การบินไทยปิดดีลโบอิ้ง-จีอี จัดหาเครื่องบินใหม่ 45 ลำ

14 ก.พ. 2567 | 11:30 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2567 | 11:56 น.
672

การบินไทย ปิดดีลโบอิ้ง-จีอี จัดหาเครื่องบินใหม่ 45 ลำ เสริมแกร่งฝูงบินระยะยาว สร้างการเติบโตและผลกำไรอย่างยั่งยืน ดันกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางการบินเต็มรูปแบบ

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามในสัญญาจัดหาเครื่องบินและเครื่องยนต์ร่วมกับบริษัท โบอิ้ง และ บริษัท จีอี แอโรสเปซ เพื่อจัดหาเครื่องบินแบบลำตัวกว้างพิสัยกลางและไกลพร้อมเครื่องยนต์จำนวน 45 ลำพร้อมสิทธิในการจัดหาเพิ่มเติม (Option Order) อีกจำนวนหนึ่งเพื่อนำเข้าประจำการในฝูงบินของบริษัทฯตั้งแต่ปีพ.ศ. 2570 - 2576 ตามแผนเครือข่ายเส้นทางบินที่จัดทำขึ้น

โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ออกเอกสารเชิญยื่นข้อเสนอราคา (RFP) ไปยังบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินและเครื่องยนต์ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแผนบริหารเครือข่ายเส้นทางบินและฝูงบินระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นใจว่าบริษัทฯจะสามารถรักษาระดับความสามารถในการหารายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายและประมาณการทางการเงินที่จัดทำขึ้น

การจัดหาเครื่องบินในครั้งนี้เป็นการดำเนินการเพื่อทดแทนเครื่องบินที่มีกำหนดจะปลดระวางและทยอยหมดสัญญาเช่าลงในกรอบระยะเวลาข้างต้นเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทฯ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทฯ เฉพาะ ณ สนามบินสุวรรณภูมิมีสัดส่วนลดลงจาก 51.3 % ในปี 2556 เหลือเพียง 27.0 % ในปี 2566 ส่วนหนึ่งด้วยข้อจำกัดด้านฝูงบินของบริษัทฯ ทั้งในเชิงปริมาณและประสิทธิภาพของเครื่องบินในฝูงบิน

การบินไทย

ในปี 2556 บริษัทฯ มีเครื่องบินรวมทั้งสิ้นจำนวน 100 ลำ ต่อมาเมื่ออุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับการที่บริษัทฯ เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ ได้ปลดระวางเครื่องบินจำนวนหนึ่งที่มีอายุการใช้งานยาวนาน มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงสูง อุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในห้องโดยสารเสื่อมสภาพ มีค่าซ่อมบำรุงที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี มีมูลค่าการลงทุนสูงและไม่คุ้มค่าที่จะปรับปรุงเพื่อคืนสภาพให้สามารถกลับมาปฏิบัติการบิน

ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2565 บริษัทฯ มีเครื่องบินที่ใช้ในการปฏิบัติการบินเหลือเพียงจำนวน 64 ลำ หรือมีขนาดฝูงบินรวมลดลง 36 % เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556

 

โดยระหว่างปี 2565 – 2566 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้แก้ไขข้อจำกัดด้านฝูงบินโดยการจัดหาเครื่องบินด้วยวิธีเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) เพื่อนำมาใช้ในการปฏิบัติการบินรองรับปริมาณความต้องการเดินทางที่ฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว โดยเป็นเครื่องบินลำตัวกว้างจำนวน 21 ลำซึ่งทยอยรับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2566

ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินแบบ Airbus 350 ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ Rolls-Royce แบบ Trent XWB และจะเริ่มทยอยรับเครื่องบินลำตัวแคบแบบแอร์บัส 321neo ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2568 เป็นต้นไป ทำให้จำนวนเครื่องบินในฝูงบินของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นเป็น 70 ลำในปี 2566 ที่ผ่านมา และจะเพิ่มขึ้นเป็น 79 ลำในปี 2567 และ 90 ลำในปี 2568 ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเรื่องจำนวนเครื่องบินที่อยู่ในแผนปลดระวางและสัญญาเช่าจะทยอยหมดอายุลง ระยะเวลาการผลิตของผู้ผลิต และปริมาณความต้องการเครื่องบินในอุตสาหกรรมที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หากบริษัทฯ ไม่ดำเนินการจัดหาฝูงบินระยะยาวในครั้งนี้ จะส่งผลให้ในปี 2576 ฝูงบินของบริษัทฯ จะมีจำนวนเครื่องบินเหลือเพียง 51 ลำ

