.5%) ซึ่งหน่วยธุรกิจส่วนใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากจำนวน ผู้โดยสารของสายการบินลูกค้าเพิ่มขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายรวม 120,856 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 23,612 ล้านบาท (24.3%)

ส่วนหนึ่งเกิดจากปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น และสำหรับต้นทุน ทางการเงิน (ซึ่งเป็นการรับรู้ต้นทุนทางการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 : TFRS 9) มีการรับรู้ต้นทุนทางการเงินจำนวน 15,611 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 3,224 ล้านบาท (26.0%)

การหาประโยชน์จากทรัพย์สินรองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ

  • มีการจำหน่ายสินทรัพย์ เครื่องบิน B747-400 จํานวน 6 ลำ B737-400 จํานวน 1 ลำ และ A340-600 จํานวน 2 ลำ
  • จำหน่ายเครื่องยนต์อะไหล่ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว จำนวน 5 เครื่องยนต์
  • หุ้นบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด จำนวน 1,868 หุ้น
  • อสังหาริมทรัพย์ 4 แห่ง ได้แก่ ห้องชุดพักอาศัย ประเทศสิงคโปร์ สำนักงานขายกรุงโรม ประเทศ อิตาลี บ้านพักกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และสำนักงานขายมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ส่วนใหญ่เกิดจากกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ กำไรจากการขายสินทรัพย์ ถึงแม้จะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ปรับปรุงค่าเช่าพื้นที่ สำนักงานดอนเมือง โดยในปี 2566 มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว-สุทธิ เป็นรายได้รวม 2,201 ล้านบาท

การปรับปรุงโครงสร้างการดำเนินกลุ่มธุรกิจการบิน

ในปี 2566 บริษัทฯ รับโอนเครื่องบิน A320-200 จากบริษัท ไทยสมายล์ฯ จำนวน 16 ลำ ทำการบินแทนในเส้นทางในประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต และอุดรธานี และระหว่างประเทศ ได้แก่ อาห์เมตาบัต กัลกัตตา กายา ฮานอย เกาสง กาฐมาณฑ ปีนัง พนมเปญ ย่างกุ้ง เสียมราฐ โฮจิมินห์ และเวียงจันทน์

การบินไทยกำไรพุ่ง 2.8 หมื่นล้าน ปี66 ปรับปรุงฝูงบิน ขายทรัพย์สินเพิ่ม

ทั้งนี้ในเดือนมกราคม 2567 จะรับโอนเครื่องบินอีก 4 ลำ และให้บริการในเส้นทางในประเทศเพิ่มเติม ได้แก่ เชียงราย ขอนแก่น อุบลราชธานี กระบี่ หาดใหญ่ และ นราธิวาส โดยผู้โดยสารไทยสมายล์จะยังคงได้รับบริการที่ดีอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้โดยสารของการบินไทยต่อไป

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 238,991 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จํานวน 40,813 ล้านบาท (20.6%) หนี้สินรวมมีจำนวน 282,133 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จํานวน 12,931 ล้านบาท (4.8%) ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ติดลบจำนวน 43,142 ล้านบาท ติดลบลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จํานวน 27,882 ล้านบาท และจากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทฯ มีเงินสด รวมตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำ และหุ้นกู้ ที่มีระยะเวลาครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน จำนวน 67,130 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32,590 ล้านบาท