"สอท."หวังรัฐปลดล็อกลงทุนด่วน-แก้กฎหมายล้าสมัยลดต้นทุน 2 แสนล้าน

14 ก.พ. 2567 | 10:13 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2567 | 10:13 น.

"สอท."หวังรัฐปลดล็อกลงทุนด่วน-แก้กฎหมายล้าสมัยลดต้นทุน 2 แสนล้าน ชี้เป็นเรื่องดีที่นายกฯรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคเอกชน เดินหน้าลดอุปสรรคการลงทุนที่เอกชนทั้งไทยและต่างชาติเผชิญในปัจจุบัน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือร่วมกับกรมสรรพากร ,คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ,สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เข้าหารือเกี่ยวกับการปลดล็อกกฎระเบียบเพื่อดึงดูดการลงทุนไทย ว่า เป็นเรื่องดีที่นายเศรษฐารับฟังเสียงสะท้อนจากภาคเอกชน เดินหน้าลดอุปสรรคการลงทุนที่เอกชนทั้งไทยและต่างชาติเผชิญในปัจจุบัน 

โดยที่ผ่านมาส.อ.ท.ได้เสนอ โพซิชั่น เปเปอร์ หรือ เอกสารแสดงจุดยืน ที่นำเสนอแนวทางพัฒนาประเทศ 3 ด้านหลัก คือ การเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ การผลักดันจีดีพีไทยให้โต 5%ต่อปีตามนโยบายรัฐบาล 

และการเดินหน้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยทั้งหมดนี้จะมี 8 ข้อย่อย ซึ่งหนึ่งในหัวข้อสำคัญคือ การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน 

"ถือว่านายเศรษฐา รับเรื่องเร็ว และเดินหน้าจริงจัง เรียกหน่วยงานต่างๆหารือ เอกชนคาดหวังให้การทำงานร่วมกันของรัฐและเอกชนครั้งนี้ทำให้การลงทุนของไทยเติบโต อุปสรรคการลงทุนหมดไป"

อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นการแก้กฎหมายล้าหลัง ต้องการให้รัฐบาลเร่งพิจารณา เพราะปัจจุบันไทยมีกฎหมายที่บังคับใช้ในภาคธุรกิจกว่า 100,000 ฉบับ ที่ผ่านมาคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ลงขันกันจ้างต่างชาติซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการปรับปรุงกฎหมายซึ่งเคยปรับปรุงกฎหมายเกาหลีจนเศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดในปัจจุบัน ทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เลือกกฎหมายสำคัญประมาณ 1,000 ฉบับ หรือประมาณ 1,000 กระบวนงาน จาก 16 กระทรวง 40 กรม มาปรับปรุงให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าสามารถลดต้นทุนการทำธุรกิจได้ถึง 200,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ประเทศไทยโดยรัฐบาลควรเร่งเดินหน้า และต้องการให้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนที่ศึกษาเรื่องนี้มานานพอสมควร

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า กรณีกระทรวงกำลังพิจารณาทบทวนข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) สำหรับสินค้านำเข้าที่ไม่เกิน 1,500 บาท ว่า เรื่องนี้เป็นข้อเสนอของกกร. ในการประชุมช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถือว่านายเศรษฐาในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่รับเรื่องเร็ว โดยคาดว่าอาจมีการหารือร่วมกันระหว่างรัฐบาลและกกร.ในเร็วๆนี้ เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจรัง

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ปัจจุบันสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่เข้ามาตีตลาดสินค้าไทย มาจาก 3 ส่วนคือ 

  • สินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มราคาไม่เกิน 1,500 บาท กลุ่มนี้นำเข้ามาเยอะมาก และปัจจุบันเจอปัญหาสำแดงราคาเท็จ จึงยิ่งกระทบต่อสินค้าไทย
  • สินค้าที่เข้ามาทุ่มตลาดในไทย สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ไม่สามารถขายในตลาดปกติได้ อาทิ สหรัฐอเมริกา จึงหันมาส่งขายในอาเซียนแทน นอกจากนี้ยังพบหลายสินค้ามีการปรับเปลี่ยนพิกัดเพื่อเลี่ยงภาษี อาทิ กลุ่มสินค้าเหล็ก ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งแก้ไข 
  • สินค้าที่ตั้งใจสำแดงเท็จ อาทิ กรณีหมูเถื่อน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า 

ส่วนประเด็นสำแดงเท็จนั้น ต้องการให้กรมศุลกากรเข้มงวดในการตรวจสอบ เพราะถือเป็นด่านแรกในการปกป้องผู้บริโภค และปกป้องสินค้าไทย ซึ่งจากการหารือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) พบว่า น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง แต่หากสินค้าไม่มีคุณภาพเข้ามาจำนวนมาก สมอ.ก็คงตรวจสอบไม่ไหว ดังนั้นต้องให้กรมศุลกากรสกัดให้ได้ก่อนเข้าประเทศไทยจะเหมาะสมที่สุด เพราะสถานการณ์ปัจจุบันไทยกำลังเผชิญกับภัยความมั่นคงทางเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งส.อ.ท.สะท้อนเรื่องนี้มานานแล้ว

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ต้องการให้กรมศุลกากรตรวจสอบสินค้านำเข้าก่อนปล่อยเข้าประเทศไทยอย่างละเอียด เพราะปัจจุบันจากเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการไทย พบว่ากรมศุลลากมักเข้มงวดกับสินค้าส่งออกมากกว่าสินค้านำเข้า จึงต้องการให้ปรับแนวทางการทำงานเพื่อปกป้องสินค้าไทย เศรษฐกิจไทย

ขณะที่การทำงานของสมอ.ในการกำหนดมาตรฐานบังคับเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคถือเป็นเรื่องดี แต่กระบวนการค่อนข้างใช้เวลาประมาณ 1 ปี ตอนนี้เครื่องมือที่เร็วสุดจึงอยู่ที่กรมศุลกากร