หรือน้อยกว่าปี 2556 คิดเป็นสัดส่วน 49 % ซึ่งไม่เพียงพอต่อการสร้างรายได้ การรักษาส่วนแบ่งทางตลาด ขีดความสามารถในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ และเมื่อพิจารณาจำนวนเครื่องบินที่จัดหาเพิ่มเติมในคราวนี้จำนวน 45 ลำ ในปี 2576 บริษัทฯ จะมีจำนวนเครื่องบินรวมทั้งสิ้น 96 ลำ ซึ่งก็ยังคงน้อยกว่าจำนวนเครื่องบินในฝูงบินของบริษัทฯ เมื่อปี 2556

ในส่วนของแผนการเงินที่จะนำมาชำระค่าเครื่องบินและเครื่องยนต์ดังกล่าว ขณะนี้บริษัทฯ เตรียมความพร้อมทางการเงินและคาดการณ์สภาพคล่องในอนาคตว่ามีจำนวนเพียงพอต่อการชำระค่าเครื่องบินและเครื่องยนต์ตามกรอบเวลาการจัดหา โดยบริษัทฯ จะพิจารณาแหล่งเงินทุนและเลือกวิธีการจัดหาเงินทุนที่เหมาะสมอีกครั้ง ซึ่งจะขึ้นกับสถานะการเงิน สภาพคล่องของบริษัทฯ และความคุ้มค่าทางการเงิน

"โดยจะเปิดกว้างพิจารณารูปแบบการเช่าดำเนินการและเช่าซื้อเครื่องบินในสัดส่วนที่เหมาะสม และการจัดหาเครื่องบินในครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทฯ ตามแผนฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใด"

ในการจัดหาเครื่องบินครั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบและให้ความสำคัญกับความโปร่งใสในกระบวนการ ดำเนินการตรงกับบริษัทผู้ผลิตทุกรายโดยไม่ผ่านตัวแทน อ้างอิงรูปแบบการดำเนินการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการบิน เทียบเคียงสายการบินชั้นนำอื่นๆ ในระดับนานาชาติ มีที่ปรึกษาชั้นนำที่ได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมการบินระหว่างประเทศร่วมพัฒนาแบบจำลองเครือข่ายเส้นทางบิน แบบจำลองและประมาณการทางการเงิน กำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์การคัดเลือกประเมินผลและการเจรจาต่อรองกับผู้ผลิต

โดยมุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ เป็นสำคัญ ทั้งในด้านต้นทุนดำเนินการในทุกมิติ อาทิ ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านประสบการณ์และความพึงพอใจของผู้โดยสาร ได้แก่ ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารในมิติต่างๆ ได้แก่ ความสะดวกสบาย ที่นั่ง อุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในห้องโดยสาร ฯลฯ

ต้นทุนความเป็นเจ้าของหรือค่าเช่า ต้นทุนการซ่อมบำรุง ความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง ประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือ (Reliability) ในการปฏิบัติการบิน ความสามารถในการสร้างรายได้ให้เป็นไปตามประมาณการทางการเงินภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ อาทิ ปริมาณการผลิต ประสิทธิภาพการจัดการฝูงบินตามแผนเครือข่ายเส้นทางบิน ความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ฯลฯ

ทั้งนี้ บริษัทฯ จะเปิดเผยข้อเท็จจริงในรายละเอียดเกี่ยวกับแบบเครื่องบินและเครื่องยนต์ในการจัดหาครั้งนี้ร่วมกับผู้ผลิตในงาน Singapore Airshow ที่จะจัดขึ้น ณ ประเทศสิงคโปร์ระหว่างวันที่ 20-25 กุมภาพันธ์ศกนี้

บริษัทฯ จะยังคงร่วมมือกับผู้ผลิตเครื่องบินและเครื่องยนต์ชั้นนำของโลกในการพัฒนาฝูงบินของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้โดยสารทั้งในด้านความปลอดภัยในการเดินทาง คุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการในเที่ยวบิน

ขอให้ความมั่นใจว่าการดำเนินการจัดหาด้านการจัดการฝูงบินระยะยาวในครั้งนี้ ดำเนินการด้วยความรอบคอบบนพื้นฐานแห่งความจำเป็นเพื่อการดำเนินธุรกิจให้บรรลุเป้าหมายและความสำเร็จด้วยกระบวนการและหลักเกณฑ์ที่มีความโปร่งใส ยึดถือเอาประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ เป็นสำคัญ มิเพียงแต่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการฟื้นฟูกิจการ แต่ยังเพื่อสร้างการเติบโตและผลกำไรทางธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต และก้าวไปสู่ความเป็นสายการบินชั้นนำของโลกที่คนไทยทุกคนภาคภูมิใจ