“ไทยยูเนี่ยน”ทุ่ม 7,200 ล้าน ลุย SeaChange อาหารทะเลยั่งยืน

19 ก.ค. 2566 | 10:55 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2566 | 11:31 น.

“ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป”ประกาศกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 ทุ่มงบ 7.2 พันล้านบาท พลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารทะเล ดูแลคน ดูแลโลก เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ พร้อมลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

รายงานข่าว (19 ก.ค. 2566) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกาศกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 ซึ่งเป็นช่วงต่อจากกลยุทธ์เดียวกันที่ประกาศเมื่อปี 2559 เพื่อช่วยพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารทะเล ด้วยการดูแลคนและโลกเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้กลายมาเป็นวาระเร่งด่วนของมนุษยชาติ ทำให้ระบบนิเวศที่สำคัญตกอยู่ในความเสี่ยง  โดยข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า ประชากรโลกกว่า 600 ล้านคนพึ่งพามหาสมุทรเป็นแหล่งอาหารและใช้ในการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา

“ไทยยูเนี่ยน”ทุ่ม 7,200 ล้าน ลุย SeaChange อาหารทะเลยั่งยืน

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยนมองความยั่งยืนคือหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ซึ่ง SeaChange®  เปรียบเสมือนใบอนุญาตที่จะทำให้บริษัทดำเนินธุรกิจได้ในโลกปัจจุบัน โดยเชื่อว่าการดูแลทรัพยากรด้วยความรับผิดชอบเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อเป็นแหล่งอาหารและอาชีพให้กับประชากรโลกในรุ่นต่อไป ด้วยวิสัยทัศน์ของบริษัทในการที่จะก้าวไปเป็นบริษัทอาหารทะเลที่ผู้คนทั่วโลกเชื่อถือมากที่สุด ดังนั้น SeaChange®  2030 จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้บริษัทบรรลุวิสัยทัศน์นี้  สิ่งที่จะเกิดขึ้นและความเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยกันผลักดันนับจากนี้ จะเกิดประโยชน์ไม่เพียงแต่กับบริษัทเท่านั้น แต่คือความยั่งยืนเพื่อพวกเราทุกคน

ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ไทยยูเนี่ยนตระหนักถึงสถานการณ์และความเร่งด่วนที่จะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าว จึงตั้งงบประมาณ 7,200 ล้านบาท หรือกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเท่ากับกำไรสุทธิที่บริษัทได้รับในปี 2565 ทุ่มให้กับการทำกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® ไปถึงปี 2573 พร้อมตั้งเป้าหมายที่ท้าทายเพื่อมุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับห่วงโซ่มูลค่าธุรกิจอาหารทะเล

นายอดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันนี้ อุตสาหกรรมอาหารทะเลต้องลุกขึ้นมาเดินหน้าดูแลผู้คน ดูแลโลก และมหาสมุทร เราต้องลงมือทำตั้งแต่วันนี้ และด้วยกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® ของไทยยูเนี่ยนฯ มุ่งมั่นผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลของโลกดีขึ้น พันธกิจที่ท้าทายขนาดนี้ต้องอาศัยพลังและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล องค์กร รวมไปถึงภาคประชาชน ที่จะช่วยกันทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจริง วันนี้บริษัทกับพันธมิตรพร้อมแล้วที่จะขอให้ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมอาหารทะเลทั่วโลกหันมาร่วมกันทำให้โลกของเรายั่งยืน

อดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

สำหรับ SeaChange® 2030 เป็นการต่อยอดและก้าวกระโดดจากกลยุทธ์ความยั่งยืนของบริษัทที่ประกาศครั้งแรกในปี 2559 และครั้งนี้ไทยยูเนี่ยนประกาศพันธกิจเพื่อความยั่งยืนทั้งสิ้น 11 ข้อ ที่ครอบคลุมการดูแลทั้งผู้คนและโลก โดยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติถึง 10 ประการด้วยกัน โดยพันธกิจทั้ง 11 ข้อของไทยยูเนี่ยน ได้แก่

เส้นทางสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ : ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 42% เซ็นต์ในขอบเขตที่ 1, 2 และ 3 ภายในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593

การทำประมงอย่างรับผิดชอบ : 100% ของอาหารทะเลที่จับจากธรรมชาติจะผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ หรือมาจากโครงการปรับปรุงการประมง โดยมีแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านแรงงาน และขยายขอบเขตการทำงานมากกว่าวัตถุดิบปลาทูน่าไปยังสัตว์น้ำอื่น ๆ

การเพาะเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ : กุ้งเพาะเลี้ยงทั้งหมด 100% ของบริษัท จะต้องผลิตขึ้นโดยส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านสวัสดิการและสภาพการทำงานของอุตสาหกรรมอาหาร

การฟื้นฟูระบบนิเวศ : ไทยยูเนี่ยนจะสนับสนุนงบประมาณ 250 ล้านบาท (มากกว่า 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศสำคัญ

เกษตรกรรมที่มีความรับผิดชอบ : 100% ของวัตถุดิบถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์มจะได้รับการรับรองว่าปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า  ส่วนวัตถุดิบไก่จะได้รับการจัดหาอย่างมีความรับผิดชอบ

กระบวนการผลิตที่เป็นเลิศ : ไทยยูเนี่ยนจะปรับปรุงระบบภายในโรงงานเพื่อลดการปล่อยน้ำเสียเป็นศูนย์ ลดของเสียฝังกลบเป็นศูนย์ และลดการสูญเสียอาหารเป็นศูนย์ ในโรงงานหลักห้าแห่งทั้งในและต่างประเทศ

งานที่ปลอดภัย มีคุณค่า และเท่าเทียม : ไทยยูเนี่ยนยังคงเดินหน้าสร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย มีคุณค่า ยอมรับความแตกต่างและหลากหลาย มีความเท่าเทียม ให้กับพนักงานทุกคนและยังขยายผลให้ครอบคลุม 

  • 50% ของผู้บริหารองค์กรเป็นผู้หญิง
  • 100% ของเรือประมงที่จัดหาวัตถุดิบให้บริษัทจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และไม่มีแรงงานทาสสมัยใหม่
  • 100% ของฟาร์มสัตว์น้ำที่จัดหาวัตถุดิบให้บริษัทจะต้องดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านแรงงาน

การลดขยะพลาสติกในทะเล : ไทยยูเนี่ยนจะจัดการขยะพลาสติก 1,500 ตันไม่ให้ปนเปื้อนสู่แม่น้ำลำคลองและทะเล

โภชนาการและสุขภาพ : 100% ของผลิตภัณฑ์ที่เก็บได้ในอุณหภูมิห้อง (เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง) ภายใต้แบรนด์ของบริษัทจะต้องยึดตามแนวทางด้านโภชนาการ และ 100% ของผลิตภัณฑ์ที่เก็บได้ในอุณหภูมิห้องที่ออกใหม่ทั้งหมดภายใต้แบรนด์ของบริษัท จะต้องส่งเสริมโภชนาการเชิงบวกเพื่อสุขภาพที่ดี

บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน : ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์สินค้าของบริษัท 100% จะต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนภายในปี 2568 และไทยยูเนี่ยนจะสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ผลิตให้กับคู่ค้าอย่างน้อย 60% ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน

การเป็นพลเมืองดีของสังคม :  ไทยยูเนี่ยนจะสนับสนุนงบประมาณจำนวน 250 ล้านบาท (มากกว่า 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อช่วยเหลือและตอบแทนชุมชนในพื้นที่ที่บริษัทดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีงานบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเวลาวิกฤตอีกด้วย

“ไทยยูเนี่ยน”ทุ่ม 7,200 ล้าน ลุย SeaChange อาหารทะเลยั่งยืน

การบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ เหล่านี้ จะช่วยลดปริมาณคาร์บอน จำกัดปริมาณของเสียให้น้อยที่สุด รวมถึงป้องกันและฟื้นฟูระบบนิเวศ และเพื่อให้มั่นใจว่าจะทำให้เกิดงานที่ปลอดภัย มีคุณค่าและเท่าเทียม ให้เกิดขึ้นจริงตลอดห่วงโซ่มูลค่า ซึ่งจะทำให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้น

ไทยยูเนี่ยนได้ร่วมมือกับองค์กรด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมระดับโลกในการประกาศกลยุทธ์ความยั่งยืนในครั้งนี้ ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม พร้อมผนึกภาคีกับผู้ประกอบการหลายพันรายในภาคประมงและภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเรือประมงและฟาร์มสัตว์น้ำ องค์กรพันธมิตร ได้แก่ Sustainable Fisheries Partnership, Aquaculture Stewardship Council, The Nature Conservancy, IDH – the Sustainable Trade Initiative,และ The Global Ghost Gear Initiative

นอกจากนี้ บริษัทยังกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้สอดคล้องกับแนวทางขององค์กร Science Based Targets initiative (SBTi) และจะเริ่มใช้การเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้ได้  ไทยยูเนี่ยนเป็นบริษัทอาหารทะเลระดับโลกบริษัทแรกที่กำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยได้รับการรับรองจากองค์กร SBTi นับเป็นก้าวสำคัญเพื่อช่วยอุตสาหกรรมให้เกิดความยั่งยืน

ทั้งนี้ ไทยยูเนี่ยนได้ประกาศกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® ครั้งแรกเมื่อปี 2559 ซึ่งเป็นกรอบการทำงานด้านความยั่งยืนที่ทำให้บริษัทได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมถึงการได้รับการจัดอันดับในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ถึง 9 ปีติดต่อกันและเป็นอันดับ 1 ในประเภทผลิตภัณฑ์อาหารถึง 3 ปีด้วยกัน นอกจากนี้บริษัทยังได้รับการจัดอันดับจากดัชนี Seafood Stewardship Index เป็นอันดับที่ 1 สำหรับการทำงานตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยองค์การสหประชาชาติ