สื่อนอกปูด "การบินไทย" สั่งซื้อโบอิ้ง 787 ใหม่เอี่ยม 45 ลำ! ยังไม่เผยวงเงิน

09 ก.พ. 2567 | 15:15 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.พ. 2567 | 03:05 น.
1.7 k

รอยเตอร์รายงานอ้างอิงแหล่งข่าว ระบุ "การบินไทย" ได้สั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 787 จำนวน 45 ลำ ซึ่งอาจมีมูลค่าสูงถึง 3.85 แสนล้านบาท และสร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยการใช้เครื่องยนต์ของจีอี แทนเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์ ทั้งโบอิ้งและการบินไทย ยังไม่ได้ให้ความเห็นใดๆ ในเรื่องนี้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงแหล่งข่าววานนี้ (8 ก.พ.) ระบุ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้สั่งซื้อ เครื่องบินโบอิ้ง 787 จำนวน 45 ลำ พร้อมออปชั่นสามารถเพิ่มขนาดของข้อตกลงเป็นประมาณ 80 ลำ รองรับความต้องการด้านการเดินทางระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ข้อตกลงดังกล่าวซึ่งมีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ปรากฏอยู่ในบันทึกคำสั่งซื้อของโบอิ้งซึ่งระบุว่าเป็นสัญญาซื้อเครื่องบิน 45 ลำโดยไม่เปิดเผยชื่อลูกค้า

อย่างไรก็ตาม โบอิ้งปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าว โดยแนะนำให้ไปถามกับทางบมจ.การบินไทยโดยตรง แต่ทางบมจ.การบินไทย ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ เครื่องบินโบอิ้ง 787 ดังกล่าวจะใช้เครื่องยนต์ที่ผลิตที่โดย จีอี แอโรสเปซ บริษัทสัญชาติอเมริกันซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าตลาดเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานตระกูล 787 โดยมีเครื่องยนต์ของบริษัทโรลส์รอยซ์จากประเทศอังกฤษเป็นคู่แข่ง

สื่อนอกปูด \"การบินไทย\" สั่งซื้อโบอิ้ง 787 ใหม่เอี่ยม 45 ลำ! ยังไม่เผยวงเงิน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวนี้จะเป็นการเปิดศักราชใหม่สำหรับสายการบินเอเชียที่นิยมใช้เครื่องยนต์ของบริษัทโรลส์รอยซ์มาเนิ่นนาน และนับเป็นชัยชนะของจีอีฯ ด้วยเช่นกัน เพราะเครื่องโบอิ้ง 787 ที่การบินไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็ใช้เครื่องยนต์ของโรลส์รอยซ์

ในแวดวงการบินนั้น รู้กันดีว่าเครื่องบินโบอิ้ง 787 เป็นคู่แข่งกับเครื่องบินแอร์บัส A350 ซึ่งใช้เครื่องยนต์โรลส์รอยซ์เท่านั้น

แหล่งข่าวกล่าวว่า การคุยรายละเอียดเรื่องเครื่องยนต์มีผลต่อการตัดสินใจของการบินไทยที่จะซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 787 แทนที่จะเป็นแอร์บัส A350 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทางการบินไทยคุยกับโรลส์รอยซ์แล้วตกลงกันไม่ได้เรื่องราคาการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งโรลส์รอยซ์ จีอี และแอร์บัส ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกับรอยเตอร์

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์โบอิ้งพบว่า เครื่องบิน 787 ตระกูลดรีมไลเนอร์ (Dreamliner) เป็นเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ สมรรถนะสูง ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง จุผู้โดยสารได้ตั้งแต่ 248 – 336 คน ขึ้นอยู่กับรุ่น โดยเครื่องบิน 787 ดรีมไลเนอร์ มี 3 รุ่น ด้วยกัน ประกอบด้วย

  • 787-8 ดรีมไลเนอร์ ความจุผู้โดยสาร 248 คน พิสัยการบิน 7,305 ไมล์ทะเล (13,530 กม.)
  • 787-9 ดรีมไลเนอร์ ความจุผู้โดยสาร 296 คน พิสัยการบิน 7,565 ไมล์ทะเล (14,010 กม.)
  • และ 787-10 ดรีมไลเนอร์ ความจุผู้โดยสาร 336 คน พิสัยการบิน 6,330 ไมล์ทะเล (11,730 กม.)

รายละเอียดข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค ดังตาราง (ที่มา https://www.boeing.com/)

สื่อนอกปูด \"การบินไทย\" สั่งซื้อโบอิ้ง 787 ใหม่เอี่ยม 45 ลำ! ยังไม่เผยวงเงิน

 

(ขอบคุณภาพและข้อมูลจำเพาะจาก www.boeing.com)

ทั้งนี้ จุดเด่นของเครื่องบินโบอิ้งตระกูล 787 ดรีมไลเนอร์ นั้น ได้แก่ ต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำกว่าประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงที่ยอดเยี่ยม ค่าธรรมเนียมต่ำ และค่าบำรุงรักษาต่ำ

การที่โบอิ้ง 787 เป็นเครื่องบินโดยสารรุ่นแรกของโลกที่ใช้วัสดุผสม (composite materials) เป็นตัวถังหลักของโครงสร้างเครื่องบิน ส่งผลให้เครื่องบินมีน้ำหนักเบา และมีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องบินรุ่นอื่นที่มีขนาดเท่ากันอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังใช้น้ำมันน้อยกว่า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในแง่ที่เผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิงและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยลงถึงกว่า 20% เมื่อเทียบกับเครื่องบินขนาดเดียวกัน

ราคาของรุ่น 787-8 ดรีมไลเนอร์ผลิตใหม่ เริ่มที่ 239 ล้านดอลลาร์ (ข้อมูลปี 2566 โดยนิตยสารฟอร์บส์) ขณะที่เว็บไซต์ https://pilotpassion.com/  ให้ระดับราคาของ 787 ดรีมไลเนอร์ไว้ทั้ง 3 รุ่น ดังนี้

  • 787-8 : 248.3 - 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • 787-9 : 292.5 - 305 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • 787-10: 338.4 - 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากรายงานข่าวของรอยเตอร์ยังไม่มีรายละเอียดว่า คำสั่งซื้อจะเป็น 787 ดรีมไลเนอร์รุ่นใด ถ้าหากเริ่มจากราคาต่ำสุดของรุ่น 787-8 ดรีมไลเนอร์ที่ 239 ล้านดอลลาร์ มูลค่าการสั่งซื้อ 45 ลำ ก็อาจจะอยู่ที่ประมาณ 10,755 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3.85 แสนล้านบาท แต่ทั้งนี้ โดยปกติแแล้ว ยังอาจมีส่วนลด 40-60% จากราคาที่บริษัทตั้งไว้ ทำให้ราคาต่อลำอาจปรับลดลงมาอยู่ที่ 150 – 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ข้อมูลอ้างอิง