"สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย"ถกพาณิชย์เสนอ 6 ด้านแก้ปัญหาสินค้าจีนทะลัก

18 ก.พ. 2567 | 09:30 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.พ. 2567 | 09:30 น.
518

"สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย"ถกพาณิชย์เสนอ 6 ด้านแก้ปัญหาสินค้าจีนทะลัก ชี้ต้องทบทวนอย่างรอบด้านและประเมินผลกระทบกับผู้ประกอบการไทย และเศรษฐกิจไทยในแต่ละภาคส่วนร่วมด้วย ควบคู่มาตรการอื่น

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องการแก้ไขภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาทไม่ต้องเสียภาษี ว่า ต้องทบทวนอย่างรอบด้านและประเมินผลกระทบกับผู้ประกอบการไทย และเศรษฐกิจไทยในแต่ละภาคส่วนร่วมด้วย โดยต้องดำเนินการมาตรการอื่นร่วมด้วย 

ทั้งนี้ ในการประชุมกับกระทรวงพาณิชย์ สมาพันธ์ฯได้นำเสนอ 2 เรื่อง คือ เรื่องแรกอุปสรรคและแนวทางการแก้ไขปัญหาสินค้าจีนทะลักไทย 6 ด้าน ประกอบด้วย 

  • การเจรจาข้อตกลงทางการค้าไทย-จีน และการส่งเสริมการลงทุน (FTA & BOI) กล่าวคือ ควรทบทวนอัตราภาษีนำเข้ารายกลุ่มสินค้าที่ไทยเสียเปรียบ ซึ่งต้องไม่ให้จนเกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการไทย ขณะที่จีนเองก็ไม่ได้ให้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเราอย่างเท่าเทียมกันและทบทวนสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนจากจีนให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจไทย ทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีและคำนึงถึงผลกระทบกับผู้ประกอบการไทย เอสเอ็มอีที่อยู่ในห่วงโซ่การค้าการลงทุนนั้นๆอย่างรอบด้าน
     
  • การบังคับใช้กฎหมายการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจการค้ากับนักธุรกิจจีนหรือนอมินีให้ทำการค้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งการลักลอบนำเข้าสินค้าจากจีนที่ผิดกฎหมาย หลบเลี่ยงภาษี และขายนอกระบบหรือในระบบแต่ใช้ช่องว่างทางกฎหมาย และเจ้าหน้าที่รัฐบางรายเอื้อประโยชน์ 
  • การส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจและเกษตรกรไทยลดการนำเข้าจากจีน เน้นเศรษฐกิจพึ่งพาตนเอง ผลิตเพื่อใช้เองทดแทนนำเข้า ส่งออกส่วนเกินมลดการขาดดุลทางการค้า และเจรจาเชิงรุกกับจีนในการนำธุรกิจ สินค้า บริการ การท่องเที่ยวไทยกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ BCG และเป็นที่ต้องการของชาวจีนเข้าไปทำตลาดในมณฑล พื้นที่ต่างๆของจีน ผ่านทูตพาณิชย์ BOI และกระทรวงการต่างประเทศร่วมกันกับภาคเอกชนในแต่ละขนาดด้วย
  • ส่งเสริมสินค้าไทยสร้างนวัตกรรมและแบรนด์เจาะตลาดออนไลน์จีน เพื่อขยายการเติบโตการค้าออนไลน์กับจีน และใช้กฎหมายบังคับธุรกิจออนไลน์ที่ดำเนินธุรกิจในไทยต้องจดทะเบียนและเสียภาษีอย่างถูกต้อง
  • การบังคับใช้มาตรฐานสินค้าและการกำกับตรวจจับดำเนินคดีให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเท่าเทียมกัน และไม่ให้เกิดความได้เปรียบผู้ประกอบการไทย ทั้งที่สินค้าไทยส่งออกไปจีนมีการตรวจอย่างเข้มงวดทุกรายการ 
  • จัดตั้งองค์กร Public Private Partnership ขับเคลื่อนความร่วมมือรัฐเช่น องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย (อต.) , องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) และเอกชน รุกรวมซื้อรวมขายสินค้าเกษตร OTOP SME เป็นต้น เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองสินค้านำเข้า ส่งออกให้กับกลุ่มผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานรากไทย ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส เหมือนกับที่จีนใช้ COFCO หน่วยงานรัฐวิสาหกิจสร้างอำนาจการต่อซื้อข้าวจากต่างประเทศและสินค้าอื่นๆในราคาและจำนวนที่ต้องการ จากนั้นนำมาทำตลาดในประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอมาตรการลดค่าครองชีพแรงงาน ที่อยู่ในระบบประกันสังคม เพื่อให้ภาคเอกชนทุกขนาดกิจการและในท้องถิ่นต่างๆร่วมกันลดราคาสินค้า บริการ อาทิ สินค้าอุปโภค บริโภค ค่าเดินทางคมนาคม ซึ่งอาจให้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า บริการแบบ e-voucher ผ่านแอปของภาครัฐ 500-1,000 บาทต่อรายร่วมกับสำนักงานประกันสังคม และร้านค้าธงฟ้าทั่วประเทศ 

และอาจรวมถึงกลุ่ม Modern trade ที่สนใจเข้าร่วมเป็นสวัสดิการแรงงาน เพื่อลดผลกระทบค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยสนับสนุนแรงงานทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ที่มีกว่า 24 ล้านราย รวมทั้งจูงใจแรงงานนอกระบบเข้าระบบ 

โดยมีช่องทางสิทธิประโยชน์ในการบ่มเพาะพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถ ทักษะ สมรรถนะแรงงานที่มีคุณค่าความสร้างสรรค์ตอบสนองต่อทิศทางตลาดแรงงานร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้เกิด Workforce credit scoring แก้ไขปัญหาค่าแรงงานเกิดความเป็นธรรม และมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนในการกำหนดค่าแรงให้สอดคล้องเป็นระบบมาตรฐานภายหลังจากการนำเสนอทางกระทรวงพาณิชย์รับไปพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือต่อ