energy

ผ่าทางออกปัญหา"พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา" ปตท.แนะแบ่ง50-50%

    ผ่าทางออกปัญหา"พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา" ปตท.แนะแบ่ง50-50% นายกฯคาดขุมทรัพย์ใต้ทะเลมูลค่ากว่า 20 ล้านล้านบาท ด้านปลัดกระทรวงพลังงานเผยหากรัฐบาลชุดนี้เจรจาไม่สำเร็จคงไม่มีชุดไหนทำได้

ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา หรือโอซีเอ (overlapping claims areas : OCA) ยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ ทั้งเรื่องของมูลค่าสินทรัพย์ทางธรรมชาติ การแบ่งผลประโยชน์ว่าจะออกมาในรูปแบบใด โดยถือว่าเป็นประเด็นปัญหามาหลายรัฐบาล

อย่างไรก็ดีล่าสุดสถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) ได้ดำเนินการจัดงาน "Thailand Energy Executive Forum" โดยที่บนเวทีมีการระบุถึงพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว 

ขุมทรัพย์ 20 ล้านล้าน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล OCA เป็นเรื่องที่สำคัญ และได้มีการหารือกับสมเด็จฯฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาแล้ว 

โดยมีความคิดเห็นที่ตรงกันว่าต้องเร่งพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าว เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ แม้ว่าเป็นเรื่องที่อ่อนไหวในเรื่องของเขตแดนก็ถึงเวลาที่ทั้งสองประเทศจะพูดคุยกันโดยเร็วเพื่อประโยชน์ร่วมกัน

“เรื่องดังกล่าวนี้หลายคนสนใจและบอกว่าเป็นขุมทรัพย์ใต้ทะเล เป็นขุมทรัพย์ทางพลังงานซึ่งในวันนี้บางท่านบอกว่ามีมูลค่ากว่า 20 ล้านล้านบาท โดยเรื่องนี้เป็นเรื่อง handle with care ต้องจัดการอย่างระมัดระวัง มีเรื่องของราคาพลังงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องทำให้ทันกับการใช้พลังงาน แม้จะมีความต้องการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น แต่ความจำเป็นในการใช้ก๊าซธรรมชาติของทั้งสองประเทศก็ยังมีอยู่ เรื่องนี้จึงต้องมีการเดินหน้าเจรจาโดยเร็ว”

แนะแบ่งผลประโยชน์ 50-50%

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในมุมของ ปตท.มองว่าว่าอาจมีรูปแบบที่ให้มีการศึกษาเป็นตัวอย่างได้ เหมือนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-มาเลเซีย ซึ่งเรื่องการแบ่งดินแดนไม่น่าจะสรุปได้ เพราะเข้าใจเลยว่าการแบ่งพื้นที่ แม้แต่ตารางนิ้วเดียวก็ต้องมีปัญหา 

ผ่าทางออกปัญหา"พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา" ปตท.แนะแบ่ง50-50%

อย่างไรก็ดี หากมาหารือกันเรื่องของวัตถุดิบที่อยู่ใต้ดิน ก็จะเป็นเรื่องที่หารือกันได้ไม่ยาก ว่าจะมาแบ่งกันอย่างไร เพราะประเทศไทยมีท่อก๊าซธรรมชาติ และโครงสร้างพื้นฐานใกล้ๆ พื้นที่ทับซ้อนอยู่แล้ว การที่จะขุดเจาะและนำขึ้นมาใช้ก็ง่าย หากจะมีการส่งไปยังกัมพูชาก็สะดวกเช่นเดียวกัน

“รูปแบบที่จะนำวัตถุดิบขึ้นมาใช้ และพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และให้กัมพูชามาลงทุนกับไทยได้ เพื่อแบ่งส่วนแบ่ง 50% ที่จะเป็นของกัมพูชาไปก็ได้ โดยต้องยอมรับว่ารูปแบบทางด้านธุรกิจไม่ใช่เรื่องยาก แต่ทางด้านการเมืองก็ยังน่าเห็นใจ พูดตรงๆเลยว่าที่มีปัญหากัมพูชาไม่น่าจะมี มีแต่ที่ไทยนี่แหละ ที่มีการพูดเรื่องนี้ตลอด เดี๋ยวก็หาว่าขายชาติบ้าง น่าจะต้องลดตรงนี้หน่อยเพื่อให้เกิดข้อสรุปได้ และจะได้ไม่มีปัญหา”

