บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2566 (19 ก.พ. 2567) มียอดขาย 35,529 ล้านบาท เติบโต 4.8% จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และมีกำไรสุทธิจากผลการดำเนินงานปกติที่ 1,243 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1% จากไตรมาสก่อน ขณะที่มีอัตรากำไรขั้นต้นจากผลการดำเนินงานปกติ 17.8% และสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ถึง 2,842 ล้านบาท และมีระดับหนี้ต่ำ โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ที่ 0.78 เท่า สะท้อนถึงการเติบโตที่มั่นคงและรับมือกับปัจจัยเสี่ยงภายนอกได้อย่างแข็งแกร่ง
นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลครึ่งปีหลังให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ราคา 0.24 บาทต่อหุ้น ส่งผลให้ปี 2566 บริษัทฯ จ่ายเงินปันรวม 0.54 บาทต่อหุ้น
ส่วนภาพรวมผลประกอบการปี 2566 บริษัทฯมียอดขายอยู่ที่ 136,153 ล้านบาท ลดลง 12.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่มีอัตราการเติบโตสูงเป็นประวัติการณ์เนื่องจากการขนส่งทั่วโลกที่กลับสู่ภาวะปกติทำให้ลูกค้าไม่มีความจำเป็นต้องกักตุนสินค้า ขณะที่อัตรากำไรสุทธิจากผลการดำเนินงานปกติ อยู่ที่ 4,499 ล้านบาท ลดลง 37.0% บริษัทฯ ยังมีการบันทึกรายการด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดครั้งเดียว ในไตรมาส 4 ที่มูลค่า 18,433 ล้านบาท (527 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากแผนถอนการลงทุนส่วนน้อยในเรด ล็อบสเตอร์
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นกู้อย่างเป็นเอกฉันท์เรื่องการขออนุมัติผ่อนผันหลักเกณฑ์การคำนวณอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยและเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นของไทยยูเนี่ยนในปี 2566 ตามที่บริษัทฯ เสนอขอให้ไม่นับรวมรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่าตามหลักการทางบัญชี จากแผนดังกล่าว เพราะเมื่อพิจารณาตัวเลขการหักรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่าตามหลักการทางบัญชีแล้วไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสด และความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทฯ ประกอบกับทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตบริษัทฯ ในระดับ A+
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลประกอบการในไตรมาส 4 ในกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เยือกแข็ง มียอดขายอยู่ที่ 12,525 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 8.0% ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 14.4% เป็นผลจากกลยุทธ์การบริหารจัดการขนาดองค์กรที่ประเทศสหรัฐฯ และการบริหารจัดการระบบสินค้าคงคลังที่ดีขึ้น
ขณะที่กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง มีอัตราเติบโต 22.5% เนื่องจากการฟื้นตัวของคำสั่งซื้อจากกลุ่มลูกค้าหลัก และระดับสินค้าคงคลังที่กลับสู่ภาวะปกติ รวมถึงการนำกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นตลาดเฉพาะกลุ่มประเภทอาหารสัตว์เลี้ยงชนิดเปียกและขนมสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยในไตรมาส 4 ไทยยูเนี่ยนยังมีกระแสเงินสดอิสระเป็นบวก มูลค่าถึง 2,842 ล้านบาทมาจากความสามารถในการทำกำไร (EBITDA) ที่แข็งแกร่ง ประกอบการมีการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ
สำหรับในปีที่ผ่านมานับเป็นปีแห่งความท้าทายจากการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ที่กดดันตลาดที่ไทยยูเนี่ยนดำเนินธุรกิจอยู่ ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปถึงค่าครองชีพและกำลังซื้อของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมธุรกิจจะยังคงอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก แต่ไทยยูเนี่ยนก็สามารถรับมือและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้ในไตรมาสสุดท้ายของปียังสามารถทำกำไรได้ดีในทุกกลุ่มธุรกิจ
ทั้งนี้ยอดขายรายกลุ่มธุรกิจของไทยยูเนี่ยนฯ ประจำปี 2566 ประกอบด้วย กลุ่มอาหารกระป๋อง 47% ตามมาด้วยกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เยือกแข็ง 35% กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง 11% และกลุ่มสินค้ามูลค่าเพิ่มและธุรกิจอื่น ๆ 7% และเมื่อพิจารณาสัดส่วนยอดขายตามภูมิภาค แบ่งเป็น สหรัฐอเมริกาและแคนาดา 41% ยุโรป 30% ไทย 11% และอื่น ๆ 18%
ไทยยูเนี่ยนยังได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่เป็นปีที่ 10 ติดต่อกันในปี 2566 และยังครองอันดับ 1 ดัชนีอาหารทะเลยั่งยืน Seafood Stewardship Index (SSI) ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน ตอกย้ำความเป็นผู้นำในด้านความยั่งยืนและเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs)
นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยน ยังประกาศความสำเร็จในการจัดหาเงินทุนที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยเป็นสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan หรือ SLL) มูลค่า 11,485 ล้านบาท ถือเป็นการเริ่มระยะที่ 2 ของโครงการ Blue Finance หรือการบริหารจัดการการเงินเพื่อการทำงานด้านการอนุรักษ์ท้องทะเลของไทยยูเนี่ยน โดยมีเป้าหมายจัดหาเงินทุนที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้ได้ 75% ของการจัดหาเงินทุนระยะยาวภายในปี 2568
บริษัทฯ ยังมุ่งมั่นสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว จากเป้าหมายปัจจุบันที่ไทยยูเนี่ยนมุ่งสร้าง "การมีสุขภาพที่ดีและท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์ หรือ Healthy Living, Healthy Oceans" โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพผู้คน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ท้องทะเล ไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน โดยจะเดินหน้าประกาศกลยุทธ์ระดับองค์กรตัวใหม่ (Corporate Strategy 2030) ที่จะครอบคลุมถึงปี 2573 เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมทะเลระดับโลก พร้อมสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้แก่ผู้ถือหุ้น ด้วยการขยายการลงทุนที่หลากหลายในอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นมากกว่าอาหารทะเล และเป็นผู้วางรากฐานของโภชนาการแห่งอนาคต เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้คน สัตว์เลี้ยง ควบคู่กับการดูแลโลกใบนี้
"แม้ว่าปีนี้จะมีความท้าทายจากปัจจัยภายนอกอย่างต่อเนื่อง แต่เรามั่นใจว่าการวางกลยุทธ์องค์กรเพื่อมุ่งสู่ปี 2573 ที่ยังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจหลักของไทยยูเนี่ยน เช่น กลุ่มอาหารกระป๋อง, กลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เยือกแข็ง และกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตพร้อมสร้างผลกำไรและมูลค่าเพิ่ม เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกภาคส่วนได้มากยิ่งขึ้น" นายธีรพงศ์ กล่าว