รัฐบาลนี้ทำไม่ได้คงหมดหวัง

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชาถือเป็นความหวังในการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ หากรัฐบาลชุดนี้ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องหวังจากรัฐบาลชุดอื่น 

หากเจรจาสำเร็จก็จะช่วยให้ค่าไฟถูกลงได้ โดยการจะมุ่งไปที่พลังงานสะอาดหากจะให้มั่นคงจะต้องดูว่าอะไรที่พอทำได้ ซึ่งประเด็นเรื่องราคาก็เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อราคาลงมาจึงนำเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนให้การใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งแสงแดดและลมมีความมั่นคงเพิ่มขึ้นด้วย

ผ่าทางออกปัญหา"พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา" ปตท.แนะแบ่ง50-50%

"หากสำเร็จจะช่วยให้ค่าไฟถูกลง โดยจะเป็นตัวช่วยสนับสนุนให้ราคาค่าไฟในระยะยาวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อหน่วยได้"

ส่วนประเด็นที่เวียดนามและอินโดนีเซียราคาค่าไฟถูกกว่าประเทศไทย ต้องยอมรับว่าทั้ง 2 ประเทศใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า อีกทั้งเวียดนามมีพลังงานน้ำ แต่ต้องแลกกับปัญหาด้านความมั่นคง ซึ่งไทยเน้นความสมดุล 3 เรื่อง ไทยมีเขื่อนใหญ่กำลังการผลิตประมาณ 2,900 เมกะวัตต์ ถือว่าไม่มาก ซึ่ง กฟผ.จะต้องบริหารจัดการน้ำ ในเขื่อน เพราะต้องคำนึงถึงท้ายเขื่อนที่ต้องรับน้ำ ดังนั้น ไทยจะเน้นการบริหารจัดการน้ำก่อนการผลิตไฟฟ้า 

"ราคาพลังงานสำคัญต่อการเป็นอยู่ของประชาชน กระทรวงพยายามไม่ให้ค่าไฟและน้ำมันสูงเกินไปโดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วย และให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระไว้ก่อน โดยปัจจุบัน ปตท.รับไว้ที่หลักหมื่นล้านบาท ส่วนกฟผ.เกือบแสนล้านบาท ซึ่งก็ต้องคืน และตั้งเป้า 3-4 ปีนี้จะดึงเงินเข้ากองทุนฯ ให้ได้"

ขอค่าไฟใกล้เวียดนาม-อินโดฯ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ราคาค่าไฟของไทยงวดปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย.67) ระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย ถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งด้านการลงทุนไทยอย่างเวียดนาม ซึ่งราคาเพียง 2.67 บาทต่อหน่วย แม้จะเคยเกิดไฟดับ แต่สาเหตุมาจากรับการลงทุนต่างชาติจำนวนมาก แต่ล่าสุดเวียดนามได้วางโครงสร้างรับการเติบโตดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ อินโดนีเซียค่าไฟเพียง 2.52 บาทต่อหน่วย และลาว 1.02 บาทต่อหน่วย ราคาที่สูงของไทยจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนไทย โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ เพราะหลายอุตสาหกรรมสำคัญมีต้นทุนค่าไฟ ต้นทุนพลังงานเป็นต้นทุนหลัก

"ปลัดกระทรวงพลังงานบอกกับตนว่าให้ใจเย็น กระทรวงกำลังเร่งพิจารณา โดยเฉพาะการเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณเดือนเมษายนนี้ หากค่าไฟถูกลงในระดับเหมาะสม เอกชนจะประกาศหยุดงาน 1 วัน และขอเลี้ยงขอบคุณปลัดพลังงานด้วย โดยขอย้ำรัฐบาลว่าเอกชนยังต้องการให้รัฐบาลตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อเสนอแนวทางบริหารราคาพลังงานร่วมกัน"